posttoday

เปิดบัญชีนิตยภัต (เงินเดือน) พระสงฆ์

17 มิถุนายน 2561

ข่าวที่สร้างความฮือฮา หรือกังวลแก่ชาวพุทธ ได้แก่ ข่าวที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)

โดย...สมาน สุดโต

ข่าวที่สร้างความฮือฮา หรือกังวลแก่ชาวพุทธ ได้แก่ ข่าวที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ให้สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด (พศจ.) หาวัดตัวอย่างในแต่ละจังหวัดที่พระสงฆ์ไม่จับเงินและทอง แล้วแจ้งให้ พศ.ทราบภายในวันที่ 11 มิ.ย. 2561 เพื่อจะนำมาเป็น ตัวอย่างให้วัดอื่นๆ ปฏิบัติตาม ทั้งนี้ พศ.ได้อ้างพระวินัยปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทไว้ชัดเจนว่า ไม่ให้พระรับเงินและทอง หรือยินดีที่เขาเก็บไว้ให้

ที่น่าทึ่ง คือ พศ.ได้บัญญัติเพิ่มเติมว่า รวมถึงอะไรก็ตามที่มีค่าในการแลกเปลี่ยนซื้อขายได้ เช่น ธนบัตร เหรียญ เช็ค บัตรกดเงินสด บัตร เอทีเอ็ม บัตรเครดิต การรับเงินและทอง จึงเป็นการผิดพระวินัยและเป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่พระภิกษุผู้รับ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ เช่น การรับเพื่อตัวหรือเพื่อสงฆ์ก็ตาม (ข่าวสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 11 มิ.ย. 2561)

นิสสัคคิยปาจิตตีย์

ทั้งๆ ที่บทบัญญัติของจริงในนิสสัคคิยปาจิตตีย์ 30 ข้อ 8 แห่งโกสิยวรรค มีเพียงว่าภิกษุรับเองก็ดี ให้ผู้อื่นรับก็ดี ซึ่งทองและเงิน หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

เส้นแบ่งธรรมยุต มหานิกาย

การตามหาว่าวัดไหนที่พระไม่จับเงินจับทอง ตามพระวินัยข้อ 8 แห่งนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ไม่น่าจะเสียเวลา แค่ไปถามพระสงฆ์วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หรือวัดสัมพันธวงศ์ ก็พอจะบอกได้ เพราะพระสงฆ์วัดที่ว่านี้สังกัดคณะธรรมยุตที่เคร่งมาก วินัยข้อนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งที่แบ่งแยกระหว่างพระธรรมยุตและพระมหานิกาย

ขณะที่ญาติโยมบางกลุ่มก็แบ่งนิกาย เช่น บรรดานาคหลวง จะอุปสมบทและจำพรรษาเฉพาะวัดธรรมยุตเท่านั้น  

ลาวยุบ 2 นิกาย

การแบ่งแยกนิกายเคยลุกลามใหญ่โตในลาว เมื่อคณะพระธรรมยุตลาวที่นครจำปาสักได้ตั้งเงื่อนไขให้ชาวบ้านที่เข้าวัดธรรมยุตต้องปฏิบัติ คือ ห้ามลูกหลานชาวบ้านที่เข้าวัดธรรมยุตแต่งงานกับลูกหลานชาวบ้านที่เข้าวัดมหานิกาย จะแต่งงานได้ต่อเมื่อเปลี่ยนมาเข้าวัดธรรมยุต เท่านั้น จึงแตกแยกกันมาก

เมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ลาวปกครองประเทศเบ็ดเสร็จใน พ.ศ. 2518 พรรคคอมมิวนิสต์ลาวได้ขอให้พระมหาผ่อง สมาเลิก (ต่อมาเป็นประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลกลาว) ไปแก้ไข พระมหาผ่องสั่งสลายพระมหานิกายและธรรมยุตทั้งหมด แล้วให้มาขึ้นกับคณะสงฆ์ลาวที่ตั้งใหม่ ตั้งแต่นั้นมาคณะสงฆ์ลาวไม่มีนิกายและสมณศักดิ์มาเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างพระกับพระ และชาว บ้านกับชาวบ้าน

ด้านกัมพูชานั้น เมื่อเขมรแดงล่มสลาย รัฐบาลได้ฟื้นฟูคณะสงฆ์ขึ้นมาใหม่ แต่ให้มีพระสังฆราชทั้งมหานิกายและธรรมยุต

เปิดบัญชีนิตยภัต (เงินเดือน) พระสงฆ์

สกลมหาสังฆปริณายก

สำหรับประเทศไทย พระสังฆราชมาจากคณะธรรมยุต แต่รับผิดชอบคณะสงฆ์ทั้งประเทศ จึงทรงดำรงสถานะเป็นสกลมหาสังฆปริณายก และทรงบัญชาการคณะสงฆ์ ตาม พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535

ส่วนกระแสที่ว่าห้ามชาวบ้านถวายปัจจัยแก่พระสงฆ์ว่าเป็นบาปมากกว่าบุญนั้น ผมไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นพระดำรัสของสมเด็จพระสังฆราชหรือไม่ แต่ที่ทราบคือรัฐบาลยังถวายนิตยภัตพระภิกษุ ทั้งมหานิกายและธรรมยุตที่เป็นพระราชาคณะ นับตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชลงมาจนถึงพระสังฆาธิการทั่วประเทศ ถ้าห้ามชาวบ้านถวายเงินพระ ต้องห้ามรัฐบาลถวายนิตยภัต (เงินเดือน) หรือไม่พระก็ปฏิเสธนิตยภัตไปเลย

นิตยภัตพระสงฆ์

ข้อมูลจากสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม ที่พิมพ์ในทำเนียบสมณศักดิ์ พ.ศ. 2554 ว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้รับนิตยภัตเดือนละ 37,700 บาท สมเด็จพระสังฆราช 34,200 บาท ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช 30,800 บาท สมเด็จพระราชาคณะ 27,400 บาท กรรมการ มส. 23,900 บาท เจ้าคณะใหญ่หนต่างๆ 23,900 บาท พระราชาคณะ เจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ 20,500 บาท เจ้าคณะภาค-แม่กองบาลี-แม่กองธรรม 17,100 บาท รองเจ้าคณะภาค 13,700 บาท เจ้าคณะจังหวัด-เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช 10,300 บาท

อัตรานิตยภัตลดหลั่นตามลำดับชั้นจนถึงพระราชาคณะชั้นสามัญยก-พระครูปลัดชั้นเอกของสมเด็จพระราชาคณะ-พระคณาจารย์โท จะได้รับเดือนละ  3,800 บาท รวมเบ็ดเสร็จ 69 ตำแหน่ง โดยไม่รวมบรรพชิตจีนและบรรพชิตอนัมนิกาย อีก 11 ตำแหน่ง

รัฐบาลจะงดจ่ายนิตยภัตเมื่อตาย (มรณภาพ) เว้นแต่สมเด็จพระสังฆราช หากสิ้นพระชนม์ก็ยังจะได้รับนิตยภัต จนถึงวันพระราชทานเพลิง รวมถึงเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชด้วย

นิตยภัตสำหรับบรรดาศักดิ์ 

คำถามว่า นิตยภัตมีมาแต่เมื่อไร ตอบว่า น่าจะมีมาตั้งแต่สถาบันพระมหากษัตริย์ ทรงรับเป็นอัครศาสนูปถัมภ์ เช่น สมัยรัชกาลที่ 6 ที่มี สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวโรรส เป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้จัดนิตยภัตถวายพระที่เป็นเจ้าคณะผู้ปกครอง เช่น เจ้าคณะมณฑลชั้นเอก ได้รับเดือนละ 28 บาท ปีละ 336 บาท เป็นต้น

ส่วนอัตรานิตยภัตสำหรับบรรดาศักดิ์ เมื่อ พ.ศ. 2459 มีดังนี้ สมเด็จพระมหาสมณะ เดือนละ 80 บาท สมเด็จพระราชาคณะเจ้าคณะใหญ่ เดือนละ 40 บาท พระราชาคณะเจ้าคณะรอง เดือนละ 32 บาท พระราชคณะชั้นธรรม เดือนละ 28 บาท พระราชาคณะชั้นเทพ เดือนละ 26 บาท พระราชาคณะชั้นราช เดือนละ 24 บาท ส่วนนิตยภัตพระราชาคณะชั้นสามัญ แบ่งออกหลายระดับ สูงสุด 22 บาท/เดือน ต่ำสุด ได้แก่ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส เดือนละ 12 บาท ในขณะที่พระภิกษุ-สามเณรเปรียญก็ได้นิตยภัตด้วย กล่าวคือ ป.ธ.ได้ 14 บาท ถ้า ป.ธ.ต่ำก็ได้นิตยภัตต่ำตามไปด้วย เช่น ป.ธ.4 ได้ 6 บาท เป็นต้น

รัฐต้องจัดสวัสดิการถวาย

พระผู้ใหญ่ระดับเจ้าคณะภาครูปหนึ่ง แสดงความเห็นว่า ถ้ารัฐไม่ให้ชาวบ้านถวายเงินพระจริง รัฐต้องจัดสวัสดิการให้พระภิกษุสามเณร รวมทั้งวัดต่างๆ ด้วยทั้งนี้ เพราะพระภิกษุสามเณรยังจำเป็นต้องใช้เงินเพื่อการศึกษาเล่าเรียน และค่าพาหนะในการเดินทาง ส่วนวัดก็ยังต้องรับผิดชอบค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมาก 

ท่านบอกว่า อย่ามองว่าพระและวัดจะมีเงินเหมือนพระและวัดที่เป็นข่าวไปทั้งหมด เพราะในชนบทนั้นพระและวัดอยู่กันอย่างแร้นแค้น บางวัดไม่มีเงินจ่ายแม้กระทั่งค่าไฟฟ้า น้ำประปา ขอให้ไปดูวัดตามชนบททั่วไป แล้วจะพบข้อเท็จจริง

อย่างไรก็ตาม สำหรับจุดประสงค์ที่เขียนเรื่องนี้ เพื่อจะบอกว่า การที่ฆราวาสบางกลุ่มเสนอจัดระเบียบ เรื่อง เงินและทองของพระภิกษุสามเณรและของวัด โดยไม่ศึกษาประวัติศาสตร์และราชประเพณีนั้น เป็นการบิดเบือน ทำให้สังคมสับสน เพราะรัฐยังถวายนิตยภัตให้พระคุณเจ้าเหมือนเดิม จึงสงสัยว่าผู้ที่ออกมารณรงค์แบบนี้ มีวาระอะไรซ่อนเร้นหรือเปล่า