posttoday

ประชารัฐอี3‘ฐาปน’ ลั่น เพิ่มรายได้ชุมชน632ล.

27 สิงหาคม 2560

ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการประชารัฐกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3)

โดย...จะเรียม สำรวจ

ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการประชารัฐกันอย่างต่อเนื่อง สำหรับคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) ซึ่งหลังจากเริ่มทำงานอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2559 จนถึงขณะนี้ ความคืบหน้าของโครงการก็ก้าวเข้าสู่เฟสที่ 3 แล้ว โดยรูปแบบการทำงานก็ยังคงเป็นการพัฒนาประเทศไทย เพื่อยกระดับและพัฒนาด้านการท่องเที่ยว โดยชุมชนในเรื่องของการเกษตร สินค้าแปรรูป และของดีต่างๆ ในชุมชน

ก่อนหน้านี้ คณะทำงานได้ลงพื้นที่เข้าไปช่วยเหลือชุมชนต่างๆ แล้วจำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ชัยนาท ด้วยการเข้าเยี่ยมชมหัตถกรรมของกลุ่มผักตบชวาบ้านอ้อย โอท็อป 5 ดาว อ.เมือง จ.ชัยนาท ตามด้วยการเข้าไปเยี่ยมชมกลุ่มเลี้ยงปลาแรดในกระชังของ จ.อุทัยธานี  ขณะที่ จ.สงขลา จะเป็นการเข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำตาลผง ส่วน จ.กาญจนบุรี จะเป็นการเข้าเยี่ยมชมกลุ่มปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติท่ามะขาม และ จ.ตราด จะเป็นการเข้าไปเยี่ยมชมสินค้าสุดยอด 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์สับปะรดอบแห้ง

นอกจากนี้ ยังมีการเข้าไปเยี่ยมชมกลุ่มสินค้าเกษตร สินค้าแปรรูป และของดีต่างๆ ในจังหวัดทางภาคอีสานอีก 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.มุกดาหาร เข้าเยี่ยมชมกลุ่มผ้าทอมือ  จ.นครพนม เข้าเยี่ยมชมหมู่บ้านโอท็อปเพื่อการท่องเที่ยว เครื่องจักสาน และ จ.สกลนคร เข้าไปเยี่ยมชมงานฝีมือชุมชนในรูปแบบต่างๆ เนื่องจาก จ.สกลนคร เป็นแหล่งเมืองอารยธรรมของเมืองไทย อีกทั้งยังมีของดีขึ้นชื่ออีกมากมายไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องแต่งกาย หรือของกิน

ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ทางคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐจึงได้มีการประชุมร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องจัดหาสถานที่ขายสินค้าให้กับชุมชน ซึ่งในส่วนของ จ.สกลนคร ได้มีการใช้หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร เป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าของชุมชนต่างๆ ในสกลนคร

ประชารัฐอี3‘ฐาปน’ ลั่น เพิ่มรายได้ชุมชน632ล.

สำหรับสินค้าที่นำมาจำหน่ายส่วนใหญ่จะเป็นของดีที่ขึ้นชื่อของ จ.สกลนคร เช่น ผ้าทอย้อมครามของชุมชนหัตถกรรมผ้าทอย้อมคราม อ.พรรณานิคม และศูนย์เรียนรู้ชุมชนบ้านพันนา จุดเด่นของการทำผ้าย้อมครามนี้ คือ การใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการนำสีที่ได้จากธรรมชาติมาย้อมผ้า ซึ่งแตกต่างไปจากชุมชนอื่นๆ ที่ส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีสังเคราะห์มาใช้ย้อมผ้า ทำให้ผ้าย้อมครามที่ได้สวมใส่แล้วรู้สึกร้อน ขณะผ้าย้อมครามที่ได้จากสีธรรมชาติ จะสวมใส่แล้วรู้สึกสบาย

ฐาปน สิริวัฒนภักดี ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ (E3) กล่าวว่า ผ้าทอสีครามที่ได้จากสีย้อมธรรมชาติถือเป็นภูมิปัญญาที่เก่าแก่ของชุมชน โดยชาวบ้านรู้จักกันมานานกว่าร้อยปีแล้ว จากเดิมที่เกือบเลือนหายไปแล้ว แต่หลังจากหน่วยงานต่างๆ ได้เข้าไปให้การสนับสนุน ภูมิปัญญา

ดังกล่าวก็กลับมาและพัฒนาเป็นอาชีพหลักของลูกหลาน ซึ่งในส่วนของลวดลายผ้าที่ได้มานั้นขึ้นอยู่กับไอเดียของผู้ที่ทอและมัดย้อมซึ่งมีลักษณะไม่ซ้ำกัน สีที่ได้จะขึ้นอยู่กับการย้อมของแต่ละคนและความต้องการของผู้ที่ย้อมและทอผ้า อีกทั้งผู้บริโภคยังเลือกลวดลายและสีผ้าได้ตามความต้องการอีกด้วย

ในส่วนของน้ำหมากเม่าถือเป็นสินค้าภูมิปัญญาอีกหนึ่งชิ้นที่มีประวัติมายาวนานและเริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้คน  ทำให้ปัจจุบันหลายคนไม่รู้จักผลไม้ดังกล่าว ทั้งที่หมากเม่าเป็นผลไม้ชั้นนำในภาคอีสานและเป็นของขึ้นชื่อของ จ.สกลนคร นอกจากนี้ยังเป็นพืชที่มีประวัติอันยาวนานกว่า 2,000 ปี โดยต้นหมากเม่าที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดใน จ.สกลนคร นั้นมีอายุมากถึง 200 ปี

อย่างไรก็ดี หลังจากมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาผลผลิตที่เกิดจากหมากเม่า ส่งผลให้ปัจจุบันหมากเม่าเริ่มได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์น้ำหมากเม่าแท้ 100% น้ำหมากเม่าพร้อมดื่มและน้ำหมากเม่าเข้มข้น

ประชารัฐอี3‘ฐาปน’ ลั่น เพิ่มรายได้ชุมชน632ล.

นอกจากนี้ ยังมีสามดำภูพานสินค้าขึ้นชื่อของ จ.สกลนคร ได้แก่ ไก่ดำภูพาน, สุกรภูพาน, โคเนื้อภูพาน สินค้าดังกล่าวถือเป็นการเดินตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ มีพระราชดำรัสไว้เกี่ยวกับการพัฒนาสายพันธุ์สัตว์ ที่ส่งเสริมให้กับเกษตรกรว่าจะต้องเป็นพันธุ์สัตว์ที่เลี้ยงง่าย ใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยงแบบง่ายๆ กินอาหารที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น เข้ากับสภาพอากาศได้ดี ทนทานต่อโรคระบาด ซึ่งหากจะนำไปส่งเสริมให้กับเกษตรกรเลี้ยงเป็นอาชีพต้องไม่ขาดทุน

อีกหนึ่งสินค้าของดีของ จ.สกลนคร คือ ปลาเข็งยักษ์ราชมงคล โดยคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร และสำนักงานประมงจังหวัดสกลนคร จัดทำแผนปฏิบัติงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจปลาหมอไทย แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มต้นน้ำ (ผู้เพาะพันธุ์ลูกปลาที่มีคุณภาพจากพ่อแม่พันธุ์ที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP) กลางน้ำ (ผู้สนใจการเลี้ยงปลาหมอไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนฟาร์มและได้รับรองมาตรฐาน GAP) และกลุ่มปลายน้ำ (ผู้รับซื้อผลผลิตและผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงกลุ่มที่มีการแปรรูป) เป็นนวัตกรรมปลาหมอไทยอินทรีย์ตามมาตรฐานและหลักการที่ว่า “พันธุ์ดี บูรณาการการเลี้ยงดี ปลาโตไว กำไรงาม”

ฐาปน กล่าวต่อไปว่า ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาคณะทำงานได้ดำเนินงานผ่านกลไกประชารัฐตามนโยบายของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศภายใต้ยุทธศาสตร์ประชารัฐ ภายใต้ข้อตกลง 3 ฉบับ คือ โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก โครงการ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอีเกษตร และโครงการเชื่อมโยงการค้าปลีก สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ชุมชน และการท่องเที่ยว

จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ ทำให้การเข้าไปช่วยเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนประสบความสำเร็จในทิศทางที่ดี ซึ่งในส่วนของปีนี้จะเข้าไปสานต่อโครงการในส่วนของการทำแพลตฟอร์มกลางเรื่องข้าว ทั้งการยกระดับราคาสินค้าและการพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาจำหน่ายในตลาด ขณะนี้คณะทำงานอยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องเครื่องสีข้าวร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ประชารัฐอี3‘ฐาปน’ ลั่น เพิ่มรายได้ชุมชน632ล.

เบื้องต้นวางเป้าหมายว่าเครื่องสีข้าวจะต้องมีราคาไม่แพงมากนัก และอยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม คือ 4,000-6,000 บาท เนื่องจากขณะนี้เครื่องสีข้าวยังมีราคาที่สูง หรือประมาณ 1.8 หมื่นบาท นอกจากนี้คณะทำงานยังจะเข้าไปช่วยสนับสนุนการยกระดับราคาผ้าขาวม้าต่อเนื่อง จากราคาผืนละ 100 บาท ให้มีมูลค่าเพิ่มเป็นอย่างน้อย 1,000 บาท ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์เข้ามาช่วยในการออกแบบผ้าขาวม้า

อีกหนึ่งกลุ่มสินค้าที่ทางคณะทำงานได้เข้าไปสนับสนุนด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า คือ กุ้งล็อบสเตอร์ หรือ กุ้งมังกร ซึ่งก่อนหน้านี้ถือเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคไม่นิยมรับประทาน แต่หลังจากเข้าไปปรับเปลี่ยนรูปแบบของการทำตลาด ด้วยการเปลี่ยนชื่อจากกุ้งมังกรมาเป็นกุ้งล็อบสเตอร์ และทำกิจกรรมสนับสนุนพบว่าผู้บริโภคได้หันมารับประทานมากขึ้น ส่งผลให้ปัจจุบันราคากุ้งล็อบสเตอร์มีการขยับราคาขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 2,200-2,500 บาท จากเดิมที่ขายอยู่ราคากิโลกรัมละ 1,500-1,800 บาท

จากแนวทางการทำงานดังกล่าวได้ส่งผลให้ปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 632 ล้านบาท และจะยังเดินหน้าพัฒนาชุมชนต่อเนื่องเพื่อความยั่งยืนของชุมชนทั่วประเทศไทย ซึ่งถือเป็นฐานรากที่สำคัญของประเทศ