posttoday

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ณ วัดสามปลื้ม

23 กรกฎาคม 2561

เรื่องราวประวัติศาสตร์ในวัดสามปลื้ม หรือ วัดจักรวรรดิราชาวาส เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร

โดยสมาน สุดโต

เรื่องราวประวัติศาสตร์ในวัดสามปลื้ม หรือ วัดจักรวรรดิราชาวาส เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร มีให้ติดตามหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเขตพุทธาวาส มีเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทย ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ด้วยว่าเป็นวัดที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ที่รัชกาลที่ 3 ทรงเรียกว่าพี่บดินทร์ เป็นผู้ปฏิสังขรณ์ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง

ที่เขตพุทธาวาสมีอนุสาวรีย์ เจ้าพระยาบดินทรเดชาประดิษฐานอยู่อนุสาวรีย์นั้นเป็นรูปหล่อ นั่งในท่าวางอำนาจ เรียกว่า ราชลีลาสนะ (Rajalila asana) ประดิษฐานในศาลาทรงงาม ข้างมณฑปพระพุทธบาท ท่านเจ้ามา ติดกับสระจระเข้ ที่มีอยู่ 2 ตัวในปัจจุบัน

หนังสือประวัติเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) สมุหนายก และแม่ทัพใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินเปิดอนุสาวรีย์และชื่อค่าย เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ของ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต 2 อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี วันที่ 17 ตุลาคม พุทธศักราช 2527 เล่าความเป็นมาของการสร้างรูปหล่อนี้ว่า ในสมัยรัชกาลที่ 3 กรุงเทพฯ เมื่อองค์หริรักษ์ (นักองค์ด้วง) พระเจ้ากรุงกัมพูชาได้ทราบว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ถึงอสัญกรรมแล้ว องค์หริรักษ์ระลึกถึงบุญคุณที่เจ้าพระยาบดินทรเดชา ได้เคยช่วยเหลือปราบปรามหมู่ปัจจามิตร ทั้งช่วยจัดราชการเมืองเขมรให้ราบคาบเรียบร้อยตลอดมา จึงสั่งสร้างเก๋งขึ้นที่หน้าค่ายใหญ่ใกล้วัดโพธารามในเมืองอุดงมีชัย (เมืองหลวงเก่าเขมร) แล้วให้พระภิกษุชาวเขมรช่างปั้นฝีมือเยี่ยมในยุคนั้น ปั้นรูปเจ้าพระยาบดินทรเดชาขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์ด้วยปูนเพชร และกอปรการกุศล มีสดับปกรณ์เป็นต้นปีละครั้ง ที่เก๋งนี้ ชาวเขมรเรียกว่า “รูปองค์บดินทร์” ตลอดมาจนบัดนี้รูปนี้สร้างขึ้นในราวปีจอ พ.ศ. 2392

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ณ วัดสามปลื้ม

ส่วนรูปหล่อที่วัดจักรวรรดิราชาวาส นั้น พระพุฒาจารย์ (มา) เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส เมื่อยังเป็นพระมงคลเทพมุนี ได้ให้คนไปวาดเขียนถ่ายอย่างรูปปั้นเจ้าพระยาบดินทรเดชาที่เมืองเขมร มาให้นายเล็กช่างหล่อจัดการหล่อขึ้น

ขณะที่ปั้นหุ่นรูปได้อาศัยช่างเขียน และท่านทองภรรยาเจ้าพระยายมราช (แก้ว) ซึ่งมีอายุทันได้เห็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา ช่วยกันติชมแก้ไขจนเห็นว่าเหมือนเจ้าพระยาบดินทรเดชาแล้ว จึงได้จัดการหล่อขึ้น ประจวบกับพระพุฒาจารย์มีอายุครบ 5 รอบ (60 ปี) จึงได้รวมทำพิธีฉลองอายุในคราวเดียวกัน รูปนี้หล่อขึ้นในระหว่าง พ.ศ. 2441 กับ พ.ศ. 2447

ในด้านศาสนานั้น นอกจากปฏิสังขรณ์วัดสามปลื้ม ปัจจุบันคือ วัดจักรวรรดิราชาวาสวรมหาวิหารแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้ปฏิสังขรณ์วัดพรหมสุรินทร์ ซึ่งรัชกาลที่ 3 พระราชทานนามใหม่ว่าวัดปรินายก (กรุงเทพมหานคร) ปฏิสังขรณ์วัดช่างทอง ซึ่งเป็นวัดที่ท่านผู้หญิงฟักผู้เป็นมารดาได้สร้างไว้ อยู่ที่เกาะเรียน จ.พระนคร ศรีอยุธยา ปฏิสังขรณ์วัดวรนายกรังสรรค์ (เขาดิน) จ.พระนครศรีอยุธยา สร้างวัดตึก ปัจจุบันคือ วัดเทพลีลา พระอารามหลวง ย่านรามคำแหง ยกที่บ้านถวายเป็นวัด สร้างโบสถ์วิหารการเปรียญเสนาสนะพร้อม มีชื่อว่าวัดชัยชนะสงคราม แต่ชาวบ้านมักเรียกกันว่าวัดตึก (สี่แยกวัดตึก กรุงเทพมหานคร)จนทุกวันนี้

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ณ วัดสามปลื้ม

ปีที่กลับจากเขมรมานั้น เจ้าพระยาบดินทรเดชา มีอายุย่าง 71 ปี แต่ก็ยังเข้มแข็งสามารถรับราชการสนองพระเดชพระคุณได้ต่อมาจนกระทั่งถึงวันอาทิตย์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2392 ก็ถึงแก่อสัญกรรมที่บ้านริมคลองโอ่งอ่าง (บริเวณเชิงสะพานหันกับบ้านดอกไม้) ด้วยอหิวาตกโรค ซึ่งระบาดชุกชุมในปีนั้นรุ่งขึ้นปี พ.ศ. 2393 จึงได้พระราชทานเพลิงศพที่วัดสระเกศ

ในเขตพุทธาวาส ยังมีพระวิหารที่เคยเป็นที่ประดิษฐานพระบาง ตั้งแต่รัชกาลที่ 3 แต่ถึงรัชกาลที่ 4 โปรดฯให้ส่งคืนกลับไปยังหลวงพระบาง เมื่อ พ.ศ. 2409 วิหารนั้นปัจจุบันจึงเป็นที่ประดิษฐานพระนาก

นอกจากนั้นก็มีพระอุโบสถ และวิหารถัดออกไปด้านหลังจะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธฉาย อันพระพุทธฉายนี้ มีผู้ท่องเที่ยววัดโพสต์ข้อความในพันทิปดอตคอม (หลายปีมาแล้ว) ว่า

ต่อเนื่องจากพระวิหารเจดีย์เป็นภูเขาพระฉาย เป็นเขาจำลองขนาดย่อม ลักษณะเดียวกับเขามอ ใช้ตุ่มไหเป็นแกนโบกปูนทับ เป็นที่สักการะพระฉาย ที่ผนัง ลักษณะพระฉายทำเป็นเงาพระพุทธรูปยืนสีดำเว้าเข้าไป

(โดย) เขียนองค์พระพุทธรูปลงบนกระจกที่เคยเป็นกระจกเงาบานใหญ่สำหรับใช้ในการแต่งกายของเจ้าพระยายมราช

เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ณ วัดสามปลื้ม

ผู้ที่โพสต์ในพันทิปดอตคอม บ่นว่า สถานที่ที่กล่าวมานั้น ขาดการดูแล กลายเป็นที่เก็บของ ดูรกรุงรัง ไม่น่าดู ผม(ผู้ที่โพสต์) พยายามเก็บภาพส่วนที่ดูไม่รกนักมาให้ดูกัน จึงดูพระฉายยังมีสีสมบูรณ์

เมื่อผู้เขียนเข้าไปต้นเดือน ก.ค. นี้ บางส่วนของพระฉายถูกปิดทอง จนเสียศิลปะ ความงาม ส่วนความสกปรกยังเหมือนเดิม

สรุปง่ายๆ ว่าขาดการดูแล และการทำความสะอาด ถ้าเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ที่บูรณะวัดให้งดงามมาเห็น จะรู้สึกอย่างไรหนอ เชื่อว่าเจ้าอาวาส พระเทพวิสุทธิโมลี (พรหมา) คงให้คำตอบได้