posttoday

จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 9

19 พฤศจิกายน 2560

ประชาชนชาวไทยส่วนมากสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเสมอ ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9

โดย ส.สต

ประชาชนชาวไทยส่วนมากสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเสมอ ว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงเป็นศิลปินในศิลปะสมัยใหม่ในหลายๆ ด้าน แต่น้อยคนที่ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงสนพระทัยและเข้าพระทัยอย่างลึกซึ้งในจิตรกรรมฝาผนัง อันเป็นงานศิลปวัฒนธรรมไทยโบราณ ที่พระองค์ทรงฝากไว้ที่ฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นศิลปะสมัยรัชกาลที่ 9

พระอัจฉริยภาพในจิตรกรรมฝาผนัง ในพระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง เลอเลิศมาก ดังที่ อารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากร ในขณะนั้น เขียนคำนำในหนังสือ ชุด จิตรกรรมฝาผนังพระพุทธรัตนสถาน ตามแนวพระราชดำริ ว่า เป็นงานสร้างสรรค์จากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นอัครศิลปินชาวไทย ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวยุติได้ว่าจิตรกรรมทั้ง 8 ช่อง ในพระพุทธรัตนสถาน คือศิลปกรรมรัชกาลที่ 9

จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 9

ความเป็นมาของจิตรกรรมดังกล่าว สืบเนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชกระแสให้กรมศิลปากร เปลี่ยนจิตรกรรมฝาผนังซึ่งเขียนเรื่องพระราชประวัติและ พระราชกรณียกิจบนพื้นผนังระหว่างช่องบัญชรด้านทิศเหนือและทิศใต้ของพระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. 2504 จำนวน 8 ช่อง โดยให้สาระของภาพแสดงประวัติพระพุทธรัตนสถาน ที่เกี่ยวเนื่องกับพระมหากษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์ ให้รักษาลักษณะศิลปะอย่างกระบวนการช่างโบราณ ให้มีความสอดคล้องกับจิตรกรรมฝาผนังตอนบน (ภาพของเก่ากับใหม่สอดประสานกัน)

ดังนั้น จิตรกรรมฝาผนังในพุทธรัตนสถานที่เขียนใหม่ทั้ง 8 ช่อง มีความงดงามทั้งเรื่องการกำหนดสี และลักษณะศิลปะ เป็นศิลปกรรมที่ช่างทุกคนทุ่มเทฝีมือสนองพระราชดำริด้วยความจงรักภักดี และภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

แต่ละภาพจิตรกรรมจะเล่าเรื่องเหตุการณ์ พร้อมทั้งไลฟ์สไตล์ของประชาชนในช่วงนั้นๆ เช่น การแต่งตัว การสวมใส่เสื้อผ้า และทรงผม เมื่อติดตามจิตรกรรมที่ทรงดำริให้รังสรรค์ จะเห็นวิวัฒนาการนับแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 9 ตามลำดับ

จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 9

ตัวอย่างเหตุการณ์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีเนื้อความจิตรกรรมว่า พุทธศักราช 2404 เมื่อสร้างพุทธรัตนสถานแล้วเสร็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงให้ยกช่อฟ้าและอัญเชิญพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย จากหอพระสุราลัยพิมาน ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้วยกระบวนพระอิสริยยศ เข้ามาประดิษฐาน ณ พุทธรัตนสถาน ในพระพุทธนิเวศน์ พร้อมกันนั้นทรงให้จัดพิธีสมโภชมีทั้งการเล่นของไทย และอุปรากรจีน

ภาพจิตรกรรมเล่าเรื่องสังคมของราษฎร สมัยรัชกาลที่ 4 เช่น การแต่งกาย กล่าวคือสตรีห่มผ้าแถบ นุ่งโจง นุ่งซิ่น ไว้ผมปีก ไม่สวมรองเท้า สุภาพบุรุษนุ่งโจง ไม่สวมเสื้อ ผ้าพาดไหล่ ยกเว้นขุนนางจะสวมเสื้อ ไว้ผมทรงมหาดไทย ส่วนชาวจีนไว้เปีย สวมหมวกจีน นุ่งกางเกง สวมเสื้อ เด็กไว้จุก ส่วนชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ มักเล่นหมากรุก เป็นต้น

สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นเหตุการณ์ที่โปรดให้แปลงพระวิหารเป็นพระอุโบสถ ผูกพัทธสีมา เพื่อจะทรงพระผนวช ในภาพจิตรกรรมเล่าถึงพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นประธานในพิธีฝังลูกนิมิต โดยมีพระสงฆ์ที่พระราชาคณะประกอบพิธี และบรรดาขุนนางหมอบกราบ

สมัยรัชกาลที่ 6 เล่าเรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงอภิเษกสมรสกับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี วันที่ 10 ส.ค. 2467 แล้วเสด็จพระราชดำเนินนมัสการพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ณ พระพุทธรัตนสถาน

จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 9

เมื่อประเทศสยามประกาศร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 พ.ศ. 2460 และส่งทหารไปร่วมรบในประเทศยุโรป ก่อนเดินทางรัชกาลที่ 6 ทรงประกอบพิธีตัดไม้ข่มนาม ให้กำลังใจแก่ทหารอีกด้วย

นอกจากนั้น ก็มีภาพแสดงการเชิญชวนประชาชนร่วมบริจาคทรัพย์สร้างเรือรบพระร่วง เพื่อป้องกันภัยทางทะเลส่วนการแต่งกายในสมัยนั้น ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากขึ้น จะเห็นได้จากการแต่งกายของพระบรมวงศานุวงศ์ และไพร่ฟ้าประชาชน

สมัยรัชกาลที่ 7 ทรงให้ความสำคัญในการศึกษาของเด็ก ปลูกฝังให้ยึดมั่นในพระพุทธศาสนา พระราชทานหนังสือสอนพระพุทธศาสนาแก่เด็กและเยาวชน สั่งสมความดี เพราะเด็กคือเยาวชนที่จะเติบโตเป็นพลเมืองที่ดีของชาติในอนาคต พ.ศ. 2475 ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 150 ปี จึงโปรดเกล้าฯ ให้สมโภชขึ้น โดยให้ทรงสร้างปฐมบรมราชานุสรณ์รัชกาลที่ 1 และสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ และทำการเปิดสะพาน วันที่ 6 เม.ย. 2475 ในขณะนั้น พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และสมเด็จพระอนุชาธิราช ยังทรงพระเยาว์ และทรงร่วมงานพระราชพิธีด้วย

ภาพในสมัยรัชกาลที่ 8 พุทธรัตนสถาน ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรนำระเบิดมาทิ้งที่สถานีรถไฟบางกอกน้อย และบางส่วนตกในพระบรมมหาราชวัง บริเวณด้านเหนือพระพุทธรัตนสถาน ได้รับความเสียหาย ในภาพสมเด็จพระอนุชาธิราช (ต่อมาคือรัชกาลที่ 9) ทรงชี้จุดที่ควรซ่อมแซมแก่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 สืบเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยังส่งผลให้ชาวจีนกับประชาชนคนไทยกระทบกระทั่งกัน มีการลอบทำร้ายกันถึงชีวิต และขยายความรุนแรงมากขึ้น เมื่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และสมเด็จพระอนุชาธิราช เสด็จฯ สำเพ็งและเยาวราชเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2489 เหตุการณ์จึงสงบลง

จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 9

ผนังช่องที่ 7 เรื่องเหตุการณ์สมัยรัชกาลที่ 9 ในการฟื้นฟูประเพณีบ้านเมืองเนื้อความในจิตรกรรม พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เสด็จดำรงสิริราชสมบัติ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2489 ทรงประกอบพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 5 พ.ค. 2493 เมื่อมีช้างเผือกมาสู่พระบารมี พระราชพิธีแรกในรัชกาลนี้คือการขึ้นระวางพระเศวตอดุลยเดชพาหน จาก จ.กระบี่ ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนานัปการ สิ่งสำคัญคือการฟื้นฟูกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค เพื่อนำผ้าพระกฐินถวาย ณ วัดอรุณราชวราราม พระอารามหลวง เป็นพระราชพิธีที่ทำให้ชาวโลกชื่นชม

ช่องที่ 8 เป็นภาพพระราชพิธีในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้แก่ การเสด็จฯ เลียบพระนครทางสถลมารคในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 3 รอบ ฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ครบ 200 ปี ใน พ.ศ. 2525 ทรงประกอบพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์และพระราชกรณียกิจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การพระราชพิธีเสริมสร้างความสวัสดิมงคลแก่บ้านเมือง และประชาชนทั้งสิ้น

จิตรกรรมที่ได้รับยกย่องว่าเป็นศิลปะสมัยรัชกาลที่ 9 นั้น อยู่ที่พระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน ไม่เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมครับ