posttoday

ทำไมพระไทยได้รับเกียรติ ชักธงชาติอินเดีย

19 สิงหาคม 2561

วันที่ 15 ส.ค.ของทุกปี เป็นวันประกาศเอกราชของอินเดีย หรืออินดิเพนเดนซ์ เดย์

โดย วรธาร ทัดแก้ว
 
วันที่ 15 ส.ค.ของทุกปี เป็นวันประกาศเอกราชของอินเดีย หรืออินดิเพนเดนซ์ เดย์ (India’s Independence Day) โดยได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2490 (ค.ศ. 1947) ทุกปีที่วันสำคัญนี้มาถึงก็จะมีการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะธงชาติสามสี (สีแสด สีขาว สีเขียว) สัญลักษณ์แห่งเอกราชจะถูกชักขึ้นเสาทั่วประเทศโดยพร้อมเพรียงกัน
 
ตามหลังคาบ้านเรือนและอาคารสำคัญๆ ก็จะมีการประดับธงชาติเช่นกัน พร้อมกันนั้นเหล่าประชาชนก็จะเดินทางไปยังสถานที่ราชการต่างๆ ที่อยู่ใกล้ เพื่อร่วมพิธีร้องเพลงชาติและเคารพธงชาติอินเดีย ขณะที่นายกรัฐมนตรีของอินเดียก็จะกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันและแผนพัฒนาประเทศในอนาคตและเชิญธงชาติขึ้นที่ลานดินหน้าอดีตพระราชวังป้อมแดง หรือ Red Fort ที่กรุงนิวเดลี
 

ทำไมพระไทยได้รับเกียรติ ชักธงชาติอินเดีย

 
สิ่งที่น่าสนใจในวันประกาศเอกราชของอินเดียที่อยากพูดถึง คือ มีพระธรรมทูตไทยในอินเดีย ได้รับเกียรติพิเศษจากทางหน่วยงานราชการต่างๆ ของอินเดีย โดยเฉพาะโรงเรียนและสถาบันการศึกษาได้นิมนต์ไปเป็นประธานชักธงชาติ ซึ่งเกียรติพิเศษนี้ยังไม่ปรากฏมีพระสงฆ์จากชาติอื่นที่อยู่ในอินเดียได้รับ แต่พระสงฆ์ไทยได้รับเกียรตินี้ทุกปีและต่อเนื่องมาหลายปี
 
อย่างวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา พระสงฆ์ไทยในนามพระธรรมทูตไทยสายอินเดีย-เนปาล วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ รัฐอุตตรประเทศ จำนวน 49 รูป นำโดย พระครูนรนาถเจติยาภิรักษ์ (สมพงศ์) ผู้ปฏิบัติหน้าที่ดูแลวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ได้รับเกียรติไปเป็นประธานในพิธีชักธงชาติอินเดียและกล่าวสุนทรพจน์ เพื่อร่วมฉลองเอกราชของสาธารณรัฐอินเดีย ในโรงเรียนและสถาบันการศึกษา จำนวน 31 แห่ง
 

ทำไมพระไทยได้รับเกียรติ ชักธงชาติอินเดีย

 
ว่ากันว่า พระสงฆ์บางรูปต้องเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำเชิญของทางโรงเรียนและสถาบันการศึกษามากถึง 4-5 แห่ง บางโรงเรียนอยู่ในชนบทห่างไกลและเดินทางลำบาก แต่ก็ต้องไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำนิมนต์ (คำเชิญ) ซึ่งถือว่าพระสงฆ์เหล่านี้ถือว่าได้เป็นตัวแทนคนไทยเสริมสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีของสองประเทศ ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความคุ้นเคยระหว่างพระสงฆ์ไทยและพระพุทธศาสนากับประชาชนชาวอินเดีย
 
นอกจากวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ก็ยังมีวัดอื่นๆ อีกหลายวัดที่ได้รับเกียรติพิเศษดังกล่าว เช่น วัดไทยเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ที่มี พระครูปริยัติโพธิวิเทศ (ดร.พระมหาคมสรณ์) เป็นเจ้าอาวาส
 
พระครูปริยัติโพธิวิเทศ โฆษกพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล เล่าว่า การที่หน่วยงานและสถาบันการศึกษาต่างๆ ของอินเดียนิมนต์พระสงฆ์ไทยไปเป็นประธานชักธงชาติอินเดียและกล่าวสุนทรพจน์นั้น มาจากการที่คนอินเดีย “ยอมรับและนับถือในพระสงฆ์ไทย” ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครจะได้รับเกียรตินี้
 

ทำไมพระไทยได้รับเกียรติ ชักธงชาติอินเดีย

 
“อินเดียกว่าที่จะได้รับเอกราชจากอังกฤษซึ่งปกครองเขามายาวนานนั้น เขาต้องต่อสู้และใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้อิสรภาพ บางครั้งต้องแลกด้วยเลือดและชีวิต เพราะฉะนั้นเลือดรักชาติของชาวอินเดียจึงเข้มข้นมาก ชาตินิยมสูงและเขาจะไม่ไว้ใจใครง่ายๆ เพราะเขามีบทเรียนมาแล้ว เพราะฉะนั้นถ้าเขาไม่ยอมรับใครแล้วยากมากที่ใครจะได้รับเกียรติให้ไปจับธงชาติอันเป็นสัญลักษณ์แห่งเอกราชอันยิ่งใหญ่ของเขา
 
ทว่าคนอินเดียยอมรับนับถือในพระสงฆ์ไทยมาก เขาเห็นว่าพระสงฆ์ไทยมิใช่แค่ไปสร้างวัด แต่ได้สร้างคุณูปการและคุณประโยชน์แก่ประเทศของเขามากมาย เช่น สร้างคลินิก สถานพยาบาลรักษาทั้งคนไทยและคนอินเดีย เปิดโรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ สอนหนังสือเด็กอินเดีย แจกทุนการศึกษาและอุปกรณ์การเรียน จัดกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของเขา เป็นต้น
 

ทำไมพระไทยได้รับเกียรติ ชักธงชาติอินเดีย

 
ที่สำคัญพระสงฆ์ไทยได้นำพระพุทธศาสนากลับสู่อินเดียถิ่นมาตุภูมิคืนให้กับคนอินเดีย ในอดีตพระพุทธศาสนาได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศอินเดียมหาศาล อาตมาขอย้ำว่ากว่าที่คนอินเดียจะยอมรับพระสงฆ์ไทยนั้นไม่ง่าย เราต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ในการสร้างสิ่งที่ดีและเป็นประโยชน์ให้เขาเห็น เพราะตอนแรกๆ ที่เราสร้างวัดก็มีเสียงต่อต้านเหมือนกัน แต่เราก็ผ่านจุดตรงนั้นมาแล้ว” โฆษกพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล กล่าวทิ้งท้าย