posttoday

จิตตวิถี (ตอน ๔)

22 ตุลาคม 2553

ปุจฉา :

ปุจฉา :

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา :

ขอกราบเรียนถามพระอาจารย์ค่ะ เราจะมีวิธีการดำรงรักษาความนึกคิดของเราให้อยู่ในร่องของความเป็นกุศลอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร คือ รู้สึกว่า จิตคนเรานั้นมักไม่ค่อยคิดเป็นกุศล ชอบคิดเป็นอกุศล แต่พอบางทีรู้ทัน ก็พยายามปรับให้พยายามมองโลกในแง่ดีเข้าไว้ เพื่อรักษาความเป็นกุศลจิต ทำเช่นนี้ใช้ได้หรือไม่คะ

วิภา ณ ซิดนี่ย์ 
  
วิสัชนา:

เราไม่ได้ส่งจิตไปร่วมด้วยเหมือนเราอยู่ในห้องไม่ได้ออกไปเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก เราก็มีความสงบอยู่ในห้องของเรา เรื่องทั้งหมดเขาก็เกิดขึ้นไป ไม่ได้หยุด ไม่ได้ยั้ง ความร้อน ความหนาว ความเย็น มันก็เป็นของมันเช่นนั้น แต่เราไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อเราไม่เข้าไปเกี่ยวข้องไปรับรู้ ก็เรียกว่า เรามีอินทรีย์สังวร คือมีความสำรวมระวังในการรับรู้ทางอายตนะ เมื่อเราสำรวมระวังขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านั้นก็ไม่มีผลที่จะทำให้จิตของเรานั้นเคลื่อนไหว เพราะเราไม่รับหรือเราไม่ส่งจิตของเราไปรู้ ไม่ว่าเราจะไม่รับ หรือเราจะไม่รู้ แต่เรามีอำนาจที่มีการควบคุมอย่างมีความรู้ชอบ จึงไม่เหมือนการไม่รับไม่รู้อย่างนอนหลับ เรานอนหลับอยู่ไม่รับไม่รู้ทั้งหลาย มันดูเหมือนว่าไม่ได้ปรุงแต่ง แต่มันขาดปัญญา ขาดความรู้อันควรอันชอบ เมื่อมันลุกขึ้นมา มันฟื้นขึ้นมา มันก็ยังซัดส่าย เคลื่อนไหวไปมาอย่างยากควบคุม และอาจจะหนักมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ จึงไม่ได้บอกว่าการนอนหลับพักผ่อนนั้น ทำให้เรายับยั้งภาวะจิตไม่เกี่ยวข้องกับโลกทั้งหลาย หรือบางครั้งเราอาจจะมีความฝัน มีความคิดความนึกจากการนอนหลับ อาจลามกถึงขั้นน้ำอสุจิเคลื่อนก็ย่อมเป็นไปได้ทั้งนั้น หรือโกรธเกลียดเผาไหม้เป็นโทสะพยาบาท ใครที่หลับก็ฝันร้ายฝันไม่ดีก็มีมากมาย จึงไม่ได้บอกว่าการหลับนั้นทำให้จิตไม่ซัดส่าย ไม่ฟุ้งซ่านปรุงแต่ง ซึ่งไม่เหมือนกับเอกภาพของจิตที่ฝึกฝนดีแล้ว

ถ้าควบคุมดีแล้วมันแยกส่วนให้จิตรู้ในสิ่งที่ควรรู้ และออกมาจากสิ่งเร้าทั้งหลาย ซึ่งต้องสำเร็จด้วยการฝึกฝน ต้องปฏิบัติ รู้จักการรู้ แล้วละวางตลอดเวลา คอยทำความเห็นอันชอบอยู่ตลอด กับทุกขณะ ทุกเรื่อง ที่สืบเนื่องเข้ามาในวิถีแห่งจิตของเรา เรื่องจิตเป็นเรื่องที่ต้องมีความต่อเนื่องในการมีสติระลึกรู้ชอบ ต้องต่อเนื่องเป็นเส้นเดียวกันไม่ขาดตอน

ขาดสติเมื่อไร จิตก็จะแส่ส่ายไปทางอกุศล

มีสติเมื่อไร ปัญญารู้เกิดขึ้น จิตก็เป็นกุศลทำคุณความดีได้

สติจึงเป็นเครื่องมือที่ควบคุมจิต พัฒนาจิต และสร้างสรรค์จิตนั้นให้มีปัญญา รู้ในความจริงที่เป็นประโยชน์ ไม่เป็นโทษ และนำไปสู่วิถีบนเอกายนมรรค (ทางอันเอก) นำไปซึ่งความสิ้นทุกข์ ซึ่งต้องประกอบด้วยความเพียรอันชอบ ด้วยอำนาจแห่งความสัมพันธภาพระหว่างกายกับจิตที่สืบเนื่องเกี่ยวข้องกัน โดยกายนั้นเป็นเครื่องมือสื่อสารของจิต รองรับในการที่จิตนั้นต้องการสั่งการหรือให้เป็นไป กายนั้นจึงมีการตอบสนอง เป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่สัมพันธ์กับการกระทำของจิต

กายนั้นจริงๆ แล้วไม่ได้มีความรู้สึกรู้สาอะไรเลย ไม่ได้เป็นสิ่งที่บอกว่าเป็นตัวตน หรือมีชีวิตชีวาอะไรเลย สิ่งที่มีชีวิตชีวามีตัวมีตนที่แท้จริงก็คือ จิต เราจึงเรียกจิตที่มีความยึดมั่นยึดถือว่าเป็นอัตตา
อัตตาดังกล่าวนั้นไม่ใช่รูปร่างอย่างที่เราบอกว่าเป็นแท่ง เป็นก้อน

แต่เป็นความรู้สึกนึกคิดของการยึดมั่นยึดถือ ที่เรียกอยู่ในรูปของ อหังการ์มมังการ์ หรือ ตัวเราของเรา ที่ท่านหลวงพ่อพุทธทาสเรียกว่าตัวกูของกู

อัตตาดังกล่าวนั้นเป็นอำนาจจิตที่ยึดมั่นยึดถือ เกิดทิฏฐิ เกิดอำนาจแห่งตัณหา เกิดมานะ ด้วยอำนาจแห่งอวิชชา .............ตัณหา มานะ ทิฏฐิ จึงเกิดขึ้น

อวิชชา ตัณหา มานะ ทิฏฐิ จึงเป็นสิ่งที่โยคาวจรผู้ประพฤติธรรมประสงค์ที่ต้องข้าม หรือออกไปให้พ้น การข้ามออกไปให้พ้นอำนาจของอกุศลธรรมดังกล่าวนั้นเรียกว่า ข้ามห้วงโอฆะ ผู้ใดข้ามห้วงโอฆะ ข้ามอำนาจธรรมดังกล่าวได้ ก็ย่อมถึงซึ่งความสิ้นทุกข์ได้ ซึ่งต้องฝึกฝนกายจิตให้เข้มแข็งบนหลักของศีล สมาธิ ปัญญา