posttoday

ความอัศจรรย์ในงานออกพระเมรุมาศ พระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9

26 พฤศจิกายน 2560

วันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา ผมไปสนามหลวงแต่เช้าตรู่เพื่อชมพระเมรุมาศและชมนิทรรศการ ณ พระที่นั่งทรงธรรม

โดย ส.สต

วันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา ผมไปสนามหลวงแต่เช้าตรู่เพื่อชมพระเมรุมาศและชมนิทรรศการ ณ พระที่นั่งทรงธรรม

พระเมรุมาศนั้นทรงคุณค่าทางด้านวัฒนธรรม ศิลปกรรม และสถาปัตยกรรมมหาศาล บ่งบอกถึงความสามารถของช่างไทยนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่สร้างสรรค์วิมานแห่งสรวงสวรรค์มาประดิษฐานบนพื้นปฐพีได้อย่างน่าอัศจรรย์

ส่วนนิทรรศการ

ความอัศจรรย์ในงานออกพระเมรุมาศ พระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9

ณ พระที่นั่งทรงธรรม เมื่อเข้าไปชมจะได้สัมผัสพระบารมีปกเกล้าพระผู้ทรงเป็นนิรันดร์อย่างแท้จริง ตั้งแต่พระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ เมื่อเสด็จอวตาร นิทรรศการแสดงพระราชประวัติ พระราชจริยาวัตร ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ จนถึงเมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา และทรงครองสิริราชสมบัติ

รัชกาลที่ร่มเย็น นิทรรศการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการทรงงานด้านต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร นับตั้งแต่การเสด็จฯ ไปเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร รวมถึงโครงการออกแบบและทดลองด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชนชาวไทย

เพ็ญพระราชธรรม นิทรรศการเกี่ยวกับทศพิธราชธรรม เนื้อความครอบคลุมธรรมะสำหรับผู้ปกครอง 10 ประการ จากหนังสือ พระเจ้าอยู่หัวแห่งประเทศไทย ทรงครองราชย์ครบหมื่นวัน ซึ่งจัดพิมพ์พระราชทานในงานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ปัณรสมวาร ถวายพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

นำพระราชไมตรี นิทรรศการด้านการทรงงานด้านการต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไม่ว่าจะเป็นการเสด็จออกทรงรับพระราชอาคันตุกะ และการเสด็จฯ เยือนนานาประเทศ นำมาซึ่งความสัมพันธ์ ความเข้าใจ และความร่วมมือระหว่างประเทศมาจนถึงปัจจุบัน

พระจักรีนิวัตฟ้า นิทรรศการประมวลภาพประชาชนหลั่งไหลมาเฝ้าฯ ส่งเสด็จขบวนพระบรมศพ ไปจนถึงการกราบถวายบังคมพระบรมศพ ตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค. 2559-5 ต.ค. 2560 พร้อมทั้งผู้นำประเทศต่างๆ ที่ร่วมแสดงความอาลัย

ที่ประตูทางออกพระที่นั่งทรงธรรม ก็มีพระบรมฉายาลักษณ์ที่ยกพระหัตถ์โบก ว่าพระจักรีนิวัตฟ้า

ความอัศจรรย์ในงานออกพระเมรุมาศ พระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9

เครื่องสังเค็ด

ส่วนเครื่องสังเค็ด และตาลปัตร พัดรอง ที่ผมให้รายละเอียด เพราะเครื่องสังเค็ด ประกอบด้วย ตู้พระไตรปิฎก ธรรมาสน์สำหรับพระสวดปาติโมกข์ และหีบหนังสือพระปาติโมกข์ จัดถวายพระอารามหลวงเพียง 41 พระอาราม ในขณะที่ตาลปัตร พัดรอง ก็จัดถวายพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์ที่ได้รับนิมนต์ไปในพระราชพิธีเท่านั้น จึงนำภาพแและรายละเอียดที่จัดนิทรรศการ ณ พระที่นั่งทรงธรรมและศาลาลูกขุนมาสำแดงไว้ จะได้เห็นกันทั่วๆ

ตู้สังเค็ด

แนวความคิดในการออกแบบหยด พระเสโทที่พระองค์ทุ่มเทพระวรกายเพื่อพัฒนาประเทศชาติในทุกๆ ด้าน ดั่งรูปหยดน้ำ พระปรมาภิไธย ภ.ป.ร. ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญรุ่งเรืองในน้ำมีปลาในนา มีข้าว ดั่งดอกราชพฤกษ์สีทองอร่าม รูปกระต่ายด้านซ้ายแทนปีพระราชสมภพ รูปลิงด้านขวาแทนปีสวรรคต ทรงยึดสัจวาจา เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ดั่งรูปพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาล และพระพุทธรูปปางห้ามญาติประจำวันพระราชสมภพ ทรงสอนให้คนไทยมีความเพียรมุ่งมั่นเพื่อฝ่าฟันอุปสรรคให้ผ่านพ้นไปได้ดังพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนก ทรงลงพื้นที่ทุกแห่งหนตำบลเขตแดน ทรงทำนุบำรุงศาสนาจนเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติ ดั่งลายรักร้อย รัก สามัคคี ทรงตระหนักถึงปัญหาและคุณค่าของน้ำ ทำให้เกิดโครงการต่างๆ ตามแนวพระราชดำริ ดั่งขาตู้ที่แสดงเป็นคลื่นน้ำ

รูปแบบศิลปกรรม

ตู้ใส่หนังสือ 2 ชั้น รูปทรงสอบเข้าหน้าบันทรง 3 เหลี่ยมมีพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.ในซุ้มดอกบัวเป็นรูปหยดน้ำ ถัดลงมาด้านซ้ายจะเป็นรูปนักษัตรปีเถาะ ด้านขวาเป็นรูปนักษัตรปีวอก ประตูของตู้เป็นกระจกพ่นทราย ด้านซ้ายบนเป็นรูปพระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ 9 ด้านขวาบนจะเป็นพระพุทธรูปประจำพระชน มวาร (วันจันทร์) ด้านขวาล่างเป็นรูป พระมหาชนกว่ายน้ำเจ็ดวันเจ็ดคืน ด้านขวาล่างเป็นรูป นางมณีเมขลาภายในกรอบดอกราชพฤกษ์ ฐานเป็นขาสิงห์ เป็นรูปคลื่นน้ำแกะสลักไม้ปิดทอง ฉลุฐานโปร่ง

การสร้างเครื่องสังเค็ด

ความอัศจรรย์ในงานออกพระเมรุมาศ พระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9

ส่วนการดำเนินการสร้างเครื่องสังเค็ด 41 ชุดนั้น ชรินทร์ ฉายอรุณ หัวหน้ากลุ่มงานช่างแกะสลักและช่างไม้ประณีต สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร กล่าวว่า กลุ่มงานช่างแกะสลักฯ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการแกะสลักลวดลายไม้เครื่องสังเค็ดใน พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เคยเล่าให้ผู้สื่อข่าวฟังว่า เครื่องสังเค็ดประกอบด้วย 1.หีบพระปาติโมกข์ 2.ธรรมาสน์สวดพระปาติโมกข์ และ 3.ตู้ พระไตรปิฎก ซึ่งการดำเนินงานจะใช้ไม้สัก มาจัดสร้างทั้งหมดโดยคัดเลือกไม้ที่มีคุณภาพเพื่อให้งานแกะสลักมีความงดงามสมพระเกียรติที่สุด โดยล่าสุดได้ทำการแกะสลักต้นแบบลวดลายไม้เพื่อใช้สำหรับเป็นต้นแบบ ให้ช่างได้นำไปเป็นแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะต้องจัด สร้างทั้งหมดอย่างละ 41 ชุด เพื่อนำไปถวายยังพระอารามหลวงตามที่สำนักพระราชวังกำหนดไว้

สำหรับในส่วนของหีบพระปาติโมกข์ ได้ทำการแกะสลักลายตามร่างแบบ ประกอบด้วยลายหน้ากระดาน ลายประจำยามบัวคว่ำ บัวหงาย ลายบัวปากฐานแข้งสิงห์ ลูกฟักก้ามปู ซึ่งทุกด้านจะแกะสลักเป็นลวดลายเดียวกัน แต่ด้วยเพราะงานแกะสลักแต่ละชิ้นมีความละเอียดอ่อนทั้งยังมีรายละเอียดซับซ้อน จึงต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญงาน ขณะนี้มีช่างแกะสลักไม้ของช่างสิบหมู่จำนวน 10 คน ร่วมกันดำเนินงาน แต่ละชิ้นงานคาดว่าจะใช้เวลาแกะสลักอย่างน้อย 2 สัปดาห์

พัดรอง 3 แบบ

ความอัศจรรย์ในงานออกพระเมรุมาศ พระบรมศพในหลวงรัชกาลที่ 9

สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการออกแบบและเขียนแบบพัดรองในงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพฯ ซึ่งมีการจัดสร้างพัดรองถวายพระภิกษุในงานพระราชพิธีครั้งนี้ โดยแบ่งเป็น 3 รูปแบบ

แบบที่ 1 พัดรองสำหรับพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ-ภายในพัดมีการอัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.ประดิษฐานกึ่งกลางพระบรมโกศประดับอัญมณีเหนือบัลลังก์บุษบกเกริน ประดับอัญมณี ภายใต้ฉัตรทองฉลุลวดลาย 9 ชั้น และฉัตรทองฉลุลวดลาย 5 ชั้น เป็นบริวารประกอบพระบรมราชอิสริยยศทั้งซ้าย-ขวา พื้นหลังประดับด้วยลายดอกไม้ร่วงประดับอัญมณีมีรัศมีกระจายโดยรอบมีอักษรคำว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พุทธศักราช ๒๕๖๐ จารึกอยู่ โดยรอบพัดและนมพัดเป็นโลหะสีทอง ฉลุลวดลายภายใต้ พระมหาพิชัยมงกุฎ ภายในเป็นลายนูนรูป พระเมรุมาศประกอบอยู่ด้านล่างของพัด สีของพัดรองเป็นโทนสีฟ้า-เหลือทอง

แบบที่ 2 พัดรองสำหรับบรรพชิตจีน-ญวน พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลออกพระเมรุมาศ ภายในมีการอัญเชิญอักษรพระปรมาภิไธย ภ.ป.ร.ประดิษฐานอยู่กึ่งกลางภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ พื้นหลังเป็นรัศมีเปล่งกระจายโดยรอบและประดับอัญมณีมีอักษรว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พุทธศักราช ๒๕๖๐ จารึกอยู่ภายใน ซึ่งประดิษฐานอยู่โดยรอบพัดและนมพัดเป็นโลหะสีทอง ภายในสลักลายนูนเป็นเลข ๙ ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฎ กึ่งกลางประกอบอยู่ด้านล่างของพัด

แบบที่ 3 พัดรองสำหรับพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระบรมอัฐิ ภายใต้พัดประดับพระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ 9 ประกอบด้วยเบญจราชกกุธภัณฑ์และมีแพรแถบรองรับอยู่เบื้องล่าง พร้อมอักษรคำว่า พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระบรมอัฐิ พุทธศักราช ๒๕๖๐ จารึกอยู่ภายใน ประดิษฐานอยู่กึ่งกลางเหนือบัลลังก์บุษบกเกริน ภายใต้พระมหาเศวตรฉัตรและ ฉัตรขาว 7 ชั้น ประกอบพระบรมราชอิสริยยศทั้งซ้าย-ขวา พื้นหลังเป็นรัศมีเปล่งประกาย โดยรอบ มีอักษรคำว่า พระบาทสมเด็จ พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลา ธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พุทธศักราช ๒๕๖๐ จารึกอยู่บนแพรแถบ ประดิษฐานอยู่โดยรอบพัดและนมพัดเป็นโลหะสีทองภายในสลักนูนเป็นเลข ๙ ภายใต้ พระมหาพิชัยมงกุฎอยู่กึ่งกลางประกอบอยู่ด้านล่าง ของพัด สีของพัดรองเป็นโทนสีเหลือง-ทอง สีวันพระราชสมภพในรัชกาลที่ 9

ท่านที่ต้องการซึมซับความอัศจรรย์ ไม่ควรพลาดครับ