posttoday

วัดทองบน วัดเล็กๆ แต่อบอุ่น

22 กรกฎาคม 2561

อยากเขียนถึง “วัดทองบน” ตั้งแต่ช่วงวิสาขบูชาที่ผ่านมาแต่ก็ไม่ได้เขียนเลย

โดย วรธาร ทัดแก้ว 

อยากเขียนถึง “วัดทองบน” ตั้งแต่ช่วงวิสาขบูชาที่ผ่านมาแต่ก็ไม่ได้เขียนเลย วันนี้คิดว่าได้โอกาสแล้ว เหตุผลที่อยากเขียนถึงวัดเล็กๆ แห่งนี้ เพราะมีโอกาสได้ไปทำบุญตักบาตรที่วัดในวันวิสาขบูชา วันที่ 29 พ.ค. และตอนค่ำก็ไปเวียนเทียน รู้สึกประทับใจหลายๆ อย่างและชอบบรรยากาศการทำบุญที่วัดทั้งภาคเช้าและภาคค่ำ

วันนี้เลยขอย้อนความประทับใจในการทำบุญที่วัดทองบนในวันวิสาขบูชาที่ผ่านมา เพราะบรรยากาศแบบนี้กำลังจะมาถึงอีกครั้งในวันศุกร์ที่ 27 ก.ค. 2561 นั่นคือ วันอาสาฬหบูชา ที่เชื่อว่า วัดทองบน ถนนพระราม 3 วัดเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งเจ้าพระยา ใกล้สี่แยกท่าน้ำสาธุประดิษฐ์ จะมีชาวพุทธเดินทางมาทำบุญเนืองแน่นเช่นเดิม

ภาคเช้าวันนั้นมีพิธีตักบาตรที่ศาลาอเนกประสงค์ของวัด ศาลาขนาดใหญ่ 2 ชั้น แต่จัดทำบุญที่ชั้นล่าง พื้นที่กว้างขวาง โอ่โถง ปูพื้นด้วยกระเบื้องสีขาว บรรยากาศเย็นสบาย มีเก้าอี้รองรับผู้มาทำบุญราวๆ 300 ตัวด้านหน้าเป็นโซฟาสำหรับใครก็ได้ที่อยากนั่งนุ่มๆ สบายๆ หรือใครชอบนั่งกับพื้นก็ตามอัธยาศัยไม่มีใครว่า

วัดทองบน วัดเล็กๆ แต่อบอุ่น

สำหรับชั้น 2 ใช้เป็นที่เรียนนักธรรมและบาลีของพระเณร และใช้เป็นที่พักทำวัตรสวดมนต์ของอุบาสกอุบาสิกาที่มารักษาศีลอุโบสถในวันพระช่วงเข้าพรรษาและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ตลอดวันสำคัญอื่นๆ ที่วัดจัดกิจกรรม เช่น จัดปฏิบัติธรรมถวายเป็นพระราชกุศลในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น

คำนวณผู้มาทำบุญด้วยสายตาราวๆ 400 คน อยู่จนจบพิธีราวๆ 300 คน เรียกว่า เก้าอี้ทุกตัวที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ไม่มีที่ว่าง ทุกคนพอเข้ามาในศาลาก็เปลี่ยนถ่ายสำรับอาหารใส่ภาชนะที่วัดจัดเตรียมไว้ ส่วนข้าวก็ใส่บาตร ธูปเทียนที่เตรียมมาก็นำไปบูชาพระ เสร็จแล้วนั่งฟังพระสวดถวายพรพระ ถวายภัตตาหาร ฟังเทศน์ รับพร กลับบ้าน

บรรยากาศการทำบุญต้องบอกว่าชวนให้นึกถึงวัดในชนบทหรือวัดต่างจังหวัด ที่พอถึงวันพระและวันสำคัญทางศาสนาชาวบ้านก็จะจูงมือลูกฉุดมือหลานเตรียมอาหารหวานคาว ดอกไม้ธูปเทียนลงไปวัด ทำบุญตักบาตร สมาทานศีล ฟังเทศน์กัน เสร็จแล้วกลับบ้าน พอ
ตอนเย็นก็นำดอกไม้ธูปเทียนมาเวียนเทียนที่วัดอีกครั้งหนึ่ง

วัดทองบน วัดเล็กๆ แต่อบอุ่น

สิ่งที่ประทับใจ คือ วัดทองบน เวลามีงานวัดกลับเนืองแน่นด้วยชาวพุทธ ทั้งที่วัดไม่ได้ตั้งอยู่ในชุมชน หน้าวัดติดถนนพระราม 3 ฝั่งตรงข้ามถนนพระราม 3 เยื้องไปอีกหน่อยก็เป็นวัดดอกไม้ ส่วนด้านข้างวัดเป็นคอนโดมิเนียมสูงระฟ้า อีกฝั่งเป็นบริษัทเอกชน นอกจากนี้วัดก็ไม่ได้โดดเด่นในด้านใดด้านหนึ่งที่จะเป็นจุดดึงคนเข้าวัดเหมือนอย่างวัดปริวาสราชสงครามที่อยู่ไม่ไกลกันแต่เป็นวัดเกจิดังในอดีตและเจ้าอาวาสรูปปัจจุบันก็เป็นพระสายเกจิด้วย แต่เวลามีงานบุญวันสำคัญทางศาสนาผู้คนมาจากทั่วสารทิศพื้นที่วัดที่กว้างขวางก็ดูแคบลง

พระมหาอาทิตย์ อมโร เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ซึ่งเป็นมหาเปรียญ 7 ประโยค จบปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต (พธ.บ.) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย บอกว่า คนมาทำบุญและร่วมกิจกรรมที่วัดทองบนส่วนใหญ่มาจากย่านถนนสาธุประดิษฐ์ ถนนพระราม 3 แถวบางคอแหลม บางโคล่ และยานนาวา

“ความที่วัดมีความเงียบสงบ สะอาด อากาศเย็นสบาย ร่มรื่น โดยเฉพาะบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาอากาศดีมาก ลมเย็น แถมมีต้นไม้ตั้งเรียงรายให้ร่มเงาหลายต้น ตอนเย็นๆ ผู้คนมักจะขับรถพาลูกหลานมานั่งกินลมชมวิวสองฝั่งเจ้าพระยาและให้อาหารปลาตรงเขื่อนของวัด ซึ่งเขื่อนนี้สร้างขึ้นในสมัยพระครูสุทธิธรรมรักษ์ (รส อุ่มเพชร) เจ้าอาวาสรูปก่อนเนื่องจากสมัยก่อนวัดทองบนถูกน้ำท่วมตลอดเลยท่านจึงสร้างเขื่อนป้องกัน”

วัดทองบน วัดเล็กๆ แต่อบอุ่น

ความประทับใจอย่างหนึ่ง คือ วัดทองบนมีการเลี้ยงอาหาร น้ำดื่มประชาชนที่เดินทางมาทำบุญและร่วมกิจกรรมที่วัดทุกวันสำคัญทางศาสนา เรียกได้ว่าใครมาวัดทองบนนอกจากมาทำบุญแล้วยังอิ่มท้องด้วย

“การทำอาหารเลี้ยง เริ่มต้นมาจากหลวงพ่อพระครูสิทธิธรรมรักษ์ ท่านจะให้เงินแม่ครัวไปซื้อขนมจีนมาเลี้ยงญาติโยมในช่วงออกพรรษาทอดกฐิน ทำทุกปี ตอนหลังญาติโยมที่มาทำบุญเห็นหลวงพ่อให้เงินแม่ครัวไปทำอาหารเลี้ยงคนเลยขอทำบุญด้วย จากนั้นมาพอถึง
วันสำคัญที่วัดจัดกิจกรรมต่างๆ ญาติโยมก็จะมาแจ้งความประสงค์บริจาคเงินเพื่อทำอาหารเลี้ยงคนตามศรัทธาโดยที่วัดไม่ได้บอกบุญแต่อย่างใด”

อีกความประทับใจคือ ทุกครั้งที่มีการจัดกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา วัดทองบนจะเต็มไปด้วยจิตอาสาที่มาช่วยงานวัดมากมาย เช่น ช่วยขายดอกไม้ ธูปเทียน อำนวยความสะดวกให้กับคนที่มาทำบุญ หลังจากเวียนเทียนเสร็จแล้วก็ช่วยเก็บดอกไม้ธูปเทียน ทำความสะอาดสถานที่ เก็บของร่วมกับพระเณรเป็นภาพที่เห็นแล้วประทับใจ

วัดทองบน วัดเล็กๆ แต่อบอุ่น

จะสังเกตเห็นว่าจิตอาสาส่วนใหญ่เป็นชาวพม่ามากกว่าคนไทย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะย่านสาธุประดิษฐ์นั้นมากไปด้วยชาวพม่า และคุณลักษณะที่เด่นชัดของชาวพม่าอย่างหนึ่งที่คนไทยต่างรู้จักดีคือ ไม่ว่าอยู่ที่ไหนเขาก็ใส่ใจในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากบอกสาธุชน วัดนี้แม้จะชื่อทองบนแต่ก็ไม่ได้เป็นวัดที่มีเงินเหมือนวัดอื่นๆ แต่ที่วัดพัฒนามาขนาดนี้เพราะบารมีของเจ้าอาวาสรูปก่อน (รูปที่ 7) คือ พระครูสิทธิธรรมรักษ์ (รส อุ่มเพชร) ด้วยเหตุนี้ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันได้เห็นคุณูปการที่ยิ่งใหญ่ของท่านที่มีต่อวัด จึงได้สร้างศาลาอุ่มเพชรลักษณะคล้ายมณฑปเพื่อเป็นอนุสรณ์และบูชาคุณ โดยข้างในจะประดิษฐานรูปหล่อของท่านเพื่อให้สาธุชนได้กราบไหว้