posttoday

‘เดอะ ธอท คอลเล็กทีฟ’ ธุรกิจบ่มเพาะปัญญาเพื่อสังคม

24 กันยายน 2560

การแสวงหากำไรสูงสุดเพื่อองค์กรและผู้ถือหุ้น อาจเป็นเป้าหมายอันดับแรกของหลายบริษัท

โดย ศรัณย์ วิสุทธิอารีย์รักษ์ นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

การแสวงหากำไรสูงสุดเพื่อองค์กรและผู้ถือหุ้น อาจเป็นเป้าหมายอันดับแรกของหลายบริษัท ขณะที่มีบริษัทอีกไม่น้อยมุ่งหน้าทำเพื่อสังคมอย่างเต็มตัว โดยไม่หวังกำไร แต่พึ่งพาเงินจากการบริจาคแทน ทว่า “เดอะ ธอท คอลเล็กทีฟ” (The Thought Collective) ธุรกิจเพื่อสังคมจากสิงคโปร์กลับแตกต่างออกไป

เคว็กเชียวหยิน ผู้อำนวยการและผู้ร่วมก่อตั้ง เดอะ ธอท คอลเล็กทีฟ เล่าว่า ธุรกิจแห่งนี้อยู่ตรงกลางระหว่างการมุ่งหากำไรอย่างเดียวกับการทำเพื่อสังคม โดย เดอะ ธอท คอลเล็กทีฟ ซึ่งเริ่มต้นมาจากการเป็นสถาบันกวดวิชา ต้องการแสวงหากำไรในการบรรลุเป้าหมายเพื่อสังคม ที่เป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้สิงคโปร์ ทั้งการบ่มเพาะสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ให้พลเมืองสิงคโปร์รุ่นใหม่

จุดเริ่มต้นของ เดอะ ธอท คอลเล็กทีฟ เกิดขึ้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เมื่อเคว็กเชียวหยิน และเพื่อนอีก 2 คน คือ ตงอี้ และ อลิซาเบธ คอน รวมกลุ่มกันติววิชาความรู้ทั่วไป (General Paper) ให้นักเรียนสิงคโปร์

ในช่วงแรกทั้งสามมีนักเรียนเพียงแค่ 20 คน แต่เนื่องจากในขณะนั้นบริการกวดวิชายังมีไม่มากนักในสิงคโปร์ จำนวนนักเรียนจึงเพิ่มขึ้นมาอย่างรวดเร็วเป็น 100 คน ทำให้ทั้งสามตัดสินใจตั้งสถาบันกวดวิชา “สกูล ออฟ ธอท” (School of Thought) เพื่อรองรับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้น

‘เดอะ ธอท คอลเล็กทีฟ’ ธุรกิจบ่มเพาะปัญญาเพื่อสังคม

แต่เมื่อสอนไปได้ระยะหนึ่ง ทั้งสามพบว่า เยาวชนชาวสิงคโปร์ยังไม่มีทัศนคติที่กว้างไกลพอสำหรับการใช้ชีวิตนอกห้องเรียน สกูล ออฟ ธอท จึงขยายขอบเขตการเรียนการสอนขึ้นไปอีก 2 ขั้น ต่อยอดจากวิชาความรู้ทั่วไป คือการมอบความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และการวางเป้าหมายชีวิตในระยะยาว ทั้งในแง่ชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว

“เราจะไม่มีวันบอกว่า ฉันการันตีว่าคุณจะได้เกรดเอนะ เพราะนั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของเรา โดยเราต้องการสอนให้คนมีมุมมองความคิดที่กว้างไกลขึ้น” เคว็กเชียวหยิน กล่าว

แม้ทั้งสามแทบไม่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาก่อน แต่นับเป็นโชคดีที่ สกูล ออฟ ธอท เป็นหนึ่งในสถาบันกวดวิชาแห่งแรกๆ ในสิงคโปร์ ธุรกิจแห่งนี้จึงไม่ต้องเผชิญการแข่งขันที่ดุเดือดมากนักในช่วงเริ่มก่อตั้งและทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง

หลัง สกูล ออฟ ธอท มั่นคงแล้ว บรรดาผู้ก่อตั้งเริ่มหาทางขยับขยายธุรกิจ โดยได้ก่อตั้ง ธิงก์ แทงค์ (Think Tank) บริษัทออกแบบและผลิตคอนเทนต์ต่างๆ และเชนร้านคาเฟ่ ชื่อ ฟู้ด ฟอร์ ธอท (Food for Thought) ขึ้นในปี 2007 ซึ่งในปัจจุบันธุรกิจทั้งสองแห่งบริหารจัดการภายใต้ชื่อ “เดอะ ธอท คอลเล็กทีฟ” ที่มีธุรกิจในเครือรวมแล้ว 5 แห่ง และมีรายได้ต่อปีทั้งหมด 8.375 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 205 ล้านบาท) เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา โดยธุรกิจในเครืออื่นๆ นอกจากโรงเรียนกวดวิชา ล้วนสามารถทำกำไรให้บริษัทได้หมด ด้วยเหตุนี้ปัญหาทางการเงินจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่นักสำหรับ เดอะ ธอท คอลเล็กทีฟ

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางเส้นทางธุรกิจที่เรียกได้ว่าเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ เดอะ ธอท คอลเล็กทีฟ ก็มาถึงจุดสะดุดในปี 2012 หลังก่อตั้งธุรกิจมาได้ 10 ปี

จุดสะดุดแรกคือการตัดสินใจสำคัญในการรวมสาขาและขยายร้าน ฟู้ด ฟอร์ ธอท เพื่อให้สามารถรองรับลูกค้าได้ 300 คน ถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยเชนร้านคาเฟ่ดังกล่าวมี 2 สาขา รองรับลูกค้าได้ 20 คน และ 80 คน

ทว่าเมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายในการจ้างคนเพิ่มและการเปลี่ยนแนวทางการบริหารจัดการร้านขนาดใหญ่ขึ้น  รวมถึงกลับมาขบคิดจุดมุ่งหมายแรกในการก่อตั้งธุรกิจ ผู้ร่วมสร้าง เดอะ ธอท คอลเล็กทีฟทั้งสาม จึงเห็นพ้องระงับการตัดสินใจดังกล่าวไว้

อุปสรรคถัดมาของ เดอะ ธอท คอลเล็กทีฟ คือการบริหารทรัพยากรบุคคล โดยบรรดาพนักงานเก่าแก่ของบริษัทต่างต้องการเงินเดือนเพิ่มขึ้นตามประสบการณ์ แต่กลับไม่ต้องการพัฒนาตัวเอง

‘เดอะ ธอท คอลเล็กทีฟ’ ธุรกิจบ่มเพาะปัญญาเพื่อสังคม

“เมื่อปัญหานี้เกิดขึ้นคุณต้องตัดสินใจระหว่างจะเลือกรักษาพนักงานเก่าแก่ไว้ ซึ่งยิ่งจะต้องการเงินเดือนมากขึ้นเมื่อทำงานนานขึ้น กับรับพนักงานจบใหม่ที่ยังอ่อนประสบการณ์ แต่มีความกระตือรือร้นพัฒนาตนเอง” เคว็กเชียวหยิน กล่าว พร้อมเสริมว่า หากเลือกรักษาพนักงานเก่าไว้ บริษัทต้องมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งปัญหานี้เป็นสิ่งที่ธุรกิจทั่วสิงคโปร์กำลังเผชิญอยู่เช่นกัน

เมื่อแนวทางบริหารงานเข้าที่เข้าทางแล้ว อุปสรรคใหม่ที่สำคัญกว่าก็ปรากฏขึ้นมาท้าทาย เดอะ ธอท คอลเล็กทีฟ

“ความท้าทายคลาสสิกที่ธุรกิจเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ต้องเจอ คือการหาทางปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในตลาดที่มาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว” เคว็กเชียวหยิน เล่า พร้อมระบุว่า ธุรกิจต้องหาทางพัฒนาตัวเองตลอดเวลาเพื่อตอบสนองความต้องการพิเศษอื่นๆ ของลูกค้าและสังคม

ตัวอย่างเช่น ครั้งหนึ่งเมื่อกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติสิงคโปร์ได้มาปรึกษา เดอะ ธอท คอลเล็กทีฟ เกี่ยวกับการหาแนวทางให้เด็กวัยรุ่นเข้าใจแนวคิดซับซ้อนต่างๆ เช่น แผนการลงทุนในระยะยาวและทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งเด็กวัยรุ่นไม่ได้สนใจประเด็นเหล่านี้ และต้องพยายามหาทางตอบโจทย์ดังกล่าวให้ได้ โดยในที่สุดบริษัทก็สามารถหาทางออกได้ด้วยการสร้างเกมออนไลน์ที่สอดแทรกแนวคิดเหล่านี้เข้าไปอ้อมๆ

“เนื้อหาเกมเป็นการเอาตัวรอดจากซอมบี้ ซึ่งไม่ได้กล่าวถึงการลงทุนหรือทุนสำรองระหว่างประเทศตรงๆ แต่ตัวเลือกในเกมอ้างอิงมาจากคอนเซ็ปต์ของแนวคิดดังกล่าวที่คุณอยากสอนให้เด็กๆ” เคว็กเชียวหยิน กล่าว พร้อมเสริมว่า เดอะ ธอท คอลเล็กทีฟ ให้ความสนใจอย่างมากกับการช่วยเหลือองค์กรต่างๆ แก้ปัญหาเกี่ยวกับผู้คน โดยนอกจากเคสนี้แล้ว บริษัทยังคอยให้คำปรึกษากับองค์กรภาคส่วนอื่นๆ ตั้งแต่ธุรกิจบริการสุขภาพไปจนถึงบริษัทโซเชียลมีเดีย

เคว็กเชียวหยิน เล่าว่า ในอนาคต เดอะ ธอท คอลเล็กทีฟ คงต้องเผชิญความท้าทายอีกหลายระลอก เช่น ธุรกิจกวดวิชาที่ดูเหมือนจะ “ปลอดภัย” ก็เริ่มเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งทำให้การเรียนรู้กลายเป็นสิ่งที่ง่ายขึ้น และอาจเปลี่ยนไปสู่การเรียนการสอนแบบออนไลน์

แต่ผู้ร่วมก่อตั้ง เดอะ ธอท คอลเล็กทีฟ ผู้นี้เชื่อว่า แม้จะมีอุปสรรคมากมายรออยู่ แต่หากธุรกิจสามารถตอบโจทย์สังคมได้ ธุรกิจนั้นก็จะสามารถยืนหยัดอยู่ได้ต่อไปในอนาคต