posttoday

วัดโมลีโลกยาราม สำนักเรียนเบอร์หนึ่ง กทม.

21 ธันวาคม 2552

โดย...สมาน สุดโต

โดย...สมาน สุดโต

จากการจัดอันดับสำนักเรียนภาษาบาลีที่มีผู้สอบชั้นเปรียญเอกได้มากที่สุด ในพ.ศ. 2552 วัดโมลีโลกยาราม มีผู้สอบเปรียญเอกได้ 12 รูป เป็นเปรียญ 7 ประโยค 6 รูป เปรียญ 8 ประโยค 5 รูป และเปรียญ 9 ประโยค 1 รูป อยู่ในอันดับที่ 4 แต่จากการจัดอันดับโดยเขตการปกครอง ที่แบ่งออกเป็นหนกลาง หนตะวันออก หนใต้ และหนเหนือ ยกเว้นกรุงเทพมหานครแล้ว สำนักเรียนวัดโมลีโลกยารามอยู่อันดับที่ 1 ของสำนักเรียนทั้งหมดที่มีในกรุงเทพมหานคร เมื่อมีผู้สอบได้ทุกชั้นเรียนถึง 74 รูป ชนะสำนักเรียนใหญ่เช่นวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ที่เคยครองแชมป์หลายสมัย (สอบได้ 65 รูป) และดาวรุ่งพุ่งแรงอย่างสำนักเรียนวัดบางนาใน (สอบได้ 62 รูป) และสำนักเรียนวัดเทพลีลา (สอบได้ 54 รูป)

ผู้เขียนเข้าไปดูและสัมภาษณ์อาจารย์ใหญ่พระเมธีวราภรณ์ (สุทัศน์ ป.ธ.9) ก็ได้แต่อัศจรรย์ใจ ที่พบว่าสำนักนี้ไม่มีปัจจัยส่งเสริมความเป็นอยู่ของอาจารย์และนักเรียน ไม่ว่าความสะดวกด้านอาหารขบฉันและอาคารเรียน

ทุกเช้าครูอาจารย์และนักเรียนแห่งสำนักนี้ ต้องออกบิณฑบาตเหมือนกันทุกรูป ได้อาหารมาฉันเช้าแล้วก็เผื่อไว้ฉันเพล อันเป็นมื้อสุดท้ายอีกมื้อหนึ่ง

 

วัดโมลีโลกยาราม สำนักเรียนเบอร์หนึ่ง กทม. พระเมธีวราภรณ์

ส่วนนิตยภัต หรือเงินเดือนของอาจารย์ผู้สอน ท่านทราบแล้วไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ อาจารย์ใหญ่ได้รับเพียงเดือนละ 1,700 บาท (หนึ่งพันเจ็ดร้อยบาทเท่านั้น) พระอาจารย์ผู้สอนอื่นๆ รับเพียงเดือนละ 500-600 บาท

เมื่อไปดูอาคารเรียนก็คับแคบ จนกระทั่งพระเณรเรียนพร้อมกันไม่ได้ จึงมีการระดมทุนสร้างอาคารใหม่ขึ้นมา ซึ่งวางศิลาฤกษ์ไปแล้ว แต่กว่าจะสร้างเสร็จก็อีก 2 ปีข้างหน้า เมื่อความสะดวกหรือสัปปายะอื่นๆ ขาดแคลนขนาดนี้ ทำไมสำนักเรียนนี้จึงขึ้นอยู่อันดับต้นๆ และยังเป็นที่ 1 ในกทม.ได้

ผู้ที่ตอบคำถามนี้ได้ดีต้องเป็นอาจารย์ใหญ่ ซึ่งเป็นพระราชาคณะหนุ่มผู้เสียสละและมีวิสัยทัศน์และความตั้งใจสูง ได้แก่ พระเมธีวราภรณ์ (สุทัศน์ ป.ธ.9) ผู้ยึดหลักการว่า “อาจารย์ที่เก่งที่สุด จะต้องสอนนักเรียนที่แย่ที่สุด”

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักท่านเจ้าคุณหนุ่มสักเล็กน้อย

ท่านมีพื้นเพเดิมยู่ภาคอีสาน เกิดที่ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดกลาง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ พ.ศ. 2527 เมื่ออายุ 13 ปี ตั้งใจเรียนหนังสือให้ได้ปริญญาเหมือนกับคนอื่นๆ แต่เส้นทางได้ปริญญาตอนแรกๆ ต้องเปลี่ยนไป เพราะต้องไปเรียนภาษาบาลีก่อน จนกระทั่งสอบได้เปรียญ 9 ประโยค จึงมีโอกาสได้ปริญญามาครองสมใจ และไม่ได้แค่ใบเดียว แต่คว้าระดับปริญญาโทหรือมหาบัณฑิตมา 2 ใบ จาก 2 สถาบันหลัก คือ 1.อักษรศาสตรมหาบัณฑิต (บริหารการศึกษา) จากมหาวิทยาลัยมหิดล และ 2.ครุศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี

ปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาเอกหรือดุษฎีบัณฑิต สาขาวัฒนธรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จบแล้วจะมีคำ “ดร.” นำหน้าชื่อ

ท่านเล่าว่าเส้นทางการเรียนของท่านราบรื่นพอสมควรเพราะหัวสมองค่อนข้างดี สอบไม่เคยตกเลย สอบบาลีประโยคต้นๆ ถึงป.ธ.4 ได้ที่ จ.บุรีรัมย์ ถึงพ.ศ. 2534 ย้ายมาเรียนป.ธ.5 ที่สำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  ตอนนั้นพระธรรมปริยัติโสภณ เจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยารามรูปปัจจุบัน ยังครองคณะ 8 วัดมหาธาตุ ต้องการสามเณรที่มีแววเรียนดีจากบุรีรัมย์มาอยู่ด้วย ก็พอดีว่าปีนั้นท่านเป็นสามเณรเพียงรูปเดียวแห่ง จ.บุรีรัมย์ ที่สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค จึงได้รับการคัดเลือกและอยู่ที่วัดมหาธาตุเรื่อยมาจนสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค

ครั้นเมื่อพระธรรมปริยัติโสภณย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดโมลีโลกยาราม ได้ย้ายตามมาในฐานะพระอนุจร ทั้งๆ ที่ใจยังรักวัดมหาธาตุ มาอยู่วัดโมลีโลกยารามทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ 4-5 ปี แล้วเลื่อนเป็นอาจารย์ใหญ่ และในปีพ.ศ. 2551 ได้รับการโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระเมธีวราภรณ์

ท่านเล่าถึงสภาพของวัดโมลีโลกยารามเมื่อ 10 ปีก่อนนั้นว่าเหมือนวัดร้าง พระภิกษุสามเณรมีน้อย แต่ญาติโยมอาศัยวัดอยู่เยอะ ทรัพย์สินในวัด เช่น เงินไม่มีแม้แต่บาทเดียว พระธรรมปริยัติโสภณ ขณะนั้นยังเป็นพระเทพปริยัติสุธี มาครองวัดนี้จึงเริ่มต้นจากศูนย์ มองไปที่ไหนเจอแต่ศูนย์ทั้งสิ้น

สิ่งแรกที่เจ้าอาวาสใหม่เริ่มจากศูนย์ได้แก่ การศึกษา โดยมีพระอนุจรที่มาจากคณะ 8 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ช่วยกันเต็มที่ ซึ่งพระศรีสุธรรมโมลี ป.ธ.9 เป็นอาจารย์ใหญ่ ตัวท่านเจ้าคุณยังเป็นพระเปรียญธรรมดาเป็นผู้ช่วย พร้อมทั้งพระอนุจรอื่นๆ ได้ร่วมมือกันพลิกวัดที่ท่าจะร้างให้เป็นวัดที่มีชีวิต จนเป็นสำนักเรียนดีเด่นได้ในระยะ 10 ปี ส่วนตัวท่านนั้นเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ 4-5 ปี จึงเปลี่ยนฐานะเป็นอาจารย์ใหญ่ จนถึงปัจจุบัน

ผลงานที่ประทับใจและพอใจเห็นจะเป็นผลงานเมื่อพ.ศ. 2551 ที่มีผู้สอบได้มาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นที่สุด เพราะเคยประทับใจที่สุดมาก่อนหน้านั้นแล้ว

ส่วนปี 2552 นี้ ก็เป็นปีหนึ่งที่น่าพอใจเท่านั้น มีนักเรียนที่สำนักนี้ได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวง ได้เป็นสำนักเรียนดีเด่นที่มีผู้สอบได้มากที่สุด เมื่อเทียบกับสำนักเรียนด้วยกันในกรุงเทพมหานคร ซึ่งรางวัลนี้ได้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน แต่ถึงกระนั้นยังสู้สถิติปี 2550 ไม่ได้ เพราะปีดังกล่าวมีนักเรียนทุกชั้นสอบได้ 83 รูป

เมื่อเริ่มจากศูนย์ แต่มายืนอยู่ในระดับต้นๆ ได้เพราะอะไร ท่านเจ้าคุณหนุ่มในวัย 39 ปี อาจารย์ใหญ่ที่ทุ่มเทให้กับสำนักเรียนพูดโดยไม่ลังเลว่าอยู่ที่ ใจ และเหนืออื่นใด อยู่ที่ใจเจ้าอาวาส ครู และนักเรียน

ท่านเล่าว่า พระธรรมปริยัติโสภณ (วรวิทย์ คงฺคปญฺโญ ป.ธ.8) ครั้งที่ครองคณะ 8 วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ มีชื่อทางเล่าเรียนบาลี เมื่อรับพระบัญชามาเป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวงแห่งนี้ จึงนำจุดเด่นนั้นมาสร้างชื่อที่นี่อีก

ครูผู้สอนที่นี่สำคัญและน่ายกย่องมาก แม้ว่าจะได้รับนิตยภัตเดือนละ 500-600 บาท แต่สอนกันด้วยใจ หามรุ่งหามค่ำ ไม่มีอามิส หรือปัจจัยอื่นสนับสนุน

ในฐานะอาจารย์ใหญ่ต้องทำหน้าที่บริหารและเป็นครูสอนด้วย โดยสอนวิชาไวยากรณ์ชั้นประโยค 1-2 และประโยค 8-9 สอนมาเป็นปีที่ 10 แล้ว

ที่ต้องสอนไวยากรณ์ก็ต้องการปูพื้นฐานที่แข็งให้นักเรียน

แต่บางปีก็ต้องไปช่วยสอนชั้นประโยค 4-5 ที่มีข้อบกพร่องเช่นกัน เพราะยึดหลักการว่า “อาจารย์ที่เก่งที่สุด จะต้องสอนนักเรียนที่แย่ที่สุด”

ท่านเล่าว่าที่มาอยู่อันดับต้นๆ ได้ ต้องยกเครดิตให้นักเรียน เพราะรู้กันอยู่แล้วว่าเรียนบาลีไม่ค่อยมีอนาคต พ่อแม่ก็ไม่ส่งเสริม ทางครูผู้สอนและสำนักต้องสร้างศรัทธาให้นักเรียนเห็นความสำคัญและอนาคตการเรียนบาลี  ประกอบกับเจ้าอาวาสรักการเรียนบาลีเป็นทุนเดิม ได้ส่งเสริมให้กำลังใจผู้สอบได้ประโยคสูงๆ เช่นเมื่อสอบได้ ป.ธ.9 จะมีหน้าที่การงานให้ทำ เช่น ส่งไปเป็นเจ้าคณะอำเภอต่างจังหวัด เป็นต้น

ส่วนการได้นักเรียนมาเรียนบาลีนั้น มีหลายปัจจัย เช่น สามเณรบางรูปไม่รู้จะเรียนอะไร เมื่อได้ยินข่าววัดโมลีโลกฯ จัดการสอนดีเขาก็มาเอง

ครูบาอาจารย์ส่วนมากเป็นคนต่างจังหวัด กลับบ้านไปก็ชักชวนลูกหลานให้เข้ามาบวชเรียน

วัดโมลีโลกยาราม สำนักเรียนเบอร์หนึ่ง กทม.

ปัญหาที่สำนักเรียนพบก็คือ ความไม่พร้อมของนักเรียน เช่น ไม่มีศรัทธาที่จะเรียนบาลี อ่านหนังสือไม่ออก แม้จะจบป.6 มาแล้ว เท่าที่พบเห็นมีประมาณ 80% ที่อ่านหนังสือไม่ออก จึงต้องเอามาสอนกันใหม่

การเรียนบาลีมีตัวนักเรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง ส่วนครูเป็นเพียงผู้แนะนำเทคนิคให้เท่านั้น

ส่วนการเรียนทางโลกนั้น ทางสำนักไม่ได้ปิดกั้น แต่ตั้งเงื่อนไขว่าสามเณรเมื่อสอบได้เปรียญ 7 ประโยค ก็สามารถเรียนทางโลกได้ ที่กำหนดไว้เช่นนี้เพราะกลัวว่าการเรียนทางโลกมากเท่าไร การเรียนบาลีจะทรุดลงมากเท่านั้น จึงน่าเป็นห่วงว่าในอีก 30-40 ปีข้างหน้าที่คนเรียนบาลีน้อยลง พระเณรที่รู้ศาสนธรรมคำสอนพุทธศาสนาก็น้อยตามไปด้วย

ท่านจึงฝากบอกสังคมให้รู้ว่า การเรียนธรรมบาลีนั้นเป็นการเรียนหลักพระพุทธศาสนา เป็นภารกิจและพันธกิจของเจ้าอาวาส หากเจ้าอาวาสไม่สนใจศาสนศึกษา ต้องไปปรับทัศนคติใหม่ให้เห็นว่าการศึกษาพระศาสนาเป็นทั้งหมดของศาสนา

ในอดีตเรามีคนเก่ง 10-20 คน รักษาพระศาสนาไว้ได้ แต่ทุกวันนี้เราปล่อยให้บุคลากรไปเรียนอย่างอื่นจนไม่รู้ว่าศาสนาสอนอะไร เป็นสิ่งที่เราอาจก้าวพลาดในอนาคตได้

ปัจจุบันสำนักเรียนวัดโมลีโลกยารามมีนักเรียนประโยค 12 ถึงประโยค 9 จำนวน 110 รูป ครูสอน 13 รูป ล้วนแต่เป็นผู้สอบได้ประโยค 9 ทั้งสิ้น

สุดท้ายท่านเจ้าคุณฝากให้รัฐบาลสนับสนุนการเรียนทางศาสนาเท่ากับเรียนทางโลก เช่น ค่าใช้จ่ายต่อหัว เรียนทางโลกรัฐจ่าย 1.4 หมื่นบาท แต่ทางศาสนาได้ไม่ถึง 1,000 บาท จึงอยากให้เท่าเทียมกัน

ส่วนเด็กที่ไม่สามารถเรียนภาคบังคับจนจบได้นั้น ก็ควรให้เขาเลือกมาเรียนทางศาสนา อย่าดันทุรังให้จบภาคบังคับโดยที่เขาไม่ได้อะไรเลย หากเขามาเรียนทางศาสนาจะได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

นี่คือภาพสำนักเรียนดีเด่นทางภาษาบาลีของชาวพุทธในเมืองหลวงของประเทศที่มีประชาชนนับถือพระพุทธศาสนาเป็นส่วนใหญ่ หากท่านผู้อ่านต้องการสนับสนุนส่งเสริม สำนักเรียนแห่งนี้ ติดต่อได้ที่เจ้าอาวาส โทร. 02-472-5038 หรือที่พระเมธีวราภรณ์ อาจารย์ใหญ่ โทร. 02-472-8147, 089-660-1464