posttoday

ฉลาดทำบุญ ชาวพุทธที่ดีต้องรู้

01 มีนาคม 2561

พระพุทธศาสนาอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ตั้งแต่เริ่มสร้างชาติโดยบรรพบุรุษของเรา ไม่ว่ายุคการปกครองประเทศจะเป็นแบบไหน

โดย วรธาร ทัดแก้ว ภาพ เอพี, วรธาร

พระพุทธศาสนาอยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน ตั้งแต่เริ่มสร้างชาติโดยบรรพบุรุษของเรา ไม่ว่ายุคการปกครองประเทศจะเป็นแบบไหน ผู้ปกครองตลอดจนประชาชนต่างก็ศรัทธานับถือพระพุทธศาสนาเรื่อยมาถึงปัจจุบัน ชาวโลกต่างรู้ว่าประเทศไทยเป็นดินแดนพระพุทธศาสนาและเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก แต่จะมีใครรู้สึกไหมว่าชาวพุทธจำนวนไม่น้อยยังไม่เข้าใจวิธีการทำบุญตามแนวทางของพระพุทธศาสนาในหลายต่อหลายเรื่อง บางเรื่องเข้าใจผิดและก่อให้เกิดการปฏิบัติผิดๆ ตามกันมาจนคิดว่าถูก

วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพ็ญเดือน 3 เรียกว่า "วันมาฆบูชา" เป็นวันที่พระบรมศาสดาทรงแสดงหลักการของพระพุทธศาสนาและวิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เรียกว่า "โอวาทปาติโมกข์" (ซึ่งมีหลักการสำคัญ 3 ข้อคือ การไม่ทำความชั่วทุกชนิด การทำความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตัวเองให้ผ่องใสอยู่เสมอ) แก่พระอรหันต์ 1,250 รูป ณ วัดเวฬุวัน มหาวิหาร เขตเมืองราชคฤห์ จึงนับเป็นโอกาสดีที่ชาวพุทธจะต้อง "คิดใหม่ ทำใหม่" เป็นชาวพุทธที่ฉลาดในการทำบุญเสียที

อย่าคิดว่าการทำบุญมีแค่ทาน!

ฉลาดทำบุญ ชาวพุทธที่ดีต้องรู้

พอพูดถึงการทำบุญหลายคนก็จะนึกถึงทาน-การให้ การถวาย ซึ่งมีคำเรียกเป็นทางการว่า "ทานมัย" (บุญที่สำเร็จด้วยการให้ หรือการให้ก็เป็นบุญอย่างหนึ่ง) มาก่อนเรื่องใดๆ ยกตัวอย่าง เช่น การใส่บาตร ถวายสังฆทาน ถวายไตรจีวร ถวายเภสัชแก่พระ เป็นต้น ทำให้ถึงคราวอยากทำบุญขึ้นมาก็มักจะนึกถึงพระ นึกถึงการใส่บาตร การถวายสังฆทาน ทั้งที่ในความเป็นจริงมีวิธีทำบุญตามแนวทางพระพุทธศาสนาที่เรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ มากถึง 10 วิธี ดังนี้

1.ทานมัย หมายถึง การให้ การสละ การแบ่งปัน ไม่ว่าจะเป็นให้ข้าวของเครื่องใช้ เงินทอง ยารักษาโรค เครื่องนุ่งห่ม อาหาร หรืออะไรก็ตาม ไม่ว่าจะถวายพระหรือให้คนทั่วไป หรือสัตว์เลี้ยงก็ถือเป็นบุญทั้งสิ้น เช่น ใส่บาตรพระก็เป็นบุญ ให้เงินคนพิการก็เป็นบุญ ให้สิ่งของคนทั่วไปก็เป็นบุญ อย่างเรียกว่า การทำบุญด้วยการให้ หรือทานมัย

2.สีลมัย บุญที่เกิดจากการรักษาศีล เช่น ศีล 5 สามารถรักษาข้อไหนได้ก็รักษาข้อนั้นไปก่อน พอรักษาได้ก็ขยับไปรักษาข้ออื่นเพิ่ม เช่น ข้อ 5 การงดเว้นจากการดื่มสุราและเสพของมึนเมา ถ้าไม่มั่นใจก็ไปรักษาข้อ 2 (ไม่ลักทรัพย์) หรือ ข้อ 3 ไม่ผิดลูกเมียผัวคนอื่น อย่างนี้เรียกว่า บุญรักษาศีล

3.ภาวนามัย คือบุญภาวนา เช่น การนั่งสมาธิ ทำวัตรสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม นั่งกรรมฐาน ซึ่งสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องไปวัด หรือสำนักปฏิบัติธรรม ที่บ้าน ที่ทำงาน ในห้องน้ำก็ยังได้ บางคนไม่ต้องใช้วิธีอะไรมาก ไม่จำเป็นต้องนุ่งขาวห่มขาว ขอแค่มีสติอยู่กับตัว ทุกขณะรู้ว่าตัวเองทำอะไร อย่างนี้ก็เป็นบุญภาวนา

4.อปจายนมัย การประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนก็เป็นบุญ ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเคารพ ความอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ เช่น ด้วยการไหว้ หรือคำพูดที่แสดงถึงความเคารพ การให้เกียรติคนอื่น หรือแม้แต่การไหว้พระ ไหว้โบสถ์วิหาร ลาน พระเจดีย์ ก็เป็นบุญ

5.ไวยาวัจมัย บุญที่เกิดจากการขวนขวายช่วยเหลือ ไม่ว่างานสังคม งานส่วนรวม หรือแม้แต่การขวนขวายช่วยเหลือคนอื่นก็เป็นบุญ เช่น เวลามีงานช่วยเหลือสังคม งานบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ถ้าไม่มีเงินช่วยก็ไปช่วยออกแรง งานจิตอาสาทั้งหลายก็นับเข้าในไวยาวัจมัย

6.ปัตติทานมัย คือ การเปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมบุญด้วย ไม่ว่าจะทำบุญอะไรก็เปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมทำบุญ ไม่หวงทำคนเดียว เช่น สมมติทำบุญสร้างกุฏิพระก็ให้คนอื่นได้ร่วมด้วย ซึ่งยังรวมถึงการเปิดโอกาสให้คนอื่นมาร่วมแสดงความคิดเห็น รวมถึงการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้วก็เป็นการทำบุญในข้อนี้

7.ปัตตานุโมทนามัย การอนุโมทนาในการทำความดีหรือทำบุญของผู้อื่น เมื่อเห็นเขาทำแล้วก็รู้สึกชื่นชมยินดีไปด้วย ไม่คิดอิจฉาระแวงสงสัยในการทำความดีของ ผู้อื่น มีแต่อนุโมทนายินดี อย่างนี้ก็เป็นบุญ

8.ธัมมัสสวนมัย การฟังธรรมย่อมทำให้ได้ฟังเรื่องที่ดีมีประโยชน์ต่อสติปัญญาและการดำเนินชีวิต ไม่จำเป็นต้องไปฟังที่วัดหรือจากพระ ฟังจากเทป ซีดีหรือฟังจากผู้รู้ก็ได้ แล้วธรรมในที่นี้ก็มิได้หมายเฉพาะหลักธรรมศาสนา แต่ยังหมายรวมไปถึงเรื่องดีๆ ที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้และปัญญา ผลบุญข้อนี้จะทำให้ผู้ฟังเกิดการรู้แจ้งเห็นจริงยิ่งขึ้น

9.ธัมมเทสนามัย คือการให้ธรรมะหรือข้อคิดดีๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นเพื่อที่คนฟังจะได้นำไปปฏิบัติให้เกิดประโยชน์หรือบอกต่อคนอื่น หรือการให้คำแนะนำคนอื่นให้เขารู้จักวิธีการดำเนินชีวิตที่ดี เช่น สอนวิธีการทำงานให้ เป็นต้น อย่างนี้ก็เป็นบุญ

10.ทิฏฐุชุกรรม การทำความเห็นให้ถูกต้อง หรือปรับความคิดตัวเองให้เห็นตามความเป็นจริง เช่น ลูกบางคนเกิดมาถูกพ่อแม้ทิ้งก็หาว่าพ่อแม่ไม่มีบุญคุณต่อเพราะไม่เคยเลี้ยง อย่างนี้เรียกว่ามีความเห็นผิด ต้องทำความเห็นให้ถูกเสียใหม่ว่า ถ้าพ่อแม่ไม่มีคุณเราก็คงไม่ได้เกิดมา การที่แม่ไม่เลี้ยงคงมีความจำเป็นที่ลูกไม่รู้ บางคนบอกทำดีได้ดีมีที่ไหนทำชั่วได้ดีมีถมไป คิดอย่างนี้ถือว่าเห็นผิด ต้องทำความเห็นให้ถูก ทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว เปรียบเหมือนหว่านพืชเช่นใดย่อมได้ผลเช่นนั้น ปลูกมะม่วงต้องได้มะม่วงไม่มีทางเป็นอื่น นี่คือทิฏฐุชุกรรม

อย่าลืมบุญ 9 อย่างไม่ต้องควักกระเป๋า

ฉลาดทำบุญ ชาวพุทธที่ดีต้องรู้

น.อ.ทองย้อย แสงสินชัย เปรียญธรรม 9 ประโยค อดีตผู้อำนวยการกอง อนุศาสนาจารย์ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ กล่าวว่า เมื่อวิธีทำบุญมีมากมายให้ทุกคนได้เลือกทำตามโอกาสและเวลาที่เหมาะสมเช่นนี้ ทุกคนสามารถที่จะเลือกทำบุญอะไรก็ได้ใน 10 อย่างนี้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องเน้นไปที่การให้หรือการถวายซึ่งต้องใช้วัตถุสิ่งของหรือการใช้เงินในการทำบุญเท่านั้น

"เชื่อไหมครับวิธีทำบุญที่กล่าวมา มี 9 วิธีที่ไม่ต้องใช้เงิน หรือวัตถุสิ่งของใดๆ ในการทำเลย แต่ทำไมคนไทยจึงชอบทำแต่ทานมัยอย่างเดียว ซึ่งทานมัยนี้ต้องใช้ทรัพย์สินเงินทอง หรือใช้วัตถุสิ่งของในการทำด้วย ผมเรียกบุญนี้ว่า 'บุญควักกระเป๋า' คือเวลาทำต้องควักกระเป๋าซื้อของ ยกตัวอย่าง อยากใส่บาตรก็ต้องซื้อข้าว อาหารมาใส่ แต่บุญอย่างอื่นไม่ต้องเลย ใช้แค่แรงและสมองก็ได้บุญเหมือนกัน"

น.อ.ทองย้อย กล่าวต่อว่า ชาวพุทธที่ดีต้องรู้และฉลาดในการทำบุญ การเป็นผู้รู้และฉลาดในการทำบุญได้ก็ต้องศึกษาวิธีการทำบุญให้ดีโดยไม่ยึดติดกับการให้ทาน (ทานมัย) อย่างเดียว เพราะถ้ายึดติดกับการให้ทาน บางครั้งบางทีบางคนเห็นพระประพฤติไม่ดี หรือสื่อลงข่าวพระประพฤติเสียหายเป็นที่เสื่อมศรัทธา ชาวบ้านก็ไม่อยากทำบุญกับพระอีกต่อไป ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่พึงทำ

"อย่าไปอัดอั้นอยู่แค่ว่าพระไม่ดีแล้วไม่อยากทำบุญ ไม่อยากใส่บาตร ผมแนะว่าพระจะประพฤติตัวอย่างไรก็เป็นเรื่องของพระ ท่านทำไม่ดีไม่งามไม่น่าเลื่อมใสก็ปล่อยท่าน แต่ยังมีบุญอีก 9 อย่างที่เราทำได้และไม่เกี่ยวกับพระเลย หรือถ้าจะทำบุญด้วยการให้ก็ไม่ต้องให้พระก็ได้ ให้คนขัดสน ขอทาน หรือให้แก่สัตว์ก็เป็นบุญ อย่าติดว่าต้องใส่บาตรพระเท่านั้นเป็นบุญ ชาวพุทธเราต้องศึกษาให้รู้ครับ"

ชาวพุทธควรรู้และทำหน้าที่ตัวเอง

ต้องยอมรับอีกอย่างว่า ชาวพุทธพอเห็นพระปฏิบัติไม่ดี มีการประพฤติผิดวินัยสร้างความเสื่อมเสียให้กับวงการสงฆ์ หลายคนก็ไม่อยากทำบุญ บางคนเลิกทำบุญกับพระไปเลยก็มี กรณีอย่างนี้ น.อ.ทองย้อย ได้ให้สติว่า ชาวพุทธที่ดีต้องคิดใหม่และแยกหน้าที่ของตัวเองให้ออก และทำหน้าที่นั้นๆ ให้สมบูรณ์ ส่วนการทำตัวให้เลื่อมใสเป็นหน้าที่ของพระที่จะปฏิบัติ

"การปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามสิกขาบทหรือวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ทำตัวให้ชาวบ้านเลื่อมใสเป็นหน้าที่ของพระ ถ้าพระไม่ทำก็เป็นความบกพร่องในตัวของท่านเอง ส่วนเราชาวพุทธมีหน้าที่ทำบุญ เมื่อเห็นพระประพฤติตัวไม่ดี ทำไมเราจะต้องเลิกทำบุญ ถ้าเลิกทำบุญก็จะกลายเป็นเราบกพร่องไปอีกคน ทั้งที่ก่อนนี้ทำบุญอยู่ดีๆ มาตลอด พอเห็นพระไม่ดีก็เลิกซะงั้น อย่างนี้ไม่ได้เรียกว่าฉลาด หน้าที่ใครหน้าที่มันต้องแยกให้ออกและทำหน้าที่เราไป

เมื่อตั้งใจทำบุญ เช่น ใส่บาตรก็ให้ตั้งใจให้ใส อย่าไปกังวลว่าพระรูปนี้ประพฤติดีหรือไม่ดี ประพฤติชอบหรือเป็นอลัชชีหรือเปล่าหนอ ในเมื่อตั้งใจแล้วใจต้องใสบริสุทธิ์ ลองนึกดูว่าการให้ลูกชิ้นลูกหนึ่งแก่หมาที่ผอมโซยังได้บุญ นี่พระท่านเป็นคนถึงจะชั่วอยู่บ้างก็ยังมีความดีอยู่เยอะ ถ้าคิดอย่างนี้แล้วทำบุญจิตใจจะเป็นกุศลทำแล้วก็จะได้บุญ

หากใครมีหลักดีก็จะไม่เสียหลัก ยกตัวอย่างพระอลัชชีผมก็ไม่นับถือนะ แต่เมื่อถึงเวลาทำบุญใส่บาตรผมก็ทำและไม่คิดว่าท่านเป็นพระไม่ดี นี่คือคำแนะนำสำหรับคนที่อยากใส่บาตร ถ้าคิดอย่างนี้เรียกว่าฉลาดทำบุญ และถ้าให้ฉลาดกว่านั้นบุญอื่นๆ ก็ต้องทำด้วย เช่น รักษาศีล ช่วยงานกุศล เห็นคนอื่นทำความดีก็พลอยยินดีด้วย เป็นต้น"

ทำบุญ กับ ทำทาน เข้าใจให้ถูก

ในการทำบุญก็ต้องยอมรับอีกว่า ชาวพุทธยังเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคำว่า ทำบุญ กับ ทำทาน โดยเข้าใจว่า การทำบุญกับพระคือการทำบุญ และเข้าใจว่า ทำบุญกับคนอนาถา ขัดสน หรือทำกับสัตว์ เรียกว่า ทำทาน น.อ.ทองย้อย บอกว่า ไม่ว่าการทำบุญกับพระ หรือกับคนทั่วไป หรือกับสัตว์ก็เป็นการทำบุญเหมือนกัน เรียกว่า ทานมัย

"ภาษาไทยทำให้เราเข้าใจคลาดเคลื่อน ชาวพุทธต้องเข้าใจใหม่ ไม่ว่าถวายพระหรือให้คนธรรมดาก็เป็นบุญ เรียกว่าทำบุญด้วยการให้ นอกจากนี้ยังมีทานอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า ชีวิตทาน การให้ชีวิต หรืออภัยทาน ยกตัวอย่างเช่น การไถ่ชีวิตโคกระบือ เป็นต้น แต่ทั้งหมดทั้งมวล ทั้งใส่บาตรพระ ทั้งไถ่ชีวิตโคกระบือ ทำบุญกับคนทั่วไป หรือสัตว์ก็จัดเป็นทานมัยเหมือนกัน โปรดเข้าใจให้ถูก"

สมัยนี้เข้าใจ "สังฆทาน" ผิดเพี้ยน

ฉลาดทำบุญ ชาวพุทธที่ดีต้องรู้

การทำบุญอีกอย่างที่ชาวพุทธเข้าใจผิดคือการถวายสังฆทาน เข้าใจว่าการถวายสังฆทานจะต้องมีถังเหลืองบรรจุของใช้ต่างๆ นำไปถวายพระ น.อ.ทองย้อย ไขความกระจ่างว่า การถวายสังฆทานในปัจจุบันไม่ใช่อย่างที่หลายคนเข้าใจ สังฆทานไม่เกี่ยวกับถังเหลือง ถังเขียว หรือแพ็กเกจแบบไหนทั้งสิ้น สังฆทานคือการตั้งจิตให้เป็นกุศลแล้วน้อมถวายสิ่งของหรืออะไรก็ได้แก่สงฆ์คือพระตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไป

"เพื่อให้เข้าใจง่าย สมมติซื้อข้าวผัดห่อหนึ่งเดินเข้าไปวัด ถวายกับพระรูปไหนก็ได้ที่เจอ บอกท่านว่าผมต้องการถวายแก่สงฆ์ครับ พระรูปนั้นรับแล้วต้องนำเข้าที่ประชุมสงฆ์เพื่อประชุมปรึกษากันตามพระวินัยว่า โยมถวายข้าวผัดมาห่อหนึ่งแก่สงฆ์ไม่ได้ถวายแก่พระ ก พระ ข ตกลงจะเอายังไง ถ้าสงฆ์พิจารณาแบ่งกันก็ต้องแบ่ง ถ้ายกให้รูปที่รับมาก็ปฏิบัติตามนั้น นี้เรียกว่าสังฆทาน คือการตั้งใจถวายให้เป็นของกลางแก่สงฆ์ไม่เฉพาะเจาะจงแก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ซึ่งทานนี้ได้บุญมากกว่าการถวายพระพุทธเจ้าและพระพุทธเจ้าก็ทรงสรรเสริญด้วย"

ดังนั้น ใครที่นำของไปถวายพระไม่ว่าจะเป็นจีวร ภัตตาหาร ยารักษาโรค หรือของใช้ต่างๆ แก่หลวงพี่ หลวงพ่อ หลวงลุง หรือเจ้าอาวาสรูปนั้นรูปนี้เป็นการเฉพาะ ไม่ถือว่าเป็นการถวายสังฆทานและจะเรียกสังฆทานไม่ได้ เพราะสังฆทานต้องถวายแก่สงฆ์หรือแก่ส่วนรวมตามที่กล่าวแล้วข้างต้น

ทว่า ทุกวันนี้พระบางรูปก็ไม่รู้ที่จะแนะนำชาวบ้านว่าที่ทำกันอยู่นั้นผิด ขณะที่บางวัดก็มีการนำถังสีเหลืองที่เรียกกันผิดๆ ว่าถังสังฆทานมาเวียนให้ญาติโยมทำบุญซึ่งเป็นการผิดวินัย เพราะของเหล่านี้เป็นลหุภัณฑ์เมื่อถวายแก่สงฆ์แล้วถือว่าขาดไม่สามารถนำมาเวียนให้คนมาบูชาทำบุญอีก

พระยืนอยู่กับที่อย่าใส่บาตรและอย่าถวายเงิน

การใส่บาตรพระที่ยืนอยู่กับที่ โดยที่ไม่เดินบิณฑบาตไปตามลำดับบ้าน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีการพูดถึงความไม่เหมาะสม ซึ่งต้องยอมรับว่าพระที่ประพฤติอย่างนั้นถือว่าทำผิดพระวินัย เพราะในพระวินัยบัญญัติว่า เวลาบิณฑบาตจะต้องเดินไปตามลำดับบ้าน (สปทานจาริก)

"เมื่อก่อนคนรอใส่บาตรจะยืนรอที่หน้าบ้านของตัวเอง พระก็ต้องเดินไปรับตามลำดับ รับบ้านนี้เสร็จก็เดินไปรับบ้านข้างหน้าต่อและห้ามเลือก บางรูปเห็นว่าอาหารบ้านนี้ดูแล้วไม่น่าฉัน ก็เดินข้ามไปรับบ้านข้างหน้า อย่างนี้ทำไม่ได้เด็ดขาดถือว่าผิดวินัย อีกอย่างได้พอฉันแล้วก็กลับ ไม่ใช่ไปขนมาจนเต็มรถซาเล้งอย่างนี้ไม่ถูก ถ้าจำเป็นจะต้องถ่ายสามารถถ่ายออกจากบาตรได้ไม่เกิน 3 ครั้ง รวมครั้งที่อยู่ในบาตรด้วย"

อาจารย์ทองย้อย กล่าวว่า ถ้าเห็นพระที่ปฏิบัติด้วยการยืนบิณฑบาตนิ่งอยู่กับที่ไม่ไปไหน อย่าไปใส่บาตร ถ้าอยากใส่ก็ให้ไปที่อื่นดีกว่า หรือไปทำบุญด้วยวิธีอื่นก็ได้ เพราะต้องเข้าใจว่าบุญไม่ได้ทำได้ด้วยการใส่บาตรอย่างเดียว ถ้าขืนไปใส่บาตรกับพระที่ปฏิบัติอย่างนี้ก็เท่ากับส่งเสริมพระทำผิดวินัยไปด้วย ถ้ารู้แล้วก็อย่าไปสนับสนุนในทางที่ผิด

นอกจากนี้ การใส่บาตรพระอย่าเอาเงินใส่บาตรพระ เพราะในพระวินัยบัญญัติไม่ให้พระรับเงินรับทอง ถ้ารับถือว่าผิดต้องอาบัติปาจิตตีย์ แต่ใช่ว่าจะถวายเงินพระไม่ได้ เพียงแต่ต้องทำให้ถูกต้องตามพระวินัยเท่านั้น เรียกวิธีนั้นว่า "ปวารณา"

"ปวารณาคือการแจ้งความประสงค์แก่พระแล้วมอบเงินให้ไวยาวัจกรวัดไปดำเนินการ ซึ่งทุกวัดจะต้องมีไวยาวัจกรคือผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงินวัด ฉะนั้นถ้าใครอยากถวายเงินพระรูปไหนต้องไปที่วัดแจ้งไวยาวัจกร เช่นว่า ผมอยากถวายเงินพระจ้อย 500 บาท ไวยาวัจกรก็เปิดบัญชีพระจ้อย รับเงินแล้วไปแจ้งกับ พระจ้อยว่ามีโยมถวายมา 500 บาท ท่านอยากซื้ออะไรก็บอกผมเดี๋ยวจัดการให้ นี่คือวิธีที่ถูกต้อง แต่ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำอย่างนี้โยมถวายมาพระก็รับ พระเองก็ไม่บอกโยมว่าทำไม่ถูก เรื่องอย่างนี้ชาวพุทธต้องรู้ เพื่อจะได้ปฏิบัติให้ถูก พระเองก็ควรต้องบอกโยมว่าจะปฏิบัติอย่างไร ไม่ใช่นิ่งเฉย แต่เรื่องนี้บางวัดก็ปฏิบัติถูกตามพระวินัย"

วันนี้มาฆบูชา ถือว่าเป็นเวลาโอกาสเหมาะที่ชาวพุทธจะต้องทำบุญอย่างผู้รู้เสียที