posttoday

พม.สมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร กับศาสนกิจสอนหนังสือที่ฮังการี

10 มิถุนายน 2561

ปลีกจากข่าวฉาวในวงการพระในช่วงนี้ มาที่เรื่องดีๆ ของพระคุณเจ้ากันบ้าง

โดย วรธาร ทัดแก้ว [email protected]

ปลีกจากข่าวฉาวในวงการพระในช่วงนี้ มาที่เรื่องดีๆ ของพระคุณเจ้ากันบ้าง รูปหนึ่งที่ผู้เขียนอยากนำเสนอและนำเสนอเกี่ยวกับการไปปฏิบัติศาสนกิจของท่านในต่างแดน คือ พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร (พรรณา) ดร., ป.ธ.7, พธ.บ. (ภาษาอังกฤษ), ศศ.ม. (พุทธศาสนศึกษา) พธ.ด. (พระพุทธศาสนา) ตำแหน่งปัจจุบัน คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร)

แม้การปฏิบัติศาสนกิจจะเสร็จสิ้นแล้ว แต่ผู้เขียนเห็นว่าควรแก่การนำเสนอ เพื่อให้เห็นว่าแม้จะเกิดข่าวในทางลบกับพระสงฆ์บางรูปในเวลานี้ แต่ต้องไม่ลืมว่ายังมีพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจำนวนมากทำหน้าที่พระ ก็คือ การสอนธรรมะให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะต้องเดินทางไกลไปต่างประเทศก็ตาม

ศาสนกิจของพระมหาสมบูรณ์ คือ การไปสอนหนังสือ โดยหน่วยงานและประเทศที่ไปปฏิบัติศาสนกิจคือ วิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกต (Dharma Gate Buddhist College) เมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ระยะเวลา ระหว่างวันที่ 15 เม.ย.-3 พ.ค. 2561

ผู้นิมนต์ให้ไปสอน คือ วิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกต โดยผ่านการอนุมัติของพระพรหมบัณฑิต อธิการบดี มจร ให้ไปทำภารกิจตามที่ได้รับนิมนต์ 4 ภารกิจหลัก ได้แก่ สอนวิชาอภิธรรมสายเถรวาท สอนวิชาพุทธจิตวิทยา แสดงปาฐกถาธรรมพิเศษแก่คณาจารย์ นิสิต และประชาชนทั่วไป และสุดท้าย คือ การนำนิสิตปฏิบัติกรรมฐานเป็นเวลา 2 วัน วันละ 7 ชั่วโมงต่อเนื่อง

พม.สมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร กับศาสนกิจสอนหนังสือที่ฮังการี

พระมหาสมบูรณ์เล่าถึงวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกตให้ฟังว่า เป็นวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาที่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลฮังการี เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มพุทธศาสนิกชนชาวฮังการีทุกนิกาย ปัจจุบันเปิดการศึกษาสาขาวิชาพุทธศาสนศึกษา (Buddhist Studies) ระดับปริญญาตรี และปริญญาโท

“อาตมามีโอกาสคุยกับอาจารย์ยาโนส (Janos) ผู้อำนวยการวิทยาลัยและผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่าให้ฟังว่า การตั้งสถาบันการศึกษาในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปเป็นเรื่องยากมาก แม้เป็นวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาก็ต้องใช้มาตรฐานเดียวกับสหภาพยุโรป”

ภารกิจวันแรก คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มจร เล่าว่า ผู้อำนวยการยาโนสได้นิมนต์ไปที่วิทยาลัยพร้อมเล่าถึงกับกิจกรรมการเรียนการสอนให้ฟังว่า ได้ให้นิสิตเลือกหัวข้อที่สนใจเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แล้วนำหัวข้อนั้นไปถกกับครอบครัว แล้วเขียนบทความมานำเสนอในชั้นเรียน หลายคนเลือกหัวข้อพระพุทธศาสนาในประเทศไทย จากนั้นไปพบปะนิสิตปีที่ 1 เปิดโอกาสให้ซักถามเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย

ภารกิจวันที่ 2 เป็นการสอนวิชา Pali Abhidhamma หรืออภิธรรมตามแนวคัมภีร์บาลีของฝ่ายเถรวาทวันแรก โดยมีนักศึกษาสนใจเข้าเรียน 6 คน ท่านเล่าว่า โดยรวมนักศึกษามีพื้นฐานความเข้าใจในอภิธรรมค่อนข้างดีและลึก จึงง่ายในการสอนและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

“อาตมาได้แนะนำนักศึกษาในการเรียนอภิธรรมว่าต้องไม่คิดว่าอภิธรรมเป็นสิ่งอื่นที่แปลกแยกจากชีวิต การศึกษาอภิธรรมก็คือการศึกษาชีวิตของเราหรือขันธ์ 5 นั่นเอง เพราะอภิธรรมเอาชีวิตของมนุษย์เป็นศูนย์กลางแห่งการศึกษา อภิธรรมจริงๆ อยู่ในชีวิตเรา ไม่ใช่อยู่ในคัมภีร์ เป้าหมายสุดท้ายของอภิธรรมเป็นเช่นเดียวกับเป้าหมายของการปฏิบัติวิปัสสนา ต่างตรงที่อย่างแรกมุ่งเข้าถึงความจริงในเชิงทฤษฎี อย่างหลังมุ่งเข้าถึงในทางปฏิบัติ”

พม.สมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร กับศาสนกิจสอนหนังสือที่ฮังการี

พร้อมกันนั้น ท่านยังชวนนิสิตถกเกี่ยวกับความจริงหรือสัจจะ 2 อย่างตามแนวอภิธรรม คือ สมมติสัจจะ กับ ปรมัตถสัจจะ โดยเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันของเรา เช่น ภาษาและระบบสัญลักษณ์ต่างๆ ที่สังคมมนุษย์สร้างขึ้นและยอมรับร่วมกัน กับความจริงในตัวมันเองที่ไม่เกี่ยวกับการสร้างของสังคมมนุษย์

ภารกิจวันที่ 3 การสอนเกี่ยวกับอภิธรรมเข้มข้นขึ้น โดยท่านได้นำนิสิตเข้าสู่เนื้อหาของอภิธรรมโดยตรงไล่เรียงตามดับเนื้อหาของคัมภีร์อภิธัมมัฏฐสังคหะ เริ่มจากปรมัตถธรรมเรื่องแรก คือ จิต 89 ดวงตามลำดับ

“ยอมรับว่ายากในการทำให้คนเข้าใจเรื่องนามธรรมผ่านภาษาอังกฤษ แต่อาตมาโชคดีที่นิสิตมีพื้นฐานอภิธรรมดีพอสมควร บางคนตั้งคำถามลึกจนคาดไม่ถึง เช่น นิสิตคนหนึ่งถามว่าจิตของผู้ได้อรูปฌานขั้นอากิญจัญญายตนะที่กำหนดความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์ (Nothingness) นั้น เนื่องจากไม่มีอะไรแล้วเขาจะเอาจิตไปกำหนดอะไรได้ เปรียบเหมือนตะเกียบ เวลาเราเอาตะเกียบไปคีบอะไรบางอย่าง มันต้องมีอะไรบางอย่างให้คีบ ถ้าไม่มีอะไรเสียแล้วจะเอาตะเกียบไปคีบกับอะไร อาตมาไม่นึกว่าเขาจะถามลึกขนาดนี้ เลยตอบว่าความไม่มีอะไรนั่นแหละคือความมีแบบหนึ่ง คือมีความไม่มีอะไร จิตของผู้ได้ฌานขั้นนี้ก็เอาความไม่อะไรนั่นแหละเป็นอารมณ์”

ภารกิจวันที่ 4 (19 เม.ย.) คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มจร ยังคงบรรยายวิชาอภิธรรมต่อและวันที่ 5 (20 เม.ย.) สอนอภิธรรมวันสุดท้ายและมีการสอบปากเปล่าในช่วงบ่าย (Oral Test) รวมทั้งมอบหมายงานให้นิสิตเขียนบทความวิชาการเกี่ยวกับประเด็นในอภิธรรมคนละ 1 เรื่อง กำหนดส่งภายใน 1 เดือน ส่วนภารกิจที่เหลือที่ได้รับนิมนต์ท่านได้ทำเสร็จสิ้นสมบูรณ์ในวันที่ 29 เม.ย. 2561 ก่อนที่จะเดินทางกลับในวันที่ 3 พ.ค. 2561

พม.สมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร กับศาสนกิจสอนหนังสือที่ฮังการี

การเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจครั้งนี้ ท่านได้มีโอกาสไปชมห้องสมุดของวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกต มีหนังสือตำราทางพระพุทธศาสนามากพอสมควร ทั้งภาษาอังกฤษและฮังการี ตลอดระยะเวลา 25 ปีแห่งการก่อตั้งวิทยาลัย ครูอาจารย์ของที่นี่ผลิตตำราทางพระพุทธศาสนามากพอสมควร ทั้งงานแต่ง งานแปลคัมภีร์

“ทราบว่าอธิการของที่นี่ชอบหนังสือมาก เสียดายที่ไม่ได้นำมาฝากจากเมืองไทย จึงมอบหนังสือภาษาอังกฤษ Ebooks ที่อาตมาสะสมไว้ให้แทน รวมทุกศาสตร์ประมาณ 2.5 หมื่นเล่ม เฉพาะพระพุทธศาสนาประมาณ 1,000 เล่ม และปรัชญาประมาณ 2,000 เล่ม

อธิการท่านนี้นานมาแล้วเคยไปนอนพักที่กุฏิอาตมาเพื่อรอขึ้นเครื่อง 1 คืน บอกตรงๆ ว่า ตอนนั้นอาตมาไม่ค่อยรู้รายละเอียดมากว่าเป็นใคร มีตำแหน่งสำคัญอย่างไร อาตมาให้นอนพักที่ห้องหนังสืออาตมา ท่านเล่าให้ฟังทีหลังว่า ตอนที่พักนั้นเห็นหนังสือมากมายทั้งภาษาไทยและอังกฤษ พร้อมแอบเปิดดูบางเล่ม เห็นปากกาเขียนเต็มหมด เลยคิดว่าทำไมพระรูปนี้มีหนังสือเยอะและมี Erudition (คำของท่านซึ่งไม่ขนาดนั้น) ขนาดนี้ ท่านบอกว่า นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ท่านนิมนต์มาสอนที่ฮังการี” คณบดี มจร กล่าวทิ้งท้าย

พร้อมทั้งท่านขอถือโอกาสนี้กล่าวขอบคุณขออนุโมทนาโครงการ “อีราสมุส” (Erasmus) ที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการเดินทางครั้งนี้ทุกประการ ซึ่งโครงการอีราสมุสนั้นเป็นโครงการปฏิบัติการของประชาคมสหภาพยุโรปเพื่อขับเคลื่อนนักศึกษามหาวิทยาลัย (EuRopean Community Action Scheme for the Mobility of University Students) มุ่งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนิสิตนักศึกษา คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ ของมหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิกของอีราสมุส