posttoday

ศึกษาธรรมปฏิบัติ เพื่อพัฒนาจิตตามพุทธวิถี (๑๒)

18 ธันวาคม 2552

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

โดย...พระอาจารย์อารยะวังโส [email protected]

ปุจฉา : กราบนมัสการพระอาจารย์อารยะวังโสที่เคารพยิ่งด้วยเศียรเกล้า

กระผม นายฤทธิพร พินรอด ขอโอกาสและขอเมตตาหลวงพ่อเพื่อถามคำถามดังนี้

๔.วันหนึ่งขณะนั่งสมาธิเป็นปกติ ทั้งขาทั้งหลังมีความรู้สึกปวดมาก แต่ในทางกลับกันจิตกลับเบิกบาน มีปีติน้ำตาไหลด้วยความยินดี ขนลุกขนพอง ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยกับการนั่ง ความรู้สึกที่ทั้งสุขและทุกข์ปนกันแบบนี้ ถ้าจะให้เป็นกรรมฐานควรจับที่กรรมฐานกองไหนครับ เพื่อให้สมาธิก้าวหน้ามากขึ้น ทำไมแต่ละวันที่ได้ความรู้สึกถึงไม่เหมือนกัน บางวันก็ไม่เจ็บ

๕.ถ้าจะฝึกกสิณ ๑ ใน ๑๐ ชนิด ควรเลือกแบบใดจึงจะเหมาะสมและให้ผลสูงสุดแก่ผู้ปฏิบัติครับ

๖.การแผ่เมตตาขออำนาจคุณพระรัตนตรัยให้ผลบุญที่เคยได้ทำตั้งแต่อดีตชาติและปัจจุบันชาติ ขอผลบุญนี้จงแผ่ออกไปถึงทั้ง ๓ โลก ถึงพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ เจ้ากรรมนายเวร รวมจิตไว้ที่อกแล้วแผ่ออกไปเกิดขนลุกทั้งตัวแบบนี้ ผมทำถูกวิธีหรือเปล่าครับ
ผมขอโอกาสและเมตตาจากหลวงพ่อ โปรดตอบคำถามของผมด้วยนะครับ                     

กราบนมัสการด้วยเศียรเกล้า                      
นายฤทธิพร พินรอด

วิสัชนา : ปัญญาในพระพุทธศาสนานั้นเกิดจากการเรียนรู้พัฒนาศักยภาพของจิตเพื่อนำไปสู่ความบริสุทธิ์ขจัดให้สิ้นซึ่งอาสวกิเลสทั้งปวง โดยมีกระบวนการปฏิบัติตามองค์ธรรม ๘ ประการ หรือเรียกว่า อริยมรรคองค์ธรรม ๘ ประการ อันเป็นทางสายกลางในการปฏิบัติที่สรุปย่อลงเหลือ ๓ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา (ไตรสิกขา) โดยปัญญานั้นเกิดได้จาก การฟัง (สุตมยปัญญา) การคิดพิจารณาตริตรอง (จิตตมยปัญญา) และการอบรมจิตโดยการเจริญธรรม (ภาวนามยปัญญา) อันจะนำไปสู่ปัญญาอันชอบที่เกิดจากความรู้แจ้งเพื่อให้ถึงซึ่งความสิ้นทุกข์ ซึ่งเรียกการปฏิบัติธรรมซึ่งฝึกฝนทางจิตดังกล่าวเพื่อให้เกิดปัญญาธรรมในพระพุทธศาสนาว่า สมถะวิปัสสนา กรรมฐาน

สำหรับการปฏิบัติที่มุ่งเน้นไปทาง “สมถะ” นั้น จะเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นของจิตจนได้ ฌาน แล้วจึงเจริญ วิปัสสนา เรียกปฏิปทาของผู้ปฏิบัติดังกล่าวว่า “สมถยานิก” แปลว่า ผู้มีสมถะเป็นยาน ซึ่งเป็น ๑ ใน ๔ วิธี อย่างที่กล่าวไว้ในบาลีคือ

๑.การเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะนำหน้า (สมถปุพพังคะมะ วิปัสสนาภาวนา)
๒.การเจริญสมถะโดยมีวิปัสสนานำหน้า (วิปัสสนาปุพพังคะมะ สมถะภาวนา)
๓.การเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไป (ยุคนัทธวิปัสสนาภาวนา)
๔.ความเข้าใจผิดยึดเอาผลที่ประสบในระหว่าง ว่าเป็นมรรคผลนิพพาน (ธัมมุทธัจจวิคคหิตมานัส)

ในหัวข้อที่ ๔ ธัมมุทธัจจวิคคหิตมานัส นี้ น่าสนใจยิ่งสำหรับผู้กำลังฝึกปฏิบัติเพราะมักจะมีผู้หลงเข้าใจผิดไปยึดเอาผลที่เกิดขึ้นระหว่างบำเพ็ญเพียรอยู่ โดยสำคัญผิดว่าเป็นธรรมของมรรคผลนิพพาน ท่านอธิบายว่า เมื่อผู้ปฏิบัติกำลังเพ่งเพียรมนสิการธรรมพิจารณาขันธ์ ๕ หรือ รูปนาม หรือธาตุสี่ หรืออายตนะ ๑๒ อยู่นั้นโดยเป็นไปตามพระไตรลักษณ์ให้เกิดขึ้นมีโอภาส (แสงสว่าง) ญาณ ปีติ ปัสสัทธิ สุข อธิโมกข์ (ความปลงใจหรือศรัทธาแก่กล้า) ปัคคาหะ (ความเพียรที่พอดี) อุปัฏฐาก (สติกำกับอยู่) อุเบกขา (ความเป็นกลางของจิต) นิกันติ (ความติดใจ) เกิดขึ้นในอย่างใดอย่างหนึ่งและผู้ปฏิบัติไปยึดถือในธรรมนั้นๆ เป็นอารมณ์ เช่น นึกถึงโอภาส (แสงสว่าง) ว่าเป็นธรรมคือเข้าใจว่าเป็นมรรคผลนิพพานแล้ว ก็จะนำไปสู่ความฟุ้งซ่านเป็นอุทธัจจะเพราะการนึกไปเช่นนั้น ซึ่งจะทำให้อำนาจนิวรณธรรมอันเป็นอกุศลเข้าควบคุมจิตให้ไขว้เขวออกไปจากการรู้แจ้งรู้จริงในธรรมที่ปรากฏมีอยู่ในธรรมชาติโดยภาวะเป็นของไม่เที่ยงโดยภาวะที่เป็นทุกข์ โดยภาวะที่เป็นอนัตตา เรียกว่ามีจิตถูกชักให้เขวไปด้วยธรรมุธัจจ์ แต่

อย่างไรก็ตามหากเมื่อหยุดความอุทธัจจะ (ฟุ้งซ่าน) ลงจิตก็จะแน่วแน่สงบสนิทหยั่งรวมลงภายในได้เด่นชัดเป็นสมาธิ ซึ่งมรรคผลก็เกิดแก่ผู้ปฏิบัตินั้นได้อีก ซึ่งการที่จะให้เกิดความสงบของจิตจนรวมลงได้นั้นจะต้องกำหนดด้วยปัญญา รู้เท่ารู้ทัน (มหาสติ) ในฐานะทั้ง ๑๐ และเป็นผู้ฉลาดในธรรมุธัจจ์ จะไม่ลุ่มหลงคล้อย จิตจะมั่นคงมีสติปัญญาที่บริสุทธิ์ เพราะละสิ้นซึ่งวิปัสสนูปกิเลส (อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา ๑๐ อย่าง) ซึ่งวิปัสสนูกิเลสนั้นๆ จะเกิดขึ้นแก่ผู้เข้าสู่เบื้องต้นของวิปัสสนาญาณ (ผู้ได้วิปัสสนาอ่อนๆ) ซึ่งจะสนใจและติดใจชื่นชมในภาวธรรมทั้ง ๑๐ ตามที่กล่าวมามาก เพราะไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีมาก่อนชวนให้หลงตนเข้าใจผิดว่าตนถึงคุณวิเศษในพระศาสนาแล้วหรืออาการหนักถึงขั้นเข้าใจว่าตนได้บรรลุมรรคผลแล้ว ซึ่งเสียท่าให้กับอุปกิเลสในวิปัสสนา ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีเกิดขึ้นมากในสำนักปฏิบัติทั้งหลาย เหมือนอย่างในพรรษาปีนี้ (พ.ศ. ๒๕๕๒) มีอุบาสิกาท่านหนึ่งมาปฏิบัติธรรมที่วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ป.ล.อาตมาไม่อยู่ จำพรรษาอยู่ที่คิชฌกูฏ/อินเดีย)

อ่านต่อฉบับหน้า

**ส่งคำถามหรือ แสดงความเห็นในเรื่องต่างๆได้ที่ คอลัมน์ธรรมส่องโลก หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ อาคารบางกอกโพสต์ 136 ถนน ณ ระนอง แยกสุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110 โทรสาร 02-671-3132