posttoday

เรียน (ไป) ทำไม ภาษาบาลี

21 กุมภาพันธ์ 2561

ในช่วง 4-5 ปีมานี้ ประชาชนทั่วไปหันมาศึกษาภาษาบาลีมากขึ้น ขนาดที่ว่า วัดโมลีโลกยาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการก่อตั้ง "มหาบาลีวิชชาลัย"

เรื่อง/ภาพ วรธาร ทัดแก้ว

ในช่วง 4-5 ปีมานี้ ประชาชนทั่วไปหันมาศึกษาภาษาบาลีมากขึ้น ขนาดที่ว่า วัดโมลีโลกยาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการก่อตั้ง "มหาบาลีวิชชาลัย" เพื่อเปิดสอนภาษาบาลีให้กับฆราวาสได้เรียนฟรีโดยเฉพาะ ทำให้ผู้คนที่อยากเรียนอยู่แล้วแต่ไม่รู้จะไปเรียนที่ไหน จึงมุ่งไปเรียนที่วัดโมลีโลกยาราม

ก่อนหน้านั้น ฆราวาสคนใดมีความอุตสาหะใคร่ศึกษา เล่าเรียนภาษาบาลี ก็ต้องไปสอบถามเสาะหาที่เรียนด้วยตัวเอง ซึ่งสถานที่เรียนก็เป็นวัดที่เปิดสอนภาษาบาลีให้กับภิกษุสามเณร อยู่แล้วเวลาเรียนก็ไปเรียนรวมกับภิกษุสามเณร ใช้ตำราเดียวกัน ต่างกันแต่ผู้เรียนเป็นฆราวาสซึ่งเรียกว่า "ผู้เรียนบาลีศึกษา" ถึงเวลา สอบบาลีสนามหลวง (จัดปีละครั้ง) ก็ต้องลงชื่อสอบโดยสังกัดวัดใด วัดหนึ่ง แล้วแจ้งไปยังสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวงล่วงหน้าจึงมีสิทธิสอบ

ปีไหนประกาศผลสอบออกมามีฆราวาสสอบได้เปรียญสูงๆ ก็เป็นที่ฮือฮาเพราะคนเรียนน้อย อย่างเมื่อสองปีที่แล้วมีนักศึกษาหญิง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอบได้บาลีศึกษา 6 หรือเปรียญธรรม 6 ประโยค นับเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นจากหลากหลายวงการอยากมาเรียนภาษาบาลีมากขึ้น

ภาษาบาลี ทำไมต้องเรียน

การก่อตั้งมหาบาลีวิชชาลัย สถานที่เรียนบาลีสำหรับฆราวาส ได้ก่อตั้งเมื่อปี 2555 ณ วัดโมลีโลกยาราม กรุงเทพฯ โดยแนวคิดมาจากบุคคล 2 คน คือ พระเทพปริยัติโมลี (สุทัศน์ วรทสฺสี ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม และฆราวาสอีก 1 คน คือ ธฤญเดชา ลิภา เปรียญธรรม 7 ประโยค (เป็นเพื่อนกันสมัยที่ธฤญเดชายังไม่ลาสิกขา) ต่างเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาเปิดสอนภาษาบาลีสำหรับฆราวาสได้แล้ว เนื่องจากยังไม่มีที่ไหนจัดการเรียนการสอนสำหรับฆราวาสโดยเฉพาะอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ยิ่งเมื่อหันกลับมาดูสถานการณ์การศึกษาภาษาบาลีของภิกษุสามเณรในปัจจุบันไม่น่าไว้วางใจเนื่องจากเริ่มมีจำนวนผู้เรียนลดลงทุกปี

พระเทพปริยัติโมลี ประธานบริหารมหาบาลีวิชชาลัย กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการหลังจากก่อตั้งมหาบาลีวิชชาลัย คืออยากเห็นคนไทยทุกเพศทุกวัย ทุกสาขาอาชีพหันมาเรียนภาษาบาลีกันเป็นประเพณี เหมือนเช่นที่เกิดประเพณีต่างๆ มีการศึกษาเรียนรู้กันอย่างแพร่หลาย ไม่เฉพาะพระภิกษุสามเณรเท่านั้นที่ต้องเรียน แต่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้ และสามารถนำคำสอนของพระพุทธเจ้าที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกไปประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เวลาสวดมนต์ก็จะได้รู้ ความหมายและสวดถูกอักขระ หรือเวลาฟังพระเทศน์ก็จะได้ฟังอย่างเข้าใจ
"ชาวพุทธต้องไม่ลืมว่า ภาษาบาลีคือภาษาที่บรรจุคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามากมาย ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ถือเป็นภาษาที่เป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา กล่าวคือ ถ้าชาวพุทธซึ่งประกอบด้วยบริษัท 4 (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) มีความรู้ในภาษาบาลีอย่างดี คือ อ่านออก เขียนได้ แปลได้ รู้ความหมาย ก็จะทำให้เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ง่ายยิ่งขึ้น เวลาปฏิบัติก็จะผิดพลาดน้อยลงหรือไม่ผิดพลาด

เรียน (ไป) ทำไม ภาษาบาลี

ที่สำคัญ การศึกษาบาลียังเป็นการสืบต่ออายุพระศาสนา เรียนรู้แล้วก็จะปฏิบัติถูกต้อง เมื่อรู้และปฏิบัติถูกต้องไม่ผิดเพี้ยน พระพุทธศาสนาก็จะเกิดความมั่นคง การเรียนภาษาบาลีจึงไม่ใช่แค่หน้าที่ของภิกษุสามเณรเท่านั้น ฆราวาสญาติโยมจึงไม่ควรทอดธุระในการสืบต่ออายุพระศาสนา อีกอย่างทำไมเราต้องรอพระเณรมาเทศน์สอน ทั้งที่เราสามารถเรียนรู้ได้ เมื่อรู้แล้วยังสอนคนอื่นได้อีกยิ่งเกิดอานิสงส์เป็นบุญมหาศาล ดังนั้น จึงขอเชิญชวนญาติโยมมาช่วยกันรักษาคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ด้วยการเรียนบาลีให้เข้าใจ สามารถอ่านออก เขียนได้ และแปลได้กันเถิด"

ด้าน ธฤญเดชา ลิภา หนึ่งในผู้ก่อตั้งและผู้บริหารมหาบาลีวิชชาลัย กล่าวเสริมว่า ภาษาบาลีนอกจากเป็นภาษาที่รักษาไว้ซึ่งคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังมีความสำคัญต่อคนไทยในหลายด้าน เช่น เกี่ยวกับพิธีกรรมของสงฆ์หรือสังฆกรรมสำคัญๆ ต้องใช้ภาษาบาลีเป็นหลักจึงจะทำให้สังฆกรรมนั้นๆ สำเร็จสมบูรณ์ เช่น พิธีอุปสมบทจะต้องมีการสวดด้วยภาษาบาลี เป็นต้น นอกจากนี้ภาษาบาลียังข้องเกี่ยวกับคนไทยตั้งแต่เกิดจนกระทั่งละจากโลกนี้ไป

"พระพุทธศาสนาอยู่คู่กับประเทศไทยมาตลอด คนไทยนับถือพุทธศาสนามายาวนาน ขนบธรรมเนียม ประเพณี วิถีปฏิบัติของชาวไทยจึงแนบแน่นกับพระพุทธศาสนาในแทบทุกมิติตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น การทำบุญในวันสำคัญและโอกาสต่างๆ ก็จะมีการใช้ภาษาบาลีทั้งในส่วนของพระและฆราวาส เช่น ฆราวาสก็จะกล่าวคำอาราธนาต่างๆ พระสงฆ์สวดหรือเจริญพระพุทธมนต์ เป็นต้น หรือการตั้งชื่อ-นามสกุล ตั้งชื่ออาคารสถานที่ต่างๆ ก็มักจะใช้ ภาษาบาลี"

ธฤญเดชา เน้นย้ำให้เห็นว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าได้หล่อหลอมให้ชาวไทยมีความงดงามทั้งด้านจิตใจและการดำรงชีวิตเสมอมา ชาวไทยจึงมักได้รับการเรียกขานว่า เป็นผู้มีใจบุญ เป็นคนมีเมตตา และเรียกประเทศไทยว่า สยามเมืองยิ้ม อันเป็นผลจากการได้สัมผัสเกี่ยวข้องขัดเกลาผ่านทางพระพุทธศาสนาตลอดมาจนถึงปัจจุบันนั่นเอง

เรียน (ไป) ทำไม ภาษาบาลี

เรียนเพราะอยากรู้

คุณัญญา จงตระกูล กราฟฟิกดีไซน์ โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าที่มาของการเรียนบาลีที่มูลนิธิบ้านอารีย์ว่า จุดเริ่มมาจากความชอบในการสวดมนต์ตั้งแต่เด็กซึ่งไม่รู้ความหมายว่าอะไร พอโตขึ้นมีหนังสือสวดมนต์แปล ทำให้รู้ความหมายของบทสวดมนต์ แต่ก็ยังไม่รู้ว่าศัพท์ไหนแปลว่าอะไรอยู่ดี จึงคิดว่าถ้ารู้ศัพท์ก็จะทำให้เกิดความซาบซึ้งและเกิดปัญญาในคำสอนของพระพุทธเจ้ามากกว่าท่องจำโดยที่ไม่รู้ความหมาย

"ตอนแรกก่อนที่จะมาเรียนที่บ้านอารีย์เคยเรียนที่ธรรมสถานแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาก่อน แต่เรียนไม่นานก็เลิกเพราะบางวันกว่าจะเลิกงานไปเรียนก็ไม่ทันอาจารย์สอนแล้วเขาเลิกก่อน ตอนหลังพอรู้ว่าบ้านอารีย์ร่วมกับมหาบาลีวิชชาลัย วัดโมลีโลกยาราม เปิดสอนบาลีขึ้นเฉพาะวันอาทิตย์ เลยมาเรียนตั้งแต่เดือน พ.ค.ปีที่แล้ว

เริ่มเรียนเล่มนามเล่มแรก ปัจจุบันเรียนถึงอาขยาต เกี่ยวกับกริยา ธาตุ ปัจจัย พอเรียนไปก็เริ่มชอบ ไม่ได้มองว่าเป็นภาษาที่ยาก แต่มองว่าเป็นภาษาที่สำคัญภาษาหนึ่ง คือเป็นภาษาที่พระพุทธเจ้าได้ใช้สอนคน ก็เลยอยากเรียนภาษาของพระพุทธเจ้าบ้าง เรียนเพื่ออยากรู้ว่าพระองค์สอนอะไรยังไงจะได้รู้และปฏิบัติถูกต้องค่ะ"

คุณัญญา บอกว่า ต้องการเรียนไปเรื่อยๆ เพราะจุดประสงค์การเรียนของตัวเองคือเรียนเพื่อให้รู้บาลีมากที่สุด สามารถอ่านได้ เขียนได้ อ่านถูกต้อง และสามารถแปลได้บ้าง ไม่เก่งไม่เป็นไรเพราะยังไม่ได้มองถึงการสอบ แต่ต้องการใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่า เช่น การสวดมนต์ การศึกษาธรรมะ เป็นต้น

ด้าน ธนาวรรณ แย้มประเสริฐ นักวิชาการการเงินและบัญชี มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงการมาเรียนบาลีที่บ้านอารีย์ว่า เดิมเป็นคนชอบปฏิบัติธรรมและสวดมนต์ เวลามีกิจกรรมเหล่านี้ จัดอยู่ที่ไหนถ้ามีเวลาว่างและไม่ไกลเกินไปก็จะไปร่วม นอกจากนี้ยังชอบศึกษาธรรมะ ด้วยการอ่านหนังสือธรรมะ หรือหาความรู้ในอินเทอร์เน็ต

"เวลาอ่านธรรมะบางครั้งก็รู้สึกว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าลึกซึ้งน่าศึกษา มีความไพเราะ งดงามและเหมาะแก่การนำไปปฏิบัติ แต่หลายๆ ครั้งพออ่านหรือได้ฟังจากคนอื่นหรือพระเทศน์ก็จะเกิดความสงสัย เก็บไว้ไม่กล้าไปถามใคร จนวันหนึ่งอยากเรียนบาลีจึงเสาะหาว่ามีที่ไหนสอนบ้าง ก็รู้ว่าที่วัดโมลีโลกยารามเปิดสอนฆราวาส แต่ก็ไม่ได้ไปเรียน จนมูลนิธิบ้านอารีย์เปิดจึงมาเรียนเพราะเดินทางสะดวก แต่ว่าปีแรกที่มาเรียน ก็เดินทางจาก จ.ราชบุรี ทุกวันอาทิตย์ แต่ตอนนี้ย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ แล้ว"

เรียน (ไป) ทำไม ภาษาบาลี

เธอบอกจุดประสงค์ของการเรียนว่า เริ่มต้นคืออยากรู้บาลีและสวดมนต์ให้ถูกต้อง แต่พอมาเรียนจริงๆ จุดประสงค์ไม่ได้อยู่แค่การสวดมนต์ถูกต้อง แต่ได้รู้ว่าการมาเรียนนั้นผู้มาเรียน ได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาพระพุทธพจน์หรือคำสอนของพระพุทธเจ้าและเป็นการสืบต่ออายุพระศาสนา ที่สำคัญได้ก่อให้เกิดการต่อยอด จากที่อาจารย์สอนด้วยการศึกษาเพิ่มเติมด้านอื่นๆ เช่น เรียนอภิธรรม เป็นต้น

"ต้องขอบคุณอาจารย์ผู้สอนอย่างมาก ก่อนนี้แม้จะชอบสวดมนต์ ปฏิบัติธรรม แต่ถ้าถามอะไรที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนานอกเหนือจากนี้ก็จะไม่รู้อะไรเลย ดังนั้น การมาเรียนบาลีนอกจากอาจารย์จะสอนบาลีแล้วยังสอนเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาอีกมากมาย ทำให้เริ่มได้รู้เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในแง่มุมต่างๆ มากขึ้น และสามารถต่อยอด เช่น ไปเรียนด้านอื่นอย่างอภิธรรมได้ด้วย"

ด้าน อาจารย์ปรีชา แก้วทาสี อาจารย์สอนบาลีประจำมหาบาลีวิชชาลัย เล่าว่า นักเรียนบาลีที่มาเรียนยังบ้านอารีย์ส่วนใหญ่เรียนเพื่อต้องการรู้ในภาษาบาลีมากขึ้น และต้องการใช้บาลีเป็นเครื่องมือในการศึกษาและค้นคว้าธรรมะให้ดียิ่งขึ้น ไม่ได้เรียนเพื่อต้องการนำไปใช้ในการสอบบาลีสนามหลวงตามหลักสูตรของคณะสงฆ์ หรือเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยแต่อย่างใด

"วิธีการสอนของผมจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไปครับ ไม่เร่งรีบ แต่จะเน้นหลักบาลีที่สำคัญๆ ให้ทุกคนรู้และเข้าใจให้ได้ ผมรู้ดีว่าทุกคน ที่มาเรียนต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ บางคนต้องดูแลครอบครัว ซึ่งไม่มี เวลาเรียนมากเหมือนพระเณรที่จะต้องเรียนอย่างเข้มข้น เพราะฉะนั้น เวลาสอนถึงจะช้าหน่อยแต่ทุกคนเข้าใจแล้วแฮปปี้กันถ้วนหน้า

เวลาสอน เพื่อให้ทุกคนได้ผ่อนคลาย มีบรรยากาศการเรียนที่สนุกผมก็จะสอดแทรกความรู้ในเรื่องต่างๆ เป็นระยะ เช่น นำพระสูตรต่างๆ จากพระไตรปิฎก จากธรรมบทมาเล่า หรือเรื่องวินัยของพระ เช่น กรณีเกิดข่าวเชิงลบกับพระสงฆ์ หรือใครมีปัญหาอยากรู้อะไรเกี่ยวกับธรรมะ พระวินัย หรือพระสูตรก็สามารถสอบถามแลกเปลี่ยน กันได้ทุกเมื่อ แบบนี้จะทำให้ทุกคนที่มาเรียนสนุกและไม่รู้สึกเครียด" อาจารย์ปรีชาเล่าถึงวิธีการสอนให้นักเรียนไม่รู้สึกเบื่อ

หลักสูตรบาลีของมหาบาลีวิชชาลัย

ปัจจุบันหลักสูตรการเรียนบาลีสำหรับฆราวาสของมหาบาลีวิชชาลัย มีทั้งหมด 4 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรภาษาบาลีเบื้องต้น ใช้ตำราเรียนของมหาบาลีวิชชาลัยเป็นการเฉพาะ เน้นให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ทางภาษาบาลีอย่างหลากหลาย คือเข้าใจไวยากรณ์ดี สามารถแปลบาลีพื้นฐานได้ สถานที่เรียนประกอบด้วย 1.วัดโมลีโลกยาราม ทุกวันอาทิตย์ 2.มูลนิธิบ้านอารีย์ ถนนพหลโยธิน ซอย 7 ทุกวันอาทิตย์ 3.เรือนจำอำเภอแม่สอด จ.ตาก ทุกวันอังคารและวันพุธ 4.เรือนจำกลางบางขวาง จ.นนทบุรี ทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี

หลักสูตรที่ 2 บาลีไวยากรณ์ชั้นสูง เน้นให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ทางภาษาบาลีอย่างลึกซึ้ง คือเข้าใจไวยากรณ์เป็นอย่างดี เน้นความเชี่ยวชาญทั้งการแปลบาลี ฉันทลักษณ์ สัมพันธ์ และการเขียน การค้นคว้าภาษาบาลีเรียนวิชาสำคัญๆ ทางไวยากรณ์ดั้งเดิม เช่น ไวยากรณ์บาลีเบื้องต้น ปทรูปสิทธิปกรณ์ อภิธานัปปทีปิกา วุตโตทัย เป็นต้น

หลักสูตรที่ 3 บาลีศึกษา (บาลีสนามหลวง) เป็นหลักสูตรอันเดียวกันกับที่พระภิกษุสามเณรเรียนอยู่ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนภาษาบาลีเข้าสอบบาลีศึกษาเช่นเดียวกับการสอบบาลีสนามหลวงของพระภิกษุสามเณร ใช้หนังสือตำราของสนามหลวงแผนกบาลี เป็นหลัก เปิดสอนที่วัดโมลีโลกยาราม ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค.ไปจนถึง เดือน มี.ค.ปีถัดไป

หลักสูตรที่ 4 บาลีเตรียมสอบมหาวิทยาลัย (PAT 7.6) เป็นหลักสูตรที่ใช้ตำราหนังสือบาลีสนามหลวงแผนกบาลีเป็นหลัก มุ่งเน้นติวให้เด็กมัธยมปลายให้มีทักษะในการใช้ภาษาบาลีเพื่อเตรียมสอบมหาวิทยาลัย (ความถนัดทางภาษาบาลี) เปิดสอนที่วัดโมลีโลกยาราม ทุกวันอาทิตย์

ฆราวาสที่อยากเรียนภาษาบาลีหลักสูตรอะไร อยากเรียนแบบไหน อยากเรียนเพื่อจุดประสงค์ใด หรืออยากอบรมภาษาบาลีหลักสูตรระยะสั้น 3 วัน 5 วัน สามารถติดต่อทีมงานมหาบาลีวิชชาลัยได้เลย โดยเข้าไปที่เว็บไซต์วัดโมลีโลกยาราม และคลิกไปที่มหาบาลีวิชชาลัยก็แสดงข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนบาลีไว้ครบถ้วนพร้อมเบอร์โทรติดต่อ

พระเทพปริยัติโมลีให้กำลังใจแก่ผู้ที่คิดอยากเรียนบาลีว่า ภาษาบาลีเป็นภาษาของพระพุทธเจ้าที่ทรงใช้สอนชาวโลก และคำสั่งสอนนั้นก็ดำรงอยู่อย่างมั่นคงจนถึงวันนี้ได้ นั่นเพราะพุทธบริษัทพากันศึกษาและปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ ฉะนั้น ชาวพุทธทั้งหลายอย่าได้มองว่าการเรียนบาลีเป็นหน้าที่ของภิกษุสามเณรเท่านั้น แต่ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้หมด ยิ่งเรียนยิ่งรู้ ยิ่งเข้าใจพระพุทธศาสนามากขึ้น และปฏิบัติถูกต้องตามที่ทรงสอน

"น่าชื่นใจที่ตั้งแต่เปิดสอนบาลีให้กับญาติโยม ปรากฏเริ่มมีผู้มาเรียนมากขึ้นเป็นลำดับทุกปี โดยผู้เรียนแล้วสอบบาลีศึกษาแต่ละปีรวมทุกชั้นหลักร้อยขึ้น แต่ถ้ารวมผู้ที่ไม่สอบคือเรียนเพื่ออยากรู้บาลีอย่างเดียว ก็จะอยู่ที่ประมาณ 300-400 คน ต้องขออนุโมทนาในความอุตสาหะวิริยะของทุกคน ท่านเหล่านี้ถือว่ามีศรัทธาและอุตสาหะอย่างยิ่ง"

การเรียนบาลีได้เริ่มแพร่หลายไปหมู่ฆราวาสเช่นนี้ต้องชื่นชมในวิสัยทัศน์ของพระเทพปริยัติโมลี เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม และธฤญเดชา ลิภา สองผู้ก่อตั้งมหาบาลีวิชชาลัย โดยเฉพาะพระเทพปริยัติโมลี เป็นพระนักการศึกษาที่เอาจริงเอาจังในการศึกษาบาลีของพระเณรวัดโมลีโลกยารามอย่างมาก ถึงขั้นกล่าวได้ว่า สำนักเรียนวัดโมลีโลกยาราม คือ ตักศิลาด้านการเรียนบาลีในยุคนี้ โดยมีพระเณรอยู่ที่ประมาณ 400 รูป ถ้าเจ้าอาวาสไม่เก่งจริง คงทำไม่ได้