posttoday

มองแบบวิทย์ คิดแบบพุทธ

03 กันยายน 2560

วันก่อนเดินทางไป ชาโต เดอ เขาใหญ่ ของกรมปศุสัตว์ โดย นสพ.รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารและยา

โดย ราช รามัญ

วันก่อนเดินทางไป ชาโต เดอ เขาใหญ่ ของกรมปศุสัตว์ โดย นสพ.รักไทย งามภักดิ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหารและยา เชิญไปเป็นวิทยากรบรรยายธรรมะโค้ชวิถีพุทธในหัวข้อ มองแบบวิทย์ คิดแบบพุทธ ผู้เข้าร่วมสัมมนาเป็นข้าราชการคนรุ่นใหม่ที่มีมุมมองวิสัยทัศน์ดีเยี่ยม เขาต่างเกิดและโตในยุคเทคโนโลยีเบ่งบาน

ได้นำเอาธรรมะนอกตำราจากเถรวาทไปส่งมอบบอกต่อ โดยเน้นการเข้าถึงใจโดยตรง ไม่เน้นพิธีกรรมลมๆ แล้งๆ ที่อาศัยกลิ่นธูปควันเทียนหวังให้ไปสื่อสารกับอะไรกับใครก็ไม่ทราบ ทุกคนเมื่อได้สัมผัสถึงจิตวิญญาณของตัวเองแล้วส่งมอบต่อด้วยความกรุณาในหัวใจแบบทองเล็น (การฝึกจิตและปฏิบัติธรรมของทิเบต) ตามแนวทางของวัชรญาณ ทุกคนปีติอิ่มเอิบน้ำตาไหล ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนในชีวิต

ความรัก ความผูกพัน การรู้จักให้อภัย การมองโลกในแง่บวก การรู้จักคำว่า ลืม เต็มปรี่ในหัวใจของทุกคน ไม่ต้องนั่งภาวนาหลังขดหลังแข็ง เพียงแค่ยืนแล้วนำเอาฝ่ามือมาประกบกันคล้ายๆ กับดอกบัว จากนั้นถ่ายทอดหัวใจที่เปี่ยมด้วยความกรุณาออกไป

ทุกคนได้รับ ทุกคนได้สัมผัสทางจิตวิญญาณ ไม่นานหน้าตาผ่องใส แววตาเป็นประกาย บางคนมีน้ำมาคลอในตา บางคนกลั้นเอาไว้ไม่ไหว ภาวะนี้ไม่ใช่การสะกดจิต เพราะทุกคนลืมตา เพราะทุกคนยืนไม่ได้นั่งสมาธิ แต่ทุกคนทำได้ เพราะจิตใจนั้นพร้อมที่จะรับและส่งต่อต่างหาก

หลายคนเล่าให้ฟังว่า รู้สึกว่าเบาโปร่งโล่งสบายคลายจากความเครียด คลายจากความมืดมิดทางความคิด หลายคนรู้จักคำว่า ลืม หลายคนปล่อยให้อดีตไปอยู่ในที่ที่ควรอยู่กับกาลเวลาที่ผ่านมา หลอมละลายทุกข์ออกไปจากใจ อีกทั้งพร้อมกับมีสติสมาธิพร้อมที่จะรับใช้บริการประชาชน นี่คือประโยชน์สูงของการฝึกจิตแบบมหายาน

จึงกล่าวเสมอว่า เนื้อแท้ที่จริงนั้น พระพุทธศาสนา คือ ศาสนาใจ ไม่ใช่ศาสนาในตำราคัมภีร์ ท่านผู้รู้แต่ยึดมั่นยึดติดในคัมภีร์ทั้งหลายภาวะแบบนี้ท่านไม่อาจเข้าถึง การที่เราเข้าถึงภาวะแห่งใจ นั่นแหละ คือ หัวใจของพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาแบบวัชรญาณ จะเน้นการเข้าถึงใจ ไม่ได้เน้นเข้าถึงพิธีกรรม หรือประเพณี ตลอดทั้งวัตถุเคารพ แต่จะเน้นลงตรงไปที่จิตวิญญาณ การพัฒนามนุษย์ที่ได้ผลมากที่สุดไม่ต้องอาศัยหลักวิชาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ แต่เขาอาศัยใจ คือ การเข้าใจซึ่งกันและกัน เพราะการพัฒนาคนต้องพัฒนาที่ใจด้วยวิชาคน ไม่ใช่วิชาการ

การใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงเศษที่สามารถปรับเปลี่ยนแนวคิดและจิตใจได้ ต้องบอกว่าเป็นหลักสูตรที่สั้น กระชับ เร่งรัด แต่ได้ผลเกินคาด วิธีแบบนี้ทุกคนสามารถนำเอาไปใช้กับตัวเองได้ ด้วยวิธีง่ายๆ ข้อแรกสุด คือ

เลิกตัดสินผู้อื่น คนเราทุกวันนี้ชอบตัดสินผู้อื่นอยู่เสมอ เห็นอะไรที่ไม่ตรงตามความรู้เรา ไม่ตรงตามความคิดเรา และไม่ตรงตามประสบการณ์ชีวิตเรา ก็จะตัดสินเขาทันที ว่าเขาเป็นคนไม่ดี เป็นคนที่ใช้ไม่ได้ การตัดสินคนอื่นด้วยความคิดแบบนี้ คนที่ทุกข์ไม่ใช่เขา แต่กลับเป็นตัวของเราเอง นี่แหละ ถ้าเลิกตัดสินคนอื่นได้เมื่อไหร่ ใจของเราก็สูงขึ้นทันที

ข้อต่อมา ต้องรู้จักความกรุณาในหัวใจอย่างแท้จริง คือ การปรารถนาดีต่อผู้อื่นอย่างไร้เงื่อนไข อย่างไร้ข้อต่อรอง อย่างไร้หวังซึ่งผลลัพธ์ที่จะตอบแทน ถ้าเราเห็นอกเห็นใจผู้ใดแล้วมีความปรารถนาดีด้วยความกรุณาจากใจแท้ๆ แล้ว ไม่ว่าเราหรือเขาไม่มีอะไรที่แตกต่างกัน ดังนั้นองค์กรไหนก็ตามที่นำเอาหลักคิดแบบนี้ไปพัฒนาคน ประโยชน์นั้นจะมหาศาลเป็นผลดีต่อองค์กรอย่างรวดเร็ว

ที่ผ่านมา หลักวิชาการการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ช่วยเหลือฉุดดึงจิตใจของมนุษย์ได้ไม่มากพอ และไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้จริงนั้น ก็เป็นเพราะว่ามิได้ถ่ายออกไปสู่ใจถึงใจนั่นเอง

ความรู้ทั้งหลายบนโลกใบนี้ ถ้าเรียนรู้ด้วยสมองไม่นานก็ลืม เพราะไม่ซึมลึกลงไปถึงรากเง้าแห่งความเป็นมนุษย์ คือ จิตวิญญาณ แต่ถ้าเรามุ่งเน้นไปในทางจิตวิญญาณแล้ว สิ่งที่เราจะได้นั้นมันคุ้มค่าอย่างมาก

การที่เราใจโล่ง โปร่ง เบา ไม่เครียด นั้นแล คือ ใจที่ถึงพร้อมด้วยกุศลทั้งปวง เป็นใจที่พระอริยะเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ เป็นธรรมอันยิ่งที่พึงควรจะมีอย่างต่อเนื่อง เพียง 3 ข้อตามที่กล่าวมานั้นเปลี่ยนชีวิตของผู้คนได้มากมายแม้แต่ความคิด ชีวิตของเราก็เช่นกัน

ความจริงของเรา

ความจริงของเขา

ความจริงที่เป็นจริง

ความจริงที่เหนือสิ่งทั้งปวง

เราจะใช้ชีวิตอยู่กับความจริงแบบไหน เราจะใช้ความจริงแบบไหนในการพิจารณาผู้คน เราจะใช้ความจริงอันนั้นก็ไม่เท่ากับการที่ใช้ความจริงแห่งสิ่งทั้งปวงนั้นมาดูแลหัวใจของเรา เพราะพระพุทธศาสนา คือ ศาสนาแห่งใจ ไม่ใช่ศาสนาแห่งพิธีกรรม

นี่คือมองแบบวิทย์ คิดแบบพุทธ