posttoday

พระโกศัยเจติยารักษ์ บริหารวัดด้วยหลักไตรสิกขา

15 เมษายน 2561

วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ วัดคู่บ้านคู่เมืองของ จ.แพร่

โดย  วรธาร ทัดแก้ว

วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ วัดคู่บ้านคู่เมืองของ จ.แพร่ ชาวแพร่จะให้ความเคารพบูชาพระธาตุช่อแฮและหลวงพ่อช่อแฮ พระประธานในพระอุโบสถอย่างมาก ทุกปีจะมีการจัดงานประเพณีนมัสการพระธาตุและแห่ตุงหลวงอย่างยิ่งใหญ่

ถ้าพูดในเชิงท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมถือเป็นวัดท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของ จ.แพร่ เรียกได้ว่าใครไปเที่ยวแพร่แล้วไม่ได้ขึ้นไปสักการะถือว่ามาไม่ถึงแพร่ โดยเฉพาะชาวปีเสือมักจะเดินทางมาสักการะเนืองแน่น เนื่องจากเชื่อกันว่าพระธาตุช่อแฮเป็นพระธาตุสำหรับชาวปีขาล

หากมองในเชิงการบริหารและพัฒนา ถือเป็นวัดที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบและมีแบบแผน ใครมาเที่ยวมานมัสการพระธาตุจะรู้สึกได้เลยว่าวัดบริหารอย่างมีแบบแผนเป็นระบบทั้งในด้านท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมประเพณีและอื่นๆ ปัจจุบันมีพระโกศัยเจติยารักษ์ เป็นเจ้าอาวาสและดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ด้วย

“อาตมาบริหารและพัฒนาวัดมุ่งให้เป็นไปตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล (ความเรียบร้อยดีงาม) สมาธิ (ความสงบตั้งมั่น) ปัญญา (ความรู้จริง) โดยใช้หลักสัทธรรม 3 คือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ขับเคลื่อน ทำครบทุกมิติ ทั้งปริยัติ (ศึกษาเรียนรู้) ปฏิบัติ (ลงมือทำ) ปฏิเวธ (ผลสัมฤทธิ์) เริ่มจากขั้นปริยัติคือการศึกษาของพระเณรเป็นอันดับแรก”

การศึกษาของภิกษุสามเณรวัดพระธาตุช่อแฮเป็นเรื่องที่เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันให้ความสำคัญอย่างมากและมีวิธีปฏิบัติชัดเจนว่า ผู้ที่ต้องการบวชเรียนจะต้องย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ที่วัดพระธาตุช่อแฮ (โดยความยินยอมของพ่อแม่) อาจมาเป็นเด็กวัดก่อนแล้วค่อยบวชเรียน และเมื่อบวชแล้วจะต้องเรียนนักธรรมและบาลีด้วยส่วนปริยัติสามัญทางวัดสนับสนุนอยู่แล้ว

พระโกศัยเจติยารักษ์ บริหารวัดด้วยหลักไตรสิกขา

“การศึกษาของพระเณรในส่วนนักธรรมมีชั้นตรี โท เอก บาลีมีประโยค 1-2 ถึง ป.ธ.9 ปริยัติสามัญ ม.1-6 ถ้าเรียนจบก็ไปต่อปริญญาตรี โท เอก ที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ได้ อย่างที่ จ.แพร่ มีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) วิทยาเขตแพร่อยู่ หรือต่อมหาวิทยาลัยทางโลกก็ได้อาตมาส่งเสริมเต็มที่ในเรื่องทุนโยมพ่อโยมแม่เณรไม่ต้องห่วง ขอแค่ตั้งใจเรียน ทำหน้าที่ในวัดอย่างสมบูรณ์และทำตามข้อตกลงให้ได้

เมื่อบวชแล้วต้องเรียนอย่างน้อย 3 ปี ห้ามสึกก่อน 3 ปี (อันนี้บังคับ) อย่างกลาง 6 ปี มาก 10 ปี (แล้วแต่จะอยู่ได้) ที่กำหนดเช่นนี้เพราะต้องการให้เขาเรียนและได้ความรู้จากการบวชจริงๆ เป็นประโยชน์สำหรับเขาทั้งสิ้น ถ้ารูปไหนอุตสาหะเราสนับสนุนทุนเรียน
จนจบทั้งทางธรรมบาลีและทางโลก เช่น ถ้าสอบได้ประโยค 1-2 ถวาย 2 หมื่นบาท ประโยค 3 จำนวน 3 หมื่นบาท เพิ่มขึ้นประโยคละหนึ่งหมื่นบาท ส่วนประโยค 9 จำนวน 1 แสนบาท ลองคิดดูถ้าสอบได้ทุกปีจนถึงประโยค 9 ก็ถือว่าได้เยอะมากที่จะเป็นทุนเรียนต่อหรือจะให้โยมพ่อโยมแม่ยังได้เลย

อาตมาตั้งใจพัฒนาลูกศิษย์ให้มีความรู้คู่ธรรม มีความรู้ทั้งคดีโลกและคดีธรรม ที่สำคัญต้องการสร้างศาสนทายาทที่ดี มีคุณภาพและความรู้เพื่อสืบทอดและทำงานรักษาพระพุทธศาสนา เช่น ไปเป็นเจ้าอาวาสตามวัดต่างๆ ที่เจ้าอาวาสขาดแคลน หรือไปเป็นพระธรรมทูตต่างประเทศ หรือพระวิปัสสนากรรมฐานสอนญาติโยมและชาวพุทธต่อไป”

เจ้าอาวาสวัดพระธาตุช่อแฮ กล่าวต่อว่า เมื่อทำขั้นแรกคือปริยัติแล้ว ขั้นปฏิบัติก็ได้ทำควบคู่ไปด้วย โดยมีการจัดปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดปีละหลายครั้ง โดยเฉพาะในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและวันสำคัญในโอกาสพิเศษอื่นๆ โดยจะมีพระวิปัสสนาจารย์ในวัดนำญาติโยมและชาวพุทธปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งการจัดแต่ละครั้งจะมีญาติโยมมาร่วมจำนวนมาก

พระโกศัยเจติยารักษ์ บริหารวัดด้วยหลักไตรสิกขา

“ขั้นที่สาม ปฏิเวธ เป็นเรื่องของการบริหารและจัดการวัด การรักษาผลประโยชน์ของวัดและเชื่อมโยงกับการบริหารกิจการคณะสงฆ์ ชุมชนและสังคม การที่วัดพระธาตุช่อแฮเป็นวัดท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของ จ.แพร่ เพราะเราบริหารจัดการวัดให้เกิดความโปร่งใส ใช้หลักธรรมาภิบาลเข้ามาบริหารจัดการ และใช้หลักของบวร (บ้าน วัด โรงเรียน)

เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำวัดให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนในด้านต่างๆ ทั้งด้านวัฒนธรรมประเพณี ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจโดยส่งเสริมชาวบ้านให้มีรายได้ มีเศรษฐกิจพอเพียง มีหมู่บ้านโอท็อปเพื่อการท่องเที่ยว เหล่านี้เป็นการบริหารจัดการร่วมกันระหว่างวัดกับชุมชน ท้องถิ่น ภาคราชการ ใช้หลักของบวรร่วมทำงานด้วยกัน”

พระโกศัยเจติยารักษ์ กล่าวต่อว่า รูปแบบการบริหารวัดพระธาตุช่อแฮเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ไม่ใช่วัดทำคนเดียว เราพยายามหาเครื่องมือและองค์ความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะองค์ความรู้จากการวิจัยมาใช้ในการพัฒนาวัดโดยร่วมกับภาคส่วนต่างๆ

“ครั้งแรกเราทำการวิจัยเรื่องท่องเที่ยวบริเวณรอบวัดพระธาตุช่อแฮ ในความร่วมมือของชุมชนในเขตเทศบาลตำบลช่อแฮ โดยที่ได้งบจาก สกว. ต่อมาเรามาต่อยอดการมาวิจัยเรื่องของประเพณี 12 เดือน เราก็มาดูว่าใน 12 เดือนนี้มีประเพณีใดต้องสืบทอด ประเพณีใดต้องฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ และการวิจัยครั้งนี้ก็เป็นผลให้มีการจัดงาน ประเพณีไหว้พระธาตุช่อแฮ เมืองแพร่แห่ตุงหลวง ของชุมชนชาวแพร่มาจนถึงปัจจุบัน

พระโกศัยเจติยารักษ์ บริหารวัดด้วยหลักไตรสิกขา

สิ่งที่น่าภูมิใจจากการจัดงานประเพณีไหว้พระธาตุฯ อันเป็นงานประจำ จ.แพร่ นั้นได้เป็นรูปแบบหรือโมเดลให้กับทุกอำเภอ ตำบล และหมู่บ้านต่างๆ จำนวนมากนำไปจัดงานในรูปแบบของตัวเอง เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีของท้องถิ่นตัวเอง ทุกวันนี้อาตมาก็นั่งเป็นประธานสภาวัฒนธรรมตำบลช่อแฮด้วย”  รองเจ้าคณะจังหวัดแพร่ กล่าวทิ้งท้าย