posttoday

คณะสงฆ์สุพรรณฟื้นเทศน์-สวดแจงในงานศพพระธรรมมหาวีรานุวัตร

24 ตุลาคม 2553

คณะสงฆ์จังหวัดสุพรรณบุรี นำโดยพระเทพสุวรรณโมลี เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี และคณะสงฆ์วัดป่าเลไลยก์ รื้อฟื้นประเพณีการสวดและเทศน์แจง ที่เหินห่างวิถีทำบุญชาวพุทธกลับคืนมาอีกครั้ง....

คณะสงฆ์จังหวัดสุพรรณบุรี นำโดยพระเทพสุวรรณโมลี เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี และคณะสงฆ์วัดป่าเลไลยก์ รื้อฟื้นประเพณีการสวดและเทศน์แจง ที่เหินห่างวิถีทำบุญชาวพุทธกลับคืนมาอีกครั้ง....

โดย...สมาน สุดโต

วันที่ 30-31 ต.ค. 2553 วัดป่าเลไลยก์ ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี จะต้องคลาคล่ำไปด้วยพระภิกษุระดับพระเถรานุเถระ และประชาชนทุกสารทิศ เพราะเป็นวันออกเมรุพระราชทานเพลิงศพ พระธรรมมหาวีรานุวัตร (ฉลอง จินฺตาอินฺโท) อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี และอดีตเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์ วัดที่มีหลวงพ่อโต เป็นพระศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองประดิษฐาน

ในการออกเมรุครั้งนี้ คณะสงฆ์จังหวัดสุพรรณบุรี นำโดยพระเทพสุวรรณโมลี เจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี และคณะสงฆ์วัดป่าเลไลยก์ รื้อฟื้นประเพณีการสวดและเทศน์แจง ที่เหินห่างวิถีทำบุญชาวพุทธกลับคืนมาอีกครั้ง

โดยนิมนต์พระเถระที่มีชื่อเสียงด้านธรรมกถึก 3 รูป ไปแสดงปฐมสังคีติกถา หรือเทศน์แจง พร้อมกับนิมนต์พระสงฆ์ 84 รูป มาสวดแจง ในวันที่ 30 ต.ค. เริ่มตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป

 

คณะสงฆ์สุพรรณฟื้นเทศน์-สวดแจงในงานศพพระธรรมมหาวีรานุวัตร พระศรีธวัชเมธี

พระศรีธวัชเมธี เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี เล่าให้ฟังว่า การเทศน์และสวดแจงในงานศพหายไปนาน อาจเป็นด้วยเหตุที่ว่างานเช่นนี้ต้องมีกำลังทรัพย์ กำลังคน และเวลาจึงจัดได้ก็อาจเป็นได้

การเทศน์แจงเป็นการแสดงธรรม 3 ธรรมาสน์ คล้ายกับการทำปฐมสังคายนาจึงมีชื่อว่าปฐมสังคีติกถา ผู้เทศน์จะพูดถึงความเป็นมาพระวินัยพระสูตร และพระอภิธรรม ที่จัดเป็นหมวดหมู่เรียกว่าพระไตรปิฎกเมื่อทำสังคายนาครั้งแรก

ความเป็นมาพระไตรปิฎกในเมืองไทยนั้น นิทานกถา ที่เป็นความนำในหนังสือต่างๆ ของ มูลนิธิภูมิพโล ลำดับไว้น่าสนใจยิ่ง โดยเล่าว่า เมื่อพระพุทธองค์จะดับขันธปรินิพพาน พระองค์ไม่ได้ตั้งให้ใครเป็นทายาทหรือตัวแทน แต่ตรัสว่าพระธรรมวินัยที่พระองค์แสดงแล้วจะเป็นตัวแทนของพระองค์

พระธรรมวินัย ประกอบด้วย พระปริยัติสัทธรรม ปฏิบัติสัทธรรม และปฏิเวธสัทธรรม

ถ้าพระปริยัติสัทธรรมดำรงอยู่ พระปฏิบัติสัทธรรม และปฏิเวธสัทธรรม ยังคงอยู่ตราบนั้น ดังนั้น ปริยัติสัทธรรมจึงเป็นมูลรากศาสนา

เมื่อพุทธนิพพาน มหากัสสปเถระ ยกคำสอนอันเป็นพุทธวจนะขึ้นสู่การสังคายนาครั้งแรกด้วยภาษาบาลี แล้วจัดหมวดหมู่เรียกว่าไตรปิฎก ได้แก่ วินัยปิฎก สุตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก

ผู้ต้องการตั้งมั่นในสัทธรรม ต้องศึกษาไตรปิฎก หรือบาลีให้รู้ซึ้งทั้งพยัญชนะและอรรถะ จึงจะปฏิบัติถูกต้องตามพุทธวจนะ
การศึกษาปริยัติสัทธรรมแต่พุทธกาลเรียกว่า คันถธุระ คู่กับ วิปัสสนาธุระ ซึ่งเป็นส่วนแห่งปฏิบัติสัทธรรม

ในการศึกษาปริยัติสัทธรรมนั้นมีครูอาจารย์สอน มีบันทึกคำสอน จัดเป็นมติวินิจฉัย เรียกว่า อรรถกถาจารย์ ซึ่งหมายถึงพระอรหันต์ผู้เป็นสังคีตกาจารย์ เช่น พระมหากัสสปะ พระอุบาลี และพระอานนท์ เป็นต้น

เรื่องที่มีการสอนและบันทึกไว้เรียกว่าอรรถกถาที่ใช้ภาษาบาลีบันทึก

เมื่อพระพุทธศาสนาเคลื่อนจากชมพูทวีปมาสู่ลังกาทวีป หรือประเทศศรีลังกา ที่นั่นได้สั่งสอน..และบันทึกอรรถกถาด้วยภาษาสิงหลสำนักที่มีชื่อเกี่ยวกับคัมภีร์อรรถกถา ได้แก่ สำนักมหาวิหาร ในลังกาทวีป

อรรถกถา ที่อธิบายพุทธวจนะที่ใช้ภาษาสิงหล ไม่แพร่หลาย จนกระทั่ง พ.ศ. 900 เศษ พระเถระ มีพระพุทธโฆษะ พระพุทธทัตตะ และพระธัมปาละ เป็นต้น ได้แปลอรรถกถาที่เป็นภาษาสิงหล ออกเป็นภาษาบาลี อันเป็นตันติภาษา (นับแต่นั้นมา) จึงเป็นเหตุให้พุทธศาสนาขยายไปทั่วโลก

จาก อรรกถา ก็มีฎีกา อันเดิมเรียกมูลฎีกาที่ต่อเติมเพิ่มอีก เรียกว่า อนุฎีกา

ส่วนคัมภีร์ที่แก้ไขข้อความที่เป็นเงื่อนแง่ ข้อขอดที่ชวนสงสัยให้หายสงสัยเรียกว่า คัณฐีบท

นอกจากนั้นมีคู่มือหนังสือประกอบการแปลบอกสัมพันธ์ความ บอกความหมายของศัพท์ แสดงไวยากรณ์แยกแยะในเชิงศัพท์อันนี้เรียกว่า อัตถโยธนา

เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย ได้มาพร้อมกับคัมภีร์ต่างๆ ที่กล่าว คือพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา ปกรณ์พิเศษ และสัททาวิเสสทั้งหมด จารในอักษรขอมโบราณ

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงมีพระราชปรารภ อาราธนา พระเถรานุเถระ ให้รับภาระธุระปริวรรตอักษรขอมที่บันทึกพระไตรปิฎกภาษาบาลี ออกเป็นอักษรไทย และตีพิมพ์เป็นไตรปิฎกอักษรไทยเผยแพร่ไปในวัดต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นการเฉลิมพระเกียรติยศ พระราชกฤฎาภินิหารที่ทรงเป็นธรรมิกราชาธิราชในโลก

คณะสงฆ์สุพรรณฟื้นเทศน์-สวดแจงในงานศพพระธรรมมหาวีรานุวัตร พระธรรมมหาวีรานุวัตร

อย่างไรก็ตาม การเทศน์แจง พระเถระที่เทศน์จะแจงตามพระไตรปิฎก ได้แก่ วินัยปิฎก มี 5 คัมภีร์คือ 1.อาทิกรรมิกะ 2.ปาจิตติยะ 3.มหาวรรค 4.จุลวรรค 5.ปริวาร ซึ่งมี 21,000 พระธรรมขันธ์

พระสุตันตปิฎกมี 5 คัมภีร์ คือ 1.ทีฆนิกาย 2.มัชฌิมนิกาย 3.สังยุตนิกาย 4.อังคุตรนิกาย และ 5.ขุททกนิกาย รวม 21,000 พระธรรมขันธ์

พระอภิธรรมปิฎก มี 7 คัมภีร์คือ 1.ธรรมสังคิณี 2.วิภังค์ 3.ธาตุกถา 4.บุคคลบัญญัติ 5.กถาวัตถุ 6.ยมก และ 7.ปัฏฐาน รวม 42,000 พระธรรมขันธ์

พระอมรสุธี อายุ 81 ปี เลขาธิการสภาพระธรรมกถึก ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ได้รับนิมนต์ไปเทศน์แจงด้วย กล่าวว่า ในการเทศน์แจง 3 ธรรมาสน์นั้น พระเถระอาวุโสจะสมมติให้เป็นพระมหากัสสปะ มีหน้าที่ซักถามพระเถระอาวุโสรองลงมาจะถูกสมมติให้เป็นพระอุบาลีเถระตอบเรื่องพระวินัย และที่อาวุโสน้อยที่จะถูกสมมติให้เป็นพระอานนท์ตอบเรื่องพระสูตรและอภิธรรม

เมื่อถามตอบจบกระบวนความแล้วพระสงฆ์ที่นิมนต์มาสวดแจง ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่า 25 รูป จะสวดพระวินัย พระสูตร และมาติกา ตามลำดับ

พระอมรสุธี กล่าวว่า การเทศน์แจงถ้าจะเน้นตามธรรมเนียมโบราณแล้ว เจ้าภาพต้องถวายอาหารเพลก่อนขึ้นเทศน์ ต้องจัดให้มีถวายน้ำสรง และถวายผ้าไตรองค์ผู้เทศน์ ซึ่งผู้เทศน์ต้องครองจีวรใหม่ฉลองศรัทธาเจ้าภาพ

ส่วนเครื่องกัณฑ์เทศน์ถ้าจะตั้งอย่างสมบูรณ์ต้องมีบาตร เสื่อ หมอน มุ้งและเครื่องใช้ต่างๆ ของพระสงฆ์

แม้ว่าการเทศน์แจง 3 ธรรมาสน์นั้น เป็นการเล่าประวัติพุทธศาสนาหลังเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว แต่มีความหมายอีกนัยหนึ่งคือไม่ให้แตกแยก ท่านเล่าว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์เข้าสู่นิพพาน มีญัตติขึ้นว่าถ้าพระเถระไม่รวบรวมพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดเป็นหมู่ ก็จะเป็นเหตุให้เกิดการแตกแยกกันขึ้น เหมือนกับการตายของนิครนถ์|นาฏบุตร ที่สาวกเกิดแตกแยกกัน พระมหากัสสปะเถระ ไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้นจึงจัดให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้นที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา กรุงราชคฤห์ อินเดีย เพื่อความสามัคคีของสงฆ์สาวก

พระอมรสุธี ซึ่งเป็นพระราชาคณะตั้งแต่ พ.ศ. 2516 เคยเทศน์ปุจฉาวิสัชนากับหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม นครปฐม ที่มีผู้เคารพนับถือดังเทพเจ้า ครั้งนั้นท่านถามหลวงพ่อเงินว่าชาวบ้านนับถือหลวงพ่อเหมือนกับพระเจ้าจริงหรือครับ ก่อนจะตอบหลวงพ่อเงิน บอกอือๆ แล้วตอบว่าจริง โดยกล่าวต่อไปว่า ตัวท่านนั้น มิได้เทศน์บนธรรมาสน์อย่างเดียว แต่คอยดูประชาชน บ้านไหนจะบวชลูก อะไรขาดเหลือก็ช่วย บ้านไหนมีคนตาย จะพาพระไป|ต่อโลงศพให้ เพราะแต่ก่อนไม่มีโลงศพขาย

บ้านไหนมีสมบัติเยอะๆ เมื่อพ่อแม่ตาย ลูกๆ จะแย่งสมบัติกัน ท่านก็ไปบอกว่าลูกเอย หลานเอย มีมากมีน้อยก็แบ่งกันไปเถอะ อย่าต้องเป็นถ้อยร้อยความกันเลย

คนเป็นความไม่แพ้ก็ต้องคลาน ชนะก็ถือไม้เท้า สมบัติพัสถานทนายเอาไปหมดปฏิบัติต่อประชาชนมาอย่างนี้ (หลวงพ่อเงิน) อายุจะร้อยปี (ในตอนนั้น) จึงเป็นที่เคารพของประชาชน ดอนยายหอมสงบสุข ทุกอย่างเรียบร้อย คนดอนยายหอมเชื่อ ขนาดท่าน|ชี้ไม้เป็นนกชี้นกเป็นไม้เขาก็เชื่อ แบบนี้แหละที่เป็นพระเจ้าของชาวบ้าน

การเทศน์แจง 3 ธรรมาสน์เพื่อแจกแจงให้เกิดความสามัคคีซึ่งกันและกัน

ในการเทศน์แจงที่วัดป่าเลไลยก์ วันที่ 30 ต.ค. 2553 เวลา 13.30 น. เจ้าภาพนิมนต์ พระนนทสารเวที วัดพิกุลเงิน นนทบุรี พระสุธรรมภาณี วัดโคนอน และพระอมรสุธี วัดพระเชตุพนฯ เป็นองค์แสดง พระที่อาวุโสสูงสุดคือ หลวงพ่อพระนนทสารเวที จะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พระมหากัสสปะเถระ พระสุธรรมภาณี วัดโคนนอนอาวุโสน้อย จะรับหน้าที่เป็นพระอานนท์ ส่วนหลวงพ่อพระอมรสุธี อาวุโสปานกลาง จะได้รับมอบหมายให้เป็นพระอุบาลี

บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนที่ต้องการร่วมบำเพ็ญกุศลในการออกมรุพระธรรมมหาวีรานุวัตร และฟังเทศน์และฟังสวดแจง ที่เป็นประเพณีสร้างบุญอุทิศให้ผู้วายชนม์ ที่นานๆ จะมีให้เห็นเชิญที่วัดป่าเลไลยก์ เมืองสุพรรณบุรี วันที่ 30 ต.ค. 2553 ครับ