posttoday

หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต

21 ธันวาคม 2552

โดย...สุรเดช สุวรรณโมรา 

โดย...สุรเดช สุวรรณโมรา 

ศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อีกรูปหนึ่งซึ่งบวชเมื่อแก่ แต่วัยไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติสู่มรรคผลคือ หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต วัดศรีจำปาชนบท ต.พังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร

มรรคาที่หลวงปู่คำดำเนินไปนั้น ไม่ได้มาเริ่มเอาเมื่อได้พบกับหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม ศิษย์เอกพระอาจารย์มั่น เมื่อพ.ศ. 2473 หากแต่เกิดมาก่อนและสั่งสมมาจนกระทั่งได้เวลาก็ผลิบานออกมา

หลวงปู่คำ นามเดิมว่า คำ เกิดในสกุลเดชภูมี ครอบครัวเกษตรกร บ้านปลาโหล ต.ปลาโหล อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ปีพ.ศ. 2424 โยมบิดาคือ นายขุนเดช เดชภูมี แต่ไม่ปรากฏนามมารดา

ท่านเป็นบุตรคนที่ 6 ของครอบครัวซึ่งมีพี่น้องด้วยกันทั้งหมด 9 คน

หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต หลวงปู่คำ ยสกุลปุตฺโต

ปีพ.ศ. 2440 ขณะอายุได้ 16 ปี บิดาสิ้นชีวิต การได้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้โยมบิดาในปีนั้น เป็นโอกาสให้ได้ลิ้มรสเพศบรรพชิตเป็นครั้งแรก ท่านไม่ได้บวชเณรหน้าไฟเป็นแต่พอพิธี หากแต่ได้ศึกษาพระปริยัติธรรม ท่องปาติโมกข์ สวดมนต์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ฯลฯ ยาวไปกระทั่งศึกษาหนังสือเทศน์จากสมุดข่อยใบลาน อักษรธรรม ภาษาขอม

กระทั่งพ.ศ. 2446 อายุครบ 21 ปี สามเณรคำ เดชภูมี ก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบ้านปลาโหล

2 ปีต่อมาท่านก็ลาสิกขา เป็นการยุติชีวิตในผ้าเหลืองภาคแรกซึ่งกินเวลาทั้งหมดราว 8 ปี

เล่ากันมาว่า หลวงปู่คำเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดมาตั้งแต่เด็ก ไม่ชอบทำบาป ไม่เบียดเบียนผู้อื่น

นิสัยอาริยะอย่างหนึ่งคือ ทำมากกว่าพูด ทำอะไรทำจริงแต่ไม่ชอบพูด ถ้าพูดก็พูดตรงไปตรงมา อาจเพราะเช่นนี้จึงมีบารมีสั่งสมมาแต่ไหนแต่ไร อยู่กับหมู่พวกเขาก็ยกให้เป็นผู้นำเป็นหัวหน้า กับชาวบ้านทั่วไปเขาก็เรียกท่านว่า “อาจารย์คำ”

พ.ศ. 2448 หนุ่มคำได้แต่งงานกับสาว เคน สาขามุละ ใช้ชีวิตภาคที่ 3 อยู่ในภาคฆราวาสถึง 26 ปี ประกอบสัมมาชีพสร้างหลักปักฐาน มีบุตรธิดาถึง 6 คน

ลุถึงปีพ.ศ. 2473 พออายุได้ 49 ปี เมื่อเห็นครอบครัวพออยู่พอกิน ลูกเต้าพอพึ่งตนเองได้แล้วท่านก็เตรียมผินหลังให้ชีวิตทางโลกกลับเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพักตร์อีกครั้งหนึ่ง
จะเป็นเพราะธรรมจัดสรรหรือบุญกรรมร่วมกันมาแต่หนหลังก็มิทราบได้ พอท่านตั้งใจจะอุปสมบทได้ไม่นานนัก พระอาจารย์สิงห์ พร้อมกับพระมหาปิ่น ปัญญาพโล น้องชายของท่าน ก็ได้ยาตรากองทัพธรรมมาถึงบ้านปลาโหลพอดี

เหล่าพ่อแม่ครูอาจารย์ได้พักธุดงค์อยู่ที่ป่าช้าบ้านปลาโหล ซึ่งปัจจุบันก็คือ วัดป่ารัตนโสภณ บ้านปลาโหล พอได้ไปทำบุญเและเห็นข้อวัตรปฏิบัติของพ่อแม่ครูอาจารย์เหล่านั้นแล้ว นายคำก็ขอปวารณาตัวเป็นศิษย์ ออกติดตามพระอาจารย์สิงห์ไป

พระอาจารย์สิงห์และพระอาจารย์มหาปิ่นให้นายคำบวชเป็นผ้าขาวเพื่อดูอุปนิสัยก่อนตามขนบของพระป่า ระหว่างเป็นฆราวาสถือศีล 8 ติดตามไปนั้น พ่อแม่ครูอาจารย์ก็สอนให้รู้จักวิธีภาวนา การเดินจงกรม และข้อวัตรปฏิบัติทั้งหลาย

ตามประวัติที่เล่ากันมานั้น ระบุว่า ช่วงนั้นพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้ธุดงค์มาพักภาวนาอยู่ที่ จ.สกลนคร พอดี พระอาจารย์สิงห์และพระอาจารย์มหาปิ่นจึงพาท่านไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติตรงจากบุรพาจารย์ทั้งสองรูป จากนั้นจึงนำอุปสมบทที่วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพกวี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสาสนูปกรณ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูประสาทศาสนกิจ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

นายคำ เดชภูมี จึงเริ่มชีวิตภาคที่ 4 เป็นภาคจบในนาม “คำ ยสกุลปุตฺโต” นับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

เป็นชีวิตภาคสุดท้าย ไม่มีภาคอื่นอีกแล้ว

หลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้มาจำพรรษา ณ วัดศรีโพนเมือง ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร ต่อมาได้ออกเดินธุดงค์ไปภูลังการ่วมกับพระอาจารย์วัง ฐิติสาโร ก่อนเข้าสู่สำนักบ้านหนองผือ ร่วมจำพรรษากับพระอาจารย์ใหญ่มั่น ที่ ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

ท่านเป็นศิษย์อีกรูปหนึ่งที่ได้รับการอบรมสั่งสอนโดยตรงจากพระอาจารย์มั่น น่าเสียดายว่า ไม่มีการบันทึกข้อธรรมที่ท่านได้รับจากครูบาอาจารย์ไว้ให้ตกทอดถึงคนรุ่นหลัง รวมทั้งประวัติในรายละเอียดของการบำเพ็ญภาวนา หากแต่มีการบอกเล่าไว้แต่คร่าวๆ ว่า ท่านมีสหธรรมิกและได้ออกธุดงค์ร่วมกับพ่อแม่ครูอาจารย์หลายรูปซึ่งล้วนแต่เป็นศิษย์รุ่นใหญ่ของพระอาจารย์มั่น อาทิ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดนิโครธาราม อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี, หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร, หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ อ.วังสะพุง จ.เลย, หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร วัดถ้ำผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย ฯลฯ

เรื่องราวของหลวงปู่คำอาจจะไม่โลดโผนโจนทะยานเหมือนภิกษุรูปอื่น เพราะอัธยาศัยเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ท่านคงจะวิเวกไปทั่วเทือกเขาภูพานและหลีกเร้นไปเช่นเดียวกับพระป่าหลายๆ รูป แต่มีเหตุต้องให้มาปักหลักอยู่ที่วัดศรีจำปาชนบท ต.พังโคน อ.พังโคน จ.สกลนคร เพราะในปีพ.ศ. 2483 ขุนศรีปทุมวงศ์ เจ้าเมืองสกลนคร และนางหล้า ศรีปทุมวงศ์ น้องเขยและน้องสาวของท่าน มีจิตศรัทธาบริจาคที่ดินเพื่อสร้างเป็นวัด จึงได้ไปกราบอาราธนาท่านจากป่าช้าบ้านปลาโหลมาดูที่ดินผืนดังกล่าวซึ่งอยู่ที่บ้านพังโคน ต.ม่วงไข่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ปัจจุบันคือ บ้านพังโคน ต.พังโคน อ.พังโคน

หลังรับมอบที่ดินมาแล้ว หลวงปู่คำก็ได้สร้างสำนักปฏิบัติธรรม อบรมชาว อ.พังโคน จนพัฒนามาเป็นวัด “ศรีจำปาชนบท” โดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ปีพ.ศ. 2511

งานหนักที่สุดของหลวงปู่คำและพระกรรมฐานยุคนั้นคือ ปลุกให้ชาวบ้านตื่นจากการหลงใหลในการทรงเจ้าเข้าผี ให้รู้จักไตรสรณคมน์ รู้จักพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ให้ไปเลี้ยงผี บวงสรวงปู่เจ้าเข้าทรงและการงานของหลวงปู่คำก็ทำให้ประทีปแห่งธรรมเรืองรองขึ้นในแถบนั้น

หลวงปู่คำเป็นพระสุปฏิปันโน เคร่งครัดในหลักพระธรรมวินัย และมั่นคงในการปฏิบัติภาวนา

ท่านเจริญในธรรมและเจริญในวัยวุฒิ จนเป็นพระมหาสมณะ มากระทั่งวันที่ 5 ส.ค. ปีพ.ศ. 2520 ถึงมรณภาพด้วยโรคชรา ณ วัดศรีจำปาชนบท ที่ท่านก่อร่างสร้างขึ้นมา สิริรวมอายุได้ 96 ปี พรรษา 42 พรรษา เหล่าศิษยานุศิษย์ได้ถวายเพลิง เมื่อวันที่ 21 ก.พ. ปีพ.ศ. 2521