posttoday

การเรียนการสอนพุทธศาสนา ถึงเวลาต้องปฏิรูป

02 กันยายน 2561

ตามที่กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่จะดำเนินการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีความเหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน

โดย วรธาร ทัดแก้ว [email protected]

ตามที่กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่จะดำเนินการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานให้มีความเหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน โดยมีเจตนารมณ์ต้องการปลูกฝังให้นักเรียนเป็นคนดี มีความรู้คู่คุณธรรม อันเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ในสังคมอย่างมีความสุข

กระทรวงศึกษาธิการจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ โดยมี ศ.กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมการ มีกรรมการจำนวน 12 คน และสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นกรรมการและเลขานุการ มีอำนาจหน้าที่ในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย แนวทางการจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานสมกับสังคมไทยในยุคปัจจุบัน

การเรียนการสอนพุทธศาสนา ถึงเวลาต้องปฏิรูป

ผลจากประชุมคณะกรรมการครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2561 ได้มีมติให้ สพฐ.ในฐานะฝ่ายเลขานุการดำเนินการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็นเพื่อรวบรวมความคิดเห็นจากบุคคลทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อนำข้อมูลที่ได้ประกอบการจัดทำแผนพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สาระที่ 1 ศาสนา ศีลธรรม จริยธรรม ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2561 ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป

เมื่อวานและวันนี้ (2 ก.ย.) ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ สำนักงานวิชาการและมาตรฐานการศึกษาสำนักงาน สพฐ. ได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการรับฟังความคิดเห็น “การจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนาที่เหมาะสมกับผู้เรียนที่เหมาะสมกับผู้เรียนในสังคมไทยยุคปัจจุบัน” โดยมีพระสงฆ์ ครู ผู้แทนเยาวชน นักเรียน เข้าร่วมประชุมรับฟังจำนวนมาก

การเรียนการสอนพุทธศาสนา ถึงเวลาต้องปฏิรูป

พระครูปลัดกวีวัฒน์ (ธีรวิทย์) กรรมการบริหารและเลขานุการฯ สำนักงานพระสอนศีลธรรม มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย หนึ่งในผู้เข้าร่วมประชุม กล่าวว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการเรียนการสอนพระพุทธศาสนามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเห็นตรงกันว่าเวลาเกิดปัญหาหลายมิติขึ้นในสังคมไทยก็มักจะเรียกหาเครื่องมือแก้ปัญหา ซึ่งก็เห็นว่าหลักธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาสามารถนำมาแก้ปัญหาสังคมไทยได้ แต่กระบวนการที่จะนำหลักธรรมหรือเครื่องมือแก้ปัญหาไปให้ผู้เรียนส่วนใหญ่อยู่ในชั้นเรียน

“พออยู่ในชั้นเรียนก็ถูกมัดด้วยผลตัวชี้วัดการเรียนรู้ ผูกมัดด้วยหลักสูตร บางครั้งต้องการนำธรรมะให้เด็กไปประยุกต์ใช้ แต่ก็ย้อนแย้งกับตัวชี้วัดที่จะต้องสอนให้เด็กเอาไปสอบ เพราะฉะนั้นบางครั้งหลักธรรมต่างๆ นักเรียนก็ได้แค่ระดับการท่องจำเพื่อสอบ ไม่ได้รู้ลึก การสอนที่จะให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และการนำไปใช้จริงในชีวิตประจำวันต้องหาวิธีที่เหมาะสมกว่านี้ เพราะสัปดาห์หนึ่งนักเรียนเจอวิชาพระพุทธศาสนาแค่ประมาณ 50 นาที ไม่เต็มด้วยใน 168 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นการสอนพระพุทธศาสนาที่ได้ผลต้องมีความรู้และทักษะ และการที่จะใช้ทักษะได้ต้องมีการบูรณาการไปสู่กิจกรรมและการเรียนทั้งระบบใหญ่อย่างที่มีการพูดคุยกันวันนี้”

การเรียนการสอนพุทธศาสนา ถึงเวลาต้องปฏิรูป

พระครูปลัดกวีวัฒน์ มองว่า การเรียนการสอนพระพุทธศาสนาที่ผ่านมาได้ผลสัมฤทธิ์ในระดับหนึ่ง คือในระดับการจัดการเรียนรู้ในหลักสูตร แต่ประเด็นปัญหาใหญ่อยู่ที่การนำไปประยุกต์ใช้ เพราะฉะนั้นจึงอยู่ที่ว่าจะหวังให้ผู้เรียนแค่รู้หลักธรรม หรือหวังให้เขารู้แล้วนำไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันจริงๆ ถ้าหวังให้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันจริงก็ต้องปฏิรูปรูปแบบการเรียนการสอน ตัวชี้วัด ระบบสัมฤทธิ์ต่างๆ ในการจัดการเรียนรู้ใหม่ให้ดีกว่าเดิม

“อาตมามองว่ามันสอดคล้องกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เนื่องจากเน้นให้เด็กเกิดกระบวนการคิดในหลายๆ ทักษะ พระพุทธศาสนาก็จำเป็นที่จะต้องเน้นเอากระบวนการคิดมาจัดลงไปในกระบวนการเรียนรู้ แต่ปัญหาคือวิชาอื่นๆ เช่น วิชาพลศึกษา เรามีครูพละ วิชาวิทยาศาสตร์ เรามีครูวิทยาศาสตร์ มีครูภาษาไทย ครูคณิตฯ เป็นต้น แต่พอพูดถึงวิชาพระพุทธศาสนาเรายังไม่มีผู้ชำนาญการด้านนี้ที่จะรองรับโรงเรียน 4-5 หมื่นโรงทั่วประประเทศ ทุกวันนี้ยังต้องใช้พระสงฆ์สอนศีลธรรมอยู่ตามโรงเรียน 2 หมื่นกว่ารูป แต่ต้องเข้าใจว่าท่านเหล่านี้ไม่ได้ถูกเทรนมาเพื่อการเป็นครูโดยเฉพาะ เวลาสอนก็จะเอาความรู้มหาเปรียญนักธรรมบาลีบ้างมาใช้ แต่ทักษะและกระบวนการจัดการเรียนรู้ตรงนี้ท่านยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ

การเรียนการสอนพุทธศาสนา ถึงเวลาต้องปฏิรูป

อาตมาอยากเสนอรัฐบาลให้มีนโยบายในการพัฒนาทักษะต่างๆ ให้แก่พระสอนที่สอนหนังสืออยู่ตามโรงเรียนต่างๆ เช่น ทักษะด้านการสอน ด้านจิตวิทยาการศึกษา กระบวนการจัดการเรียนรู้ หรือวิชาชีพครูต่างๆ ลงไปให้กับพระสอนศีลธรรม เพราะตัวคอนเทนต์หรือเนื้อหาหลักสูตรพระพุทธศาสนาท่านมีอยู่แล้ว จึงอยากฝากให้ภาครัฐส่งเสริมและจับมือทำงานตรงนี้ด้วยกัน” พระครูปลัดกวีวัฒน์ กล่าว

ทุกวันนี้ คณะสงฆ์โดยมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ได้ส่งเสริมการเรียนการสอนพระพุทธศาสนามานาน ด้วยการส่งพระสอนศีลธรรมที่มีอยู่ประมาณ 2.4 หมื่นรูป ไปสอนตามโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ แต่กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อการเรียนการสอนในปัจจุบัน