posttoday

ยิ่งสบาย ยิ่งอ่อนแอ

21 ธันวาคม 2552

โดย...ณศักต์ อัจจิมาธร

โดย...ณศักต์ อัจจิมาธร

หากปล่อยตัวปล่อยใจให้ชาชินกับความสบายที่ได้รับ ไม่ช้าก็เร็วความสบายเหล่านั้นจะฉุดเราลงเหว...

หลังจากใช้เวลาพักใหญ่ก่อร่างสร้างตัวจนมีที่ทางของตัวเองพอควรบนถนนสายธุรกิจ ชายหนุ่มบางคนก็เผลอเสพติดความสบายเข้าโดยไม่รู้ตัว

ร้านอาหาร 2 แห่งที่มีชื่อของเขาเป็นเจ้าของ ทำให้ชายหนุ่มมีรายได้เดือนละนับแสนบาท ยิ่งได้เงิน ชีวิตยิ่งสบาย จะไขว่คว้าหาสิ่งใดก็ดูเหมือนจะสะดวกไปหมดทุกอย่าง รายได้ที่หมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เขาคิดว่าธุรกิจที่ทำอยู่คงไม่จำเป็นต้องลงไปแตะต้องอะไรเพิ่มเติม เพราะแค่ที่เป็นอยู่ก็สามารถสร้างความสบายให้กับเขาไปได้ตลอดชีวิตแล้ว

ระหว่างการพบปะแลกเปลี่ยนเรื่องราวความเป็นไปในชีวิตในงานเลี้ยงรุ่นประจำปี เพื่อนคนหนึ่งก็เอ่ยปากเตือนชายหนุ่มถึงอนาคตอันไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจในโลกนี้
เพื่อนแนะว่า “ถ้าไม่ปรับตัวแต่เนิ่นๆ ถึงเวลาปัญหาเกิด จะปรับตัวไม่ทัน”

ชายหนุ่มยิ้มเล็กน้อย ก่อนตอบว่า “ไม่ต้องปรับหรอก แค่นี้ก็อยู่ได้สบายแล้ว” เขาเชื่อมั่นว่าธุรกิจที่กำลังดำเนินอยู่มี ความมั่นคงเพียงพอที่จะเผชิญความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น

ความสบายทำให้ชายหนุ่มมองไม่เห็นพายุร้ายที่กำลังก่อตัวขึ้น และไม่นานความสบายที่คุ้นชินก็พัดผ่านชายหนุ่มไปอย่างรวดเร็ว...

วิกฤตเศรษฐกิจที่แผ่ขยายข้ามโลกราวกับเชื้อไวรัส ทำให้รายได้จากร้านอาหารหดวูบลงจนไม่เพียงพอกับรายจ่ายที่เกิดขึ้น ความสบายที่เคยได้รับ กลับเปลี่ยนเป็นความลำบากอย่างสาหัส

เมื่อไม่ได้เตรียมตัวรับวิกฤตมาก่อน หนทางแก้ไขจึงเต็มไปด้วยความเจ็บปวด

ชายหนุ่มยอมรับกับเพื่อนว่า วันที่ต้องขายร้านอาหารทั้งสองแห่งที่สร้างมากับมือ ในราคาที่ต่ำจนแทบรับไม่ได้เพื่อให้ชีวิตผ่านพ้นจากวิกฤตนั้น เป็นอะไรที่ปวดใจ ยิ่งนัก

“ความสบายมันฆ่าเราได้จริงๆ” เขาทิ้งท้าย

หากได้อยู่ในที่ใดที่หนึ่งสักระยะจนเกิดความคุ้นชิน เราก็มักจะพบว่าความสบายที่เกิดขึ้นจากการที่ได้อยู่ในที่แห่งนั้น ทำให้เราไม่คิดที่จะปรับเปลี่ยนสิ่งที่เป็นอยู่ เนื่องจากเห็นว่าสิ่งที่เป็นอยู่ ดีอยู่แล้ว เหมาะควรอยู่แล้ว

เมื่อถูกขอร้องให้เปลี่ยนแปลง หลายคนจึงมักมีคำตอบในใจว่า “จะเปลี่ยนไปทำไมให้ลำบาก ที่เป็นอยู่ก็ดีอยู่แล้ว”

หากไม่ยอมเตือนสติให้รู้เท่าทันความสบายที่ได้รับ การเผลอไผลไปกับความสบายที่เกิดขึ้น ก็ย่อมทำให้เราอ่อนแอลงโดยไม่รู้ตัว

ใครบางคนพบว่า การติดความสบายจากการเดินทางไปทำงานด้วยการขับรถส่วนตัวมาทุกวันนั้น ทำให้ทักษะการขึ้นรถเมล์อ่อนแอลงอย่างน่าตกใจ

ในวันที่รถส่วนตัวต้องจอดซ่อมอยู่ในอู่ และจำเป็นต้องขึ้นรถเมล์มาทำงานแทนนั้น ก็ทำให้รู้สึกตกใจว่าไม่ใช่แค่เพียงจำไม่ได้ว่ารถเมล์สายไหนวิ่งไปยังที่ใดบ้าง หากแต่บางครั้งยังเลอะเลือนว่า ค่ารถในแต่ละเที่ยวนั้นมีราคาเท่าไหร่

ขณะที่บางคนก็ถูกความสบายทำให้อ่อนแอลงในการงานที่ทำอยู่

ความสบายทำให้บางคนเฝ้าค้นหาสิ่งใหม่ๆ ในงานที่ทำอยู่น้อยลง เพราะคิดว่าสิ่งที่ทำดีอยู่แล้ว สบายอยู่แล้ว และไปว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่นับความเร็วกันเป็นวินาที ขยับตัวช้าเพียงไม่กี่ก้าว ก็อาจทำให้ตกขบวนรถไฟแห่งการพัฒนาเอาได้ง่ายๆ

เมื่อรู้สึกว่ากำลังได้รับความสบายมากจนเกินไป ชายหนุ่มจึงมักคิดถึงคำสอนที่เคยได้รับจากครูบาอาจารย์...

“ทำแล้วอย่าติด ติดแล้วอย่าทำ” ถ้อยคำของอาจารย์ผู้อาวุโสกระตุกสติของศิษย์ให้กลับคืนมาอยู่เสมอ ในยามที่ศิษย์เริ่มติดความสบายจนละความเพียรในการงานหน้าที่ที่ทำอยู่ตรงหน้า

ใครบางคนที่เคยผ่านการต่อสู้กับอาการเสพติดความสบาย จนสามารถก้าวข้ามพ้นมาได้ บอกเล่าประสบการณ์บางตอนให้ฟังว่า

“เมื่อเรายืน เราก็อยากนั่ง เมื่อเรานั่ง เราก็อยากนอน เมื่อเรานอน เราก็จะนอนอยู่อย่างนั้น เพราะมันสบายที่สุด นอนไปนอนมา ให้กลับไปยืนอีกครั้งเลยยืนไม่เป็น ทีนี้เมื่ออยากนอน เราจึงต้องยืน เมื่ออยากยืนเราจึงต้องนั่ง ให้มันขัดกันอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ไม่ทำไม่ได้ เดี๋ยวมันติดเอา ติดสบายแล้วมันมองไม่เห็นตัวเอง”

สำหรับสมณะผู้มีงานหลักในการผลาญกิเลสนั้น ความสบายเป็นสิ่งที่ต้องสยบให้สิ้น ระหว่างเส้นทางสู่ฟากฝั่งแห่งมรรคาของท่านจึงเต็มไปด้วยเรื่องของการหักกิเลสด้วยการหันหลังให้ความสบาย

เมื่อครั้งที่ ท่านพ่อลี ธัมมธโร พระอริยะแห่งวัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ หักด่านกิเลสได้สำเร็จ ท่านเดินทางมาภาวนาที่เขาฉกรรจ์ อ.สระแก้ว จ.ปราจีนบุรี

ถ้ำเขาฉกรรจ์นั้นมี 3 ชั้น ท่านได้ทำบันไดไม้ไผ่เพื่อไต่ขึ้นไปนั่งภาวนาบนชั้นสูงสุด พอไต่ขึ้นไปถึงแล้ว ท่านก็ให้พระชักบันไดออกแล้วบอกว่า “จะปฏิบัติย่างกิเลส 15 วัน งดหมดเรื่องอาหารการกินภายใน 15 วัน จะขอฉันน้ำกาเดียวเท่านั้น ถ้าไม่ได้จะไม่ลง ยอมตาย”

15 วันผ่านไป พระที่รออยู่ก็เอาบันไดไปเทียบรอ ท่านก็ลงมา ผลแห่งการปฏิบัติถูกเฉลยผ่านคำสั้นๆ ที่กินความอันยิ่งใหญ่ว่า “สมความประสงค์”

วันใดก็ตามที่เริ่มรู้สึกว่า สิ่งที่อยู่ สิ่งที่ทำ สิ่งที่เป็น สร้างความสบายให้กับตัวเราแล้ว วันนั้นอาจเป็นวันที่เราจำเป็นต้องทบทวนตัวเองให้หนักยิ่งไปกว่าเดิม

เราอาจต้องถามตัวเองให้ชัดว่า เรากำลังติดความสบายอยู่หรือไม่ วัตรปฏิบัติหรืออะไรต่อมิอะไรที่เคยทำอยู่ เราได้ทำ ได้ใส่ใจ อย่างที่ควรจะเป็นหรือเปล่า

ฉะนั้น การไม่อ่อนข้อให้กับความสบายมากจนเกินไป และการพยายามฝึกฝนเคี่ยวกรำตัวเองให้ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง เพื่อก้าวไปข้างหน้าอยู่เสมอ ย่อมเป็นเกราะคุ้มกันให้เราไม่เผลอติดความสบายมากจนเกินไป

อย่างน้อยแม้บางครั้งเราอาจถูกความสบายทำให้อ่อนแอลงไปบ้าง แต่การที่จะกลับมาแข็งแรงอีกหน ก็คงไม่ใช่เรื่องยากมากนัก