posttoday

สุขเกษม วัยเกษียณ

23 กันยายน 2561

เกษียณอายุ คือพ้นจากสภาพการทำงาน เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนจากการตรากตรำทำมาหาเลี้ยงชีพตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา

เรื่อง พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา

คำว่า “เกษียณ” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน มีความหมายว่า “สิ้นไป” ซึ่งใช้เกี่ยวกับการกำหนดอายุ เช่น เกษียณอายุราชการ ก็จะหมายถึงการสิ้นกำหนดเวลารับราชการ หรือการทำงาน โดยส่วนใหญ่แล้วประเทศต่างๆ ในแถบเอเชีย รวมถึงประเทศไทย มักถือกำหนดให้บุคคลที่มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ต้องเกษียณอายุพ้นจากสภาพการทำงาน เพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนจากการตรากตรำทำมาหาเลี้ยงชีพตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมา นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต

การเกษียณอายุการทำงาน มีความหมายหลายประการ คือ 1.ได้ทำงานมามาก จะได้ผ่อนพักตระหนักรู้ 2.สร้างสรรค์งานมาหลายประการ จะได้มีเวลาชื่นชมผลงาน 3.ได้ใช้ชีวิตที่เป็นประโยชน์ เป็นชีวิตที่มีคุณค่า 4.ได้เสียสละความรู้ความสามารถให้อนุชนได้สานต่อ 5.ได้เป็นแบบอย่างแก่เพื่อนร่วมอาชีพ

การเกษียณอายุในการทำงาน นับได้ว่าย่อมมีอิสระ คือ พ้นจากภาระความรับผิดชอบ มีอิสระในการตัดสินในการทำอะไรที่ใจอยากจะทำ เมื่อครั้งมีตำแหน่งหน้าที่จะคิดทำอะไรก็ไม่สามารถทำได้ตามที่คิด ด้วยภาระตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ แต่ต่อจากนี้ไปจะได้เลือกทำตามที่ชอบใจ คือตามที่มีฉันทะ ยังให้ชีวิตมีพลังเข้มแข็ง บางท่านเมื่อถึงวัยเกษียณอายุราชการ หากวางใจไม่ถูกที่ จิตใจรู้สึกเหงา ว้าเหว่ ใจคอก็ไม่สบาย แต่หากวางใจไว้ถูกที่ จะสามารถใช้โอกาสนี้เจริญอายุมากขึ้น หมายความว่า จะมีพลังสืบต่อที่จะทำให้อายุยืนยาว ด้วยการเจริญอิทธิบาท 4

ใจเรารักปรารถนาจะทำอะไร สิ่งนี้จะทำให้อายุยืนยาว ภาษาพระท่านว่า “ มีฉันทะดี ” จะเกิดพลังใจขึ้นมา คนเราเมื่อใจห่อเหี่ยวใจแห้ง ไม่อยากทำอะไร แต่หากมีฉันทะ แม้พลังกายไม่มาก แต่พลังใจจะเต็มเปี่ยม ความอยากที่เป็นฉันทะ จะทำให้เรามีพลังใจที่เป็นฉันทะ ดังพระพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า “หิยฺโยติ หิยฺยติ โปโส ปเรติ ปริหายติ อนาคตํ เนตมตฺถีติ ญตฺวา อุปฺปนฺนจฺฉนฺกํ โก ปนุเทยฺย ธีโร. แปลความว่า มัวรำพึงหลัง ก็มีแต่ความหดหาย มัวหวังหน้า ก็มีแต่จะละลาย อันใดยังมาไม่ถึง อันนั้นก็ยังไม่มี รู้อย่างนี้แล้ว เมื่อมีฉันทะเกิดขึ้น คนฉลาดที่ไหนจะปล่อยให้หายไปเปล่า

การปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่เริ่ม จนถึงตำแหน่งสูงสุด ด้วยความขยันขันแข็งมีสติปัญญาฉลาดสามารถ ทำงานด้วยความถูกต้องชอบธรรม บริหารงาน บริหารชีวิต ด้วยดีตลอดมา เป็นกำลังหลักสำคัญช่วยเหลือเกื้อกูล ด้วยกำลังกาย กำลังใจ และกำลังสติปัญญา จนทำให้งานนั้นๆ ประสบความสำเร็จลุล่วงด้วยดี นับว่าเป็นอนุสาวรีย์ชีวิตที่ไม่ต้องรอใครมาสร้างให้ เพราะท่านได้สร้างมาตลอดชีวิตการทำงาน

หนึ่งคำถามที่ถามขึ้นท่ามกลางสังคมไทยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุอย่างเต็มตัวในอีกไม่กี่ปี อย่าง “จะสูงวัยอย่างมีค่า ชราอย่างมีคุณ ให้มีประโยชน์ได้อย่างไร ?” เพราะเมื่อเลี่ยงตัวเลขของอายุที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนความเสื่อมของร่างกายไม่ได้ ดังนั้นการใช้ชีวิตอยู่อย่างไม่เป็นทุกข์ถือเป็นมุมมองที่น่าสนใจ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราเข้าสู่วัยชราอย่างภาคภูมิใจ แน่นอนว่าชีวิตก็จะยืนยาว

คำตอบหนึ่งที่น่าจะเป็นกุญแจการเกษียณได้ คือ สูตรสุขเกษมวัยเกษียณ คือ อัตถะ 3 ประการ

เมื่อพูดแล้วว่า สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอน คือ ความจริงที่เป็นประโยชน์ ใช้แก้ทุกข์ได้ นำไปสู่จุดหมาย ก็ควรจะพูดถึงประโยชน์และจุดหมายด้วย ลักษณะทั่วไปของพระพุทธศาสนาประการหนึ่ง ก็คือเป็นเรื่องของการดำเนินชีวิต หรือหลักการและวิธีปฏิบัติเพื่อเข้าสู่จุดหมาย

ทีนี้ จุดหมายในทางพระพุทธศาสนาเราก็เรียนกันมาว่ามี 3 ประการ เรียกว่า อัตถะ นี้ ถ้าจะแบ่งตามระดับก็คงจะได้เป็น 3 อย่าง คือ 1.ทิฏฐธัมมิกัตถะ เรียกกันว่า ประโยชน์ปัจจุบัน 2.สัมปรายิกัตถะ แปลกันว่า ประโยชน์เบื้องหน้า 3.ปรมัตถ์ หรือปรมัตถะ คือ ประโยชน์อย่างสูงสุด

ทิฏฐธัมมิกัตถะ ก็คือ ประโยชน์ปัจจุบัน หรือประโยชน์อย่างที่เห็นๆ ได้ในปัจจุบัน ก็คือมีความสุขทั่วๆ ไป เช่น กินอิ่ม นอนหลับ มีที่อยู่อาศัยสบาย มีฐานะ มีลาภ มีชีวิตคู่ครอง ความมีมิตรไมตรี

สัมปรายิกัตถะ ก็คือ ประโยชน์ที่เลยออกไปหรือต่อออกไป สัมปรายะ แปลว่า เลยออกไป ก็หมายถึง เบื้องหน้า เลยออกไปไกลๆ ก็คือ ภพหน้า ชาติหน้า จะไปเกิดที่ดีๆ ไม่ไปเกิดที่ชั่วๆ ปฏิบัติธรรมสั่งสมบุญกุศล

ส่วนปรมัตถะ ก็คือ ประโยชน์สูงสุด ถ้าพูดกันง่ายๆ ก็คือ เรื่องนิพพาน หรือความมีใจเป็นอิสระ ความมีจิตหลุดพ้น มีจิตใจปลอดโปร่งผ่องใสเบิกบานอยู่ได้ตลอดเวลา เพราะปราศจากกิเลส ดังที่พระท่านเทศน์ว่า “น เว อนตฺถกุสเลน อตฺถจริยา สุขาวหา. หมายความว่า คนฉลาดไม่ถูกเรื่อง ถึงจะพยายามทำประโยชน์ ก็ไม่สัมฤทธิผลให้เกิดสุข”

สาธุ ให้บริหารใจครบทั้ง 3 ประโยชน์นะโยม