posttoday

จิตรกรรมฝาผนังอุโบสถ วัดอ่างศิลางามไม่มีที่ติ

27 สิงหาคม 2560

ผู้สื่อข่าวหลายชีวิต รวมทั้งผู้เขียนตื่นตาตื่นใจกับจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดอ่างศิลาต.อ่างศิลา อ.เมือง จ.ชลบุรี

โดย...ส. สต

ผู้สื่อข่าวหลายชีวิต รวมทั้งผู้เขียนตื่นตาตื่นใจกับจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถวัดอ่างศิลาต.อ่างศิลา อ.เมือง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นวัดโบราณสมัยกรุงศรีอยุธยา เพราะฝาผนังทุกด้านไม่มีช่องว่าง แต่ละด้านเป็นภาพเขียนเล่าเรื่องพุทธประวัติทั้งสิ้น ซึ่งพระปลัดสุเทพ สุเทโวรักษาการแทนเจ้าอาวาสให้ข้อมูลว่าเป็นภาพเขียนในสมัยรัชกาลที่ 4 อาจเป็นฝีมือขรัวอินโข่ง ช่างเขียนลือนามในสมัยรัชกาลที่ 4 ก็ได้ (ยังหาผู้ยืนยันไม่ได้) แต่ภาพเดิมนั้นชำรุดเลือนหายไปบางส่วน กรมศิลปากร ได้มาบูรณะซ่อมแซมใหม่แล้วเสร็จต้นปี 2560 จึงดูงามตา ได้ทุกมิติ และเต็มผนังอุโบสถทั้ง 4 ด้าน

ส่วนพื้นและผนังรอบๆ ภายในก็ได้รับการปรับปรุงดีมาก เช่น มีที่ระบายอากาศ ไม่ชื้น จึงรักษาภาพเขียนต่างๆ ให้ถาวรสืบไป

กรมศิลปากรให้ข้อมูลว่าเรื่องราวที่เขียนเป็นพุทธประวัติจากพระปฐมสมโพธิกถาเริ่มตั้งแต่เหล่าเทวดาอัญเชิญสันดุสิตเทวบุตรให้ลงมาจุติในโลกมนุษย์ และเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ เช่น อภิเษกพระเจ้าสุทโธทนะ และพระนางสิริมหามายา พระนางสิริมหามายาประสูติเจ้าชายสิทธัตถะเรื่อยไปจนเจ้าชายสิทธัตถะทรงอภิเษกพระนางยโสธรา เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงบำเพ็ญเพียรจนกระทั่งทรงตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และเทศนาโปรดสัตว์ไปยังที่ต่างๆ เป็นต้น

ส่วนพื้นที่ซึ่งเป็นห้องภาพในตอนล่างลงมานั้น เป็นเหตุการณ์สำคัญจากพระปฐมสมโพธิกถาในแต่ละปริเฉท เช่น ยสบรรพชาปริวัตต์ อุรุเวลกมนปริวัตต์ พิมพาพิลาปปริวัตต์ อัครสาวกบรรพชาปริวัตต์ พุทธปิตุนิพพานปริวัตต์ อัครสาวกบรรพชาปริวัตต์ เทศนาปริวัตต์ และเทโวโรหนปริวัตต์ อัครสาวกบรรพชาปริวัตต์มหาปรินิพพานปริวัตต์ ธาตุวิภัชน์ปริวัตต์

ส่วนด้านหลังขององค์พระประธานเขียนเป็นเหตุการณ์ตอนที่พระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปเทศนาโปรดหมู่เทพยดาบนสวรรค์

จิตรกรรมฝาผนังอุโบสถ วัดอ่างศิลางามไม่มีที่ติ พระปลัดสุเทพ

จิตรกรรมฝาผนัง

ภาพจิตรกรรมฝาผนังของพระอุโบสถ (หลังใน) นี้มีความงดงามเป็นฝีมือช่างชั้นครูในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ บานประตูพระอุโบสถภายในด้านหน้ามีภาพจิตรกรรมรูปกิจของสงฆ์ในการโปรดพุทธบริษัทอุบาสก-อุบาสิกา บานประตูพระอุโบสถภายในด้านหลังเป็นภาพเปรตเพศผู้-เพศเมียยืนพนมมือขอส่วนบุญ

บานหน้าต่างภายในเป็นภาพกิจของสงฆ์ ซึ่งใบหน้าพระภิกษุคล้ายกันทุกภาพซึ่งอาจจะเป็นภาพเหมือนของอดีตเจ้าอาวาสในสมัยนั้น ยกเว้นเพียงคู่เดียวเป็นภาพเทวดาผิวขาวและดำยืนอยู่บนสัตว์สี่ขาที่มีส่วนหัวเป็นรูปมนุษย์ ในมือของเทวดาถือดอกบัว

รอบพระอุโบสถมีแท่นประดิษฐานใบเสมา ลักษณะเป็นแท่นฐานสิงห์รองรับบัวคลุ่มและใบเสมาหินทรายแกะสลักลงรักปิดทอง มีประทุนก่ออิฐถือปูนครอบส่วนบน หลักฐานสำคัญ คือ ใบเสมาหินทรายด้านหน้าพระอุโบสถซึ่งแกะสลักเป็นรูปเทพพนมประทับนั่งอยู่บนดอกบัว ซึ่งมีรูปแบบทางศิลปกรรมที่เก่าไปถึงสมัยอยุธยา พระอุโบสถ (หลังใน) นี้จากรูปแบบทางศิลปกรรม สันนิษฐานได้ว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

อุโบสถเหมือนวัดราชโอรสาราม

ส่วนอาคารอุโบสถนั้นมองดูโดยรอบแล้วคล้ายคลึงกับพระอุโบสถวัดราชโอรสารามยิ่งนัก ซึ่งกรมศิลปากรให้ข้อมูลว่า เป็นอาคารก่ออิฐถือปูนแบบสถาปัตยกรรมไทย ผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหลังคาเครื่องไม้ลดชั้นสองตอนหน้า-หลัง มุงกระเบื้องสีซ้อนกันชั้นละ 2 ตับ ด้านสกัดหน้า-หลังมีหลังคาพาไลยื่นออกมาตรงกึ่งกลางยกสูงด้านข้างทำเป็นมุมเชื่อมต่อกัน ตับหลังคาด้านข้างเพื่อคลุมเป็นพาไลรอบอาคารซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะ มีเสาคอนกรีตตั้งรับชายคาเป็นระยะ

ระหว่างเสาด้านล่างก่อเป็นพนักทึบเตี้ย เว้นช่วงทางเข้า-ออกด้านละ 2 ช่องหน้าบันเป็นแบบก่ออิฐเป็นแผงทึบเต็มจั่ว ไม่มีคูหา หรือไขรา แบบที่เรียกว่า “กระเท่เซร” มีลวดลายปูนปั้นประดับด้วยเครื่องถ้วยลายคราม ฐานพระอุโบสถเป็นฐานบัวรองรับผนังก่ออิฐถือปูน

ด้านหน้า-หลังมีประตูเข้า-ออกด้านละ 2 ประตู ผนังด้านข้างมีหน้าต่างด้านละ 5 ช่อง บานประตูหน้าต่างไม้ลายรดน้ำ ซุ้มประตูและหน้าต่างทรงกรอบซุ้มมีลวดลายปูนปั้น ดอกและใบอย่างเทศประดับ

จิตรกรรมฝาผนังอุโบสถ วัดอ่างศิลางามไม่มีที่ติ ภาพเสด็จจากดาวดึงส์

2 วัดรวมเป็น 1

วัดอ่างศิลาเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของเมืองชลบุรี มีพื้นที่กว้างขวาง เพราะเป็นพื้นที่ 2 วัดที่ถูกยุบรวมกันเป็นเพียงวัดเดียว เมื่อ พ.ศ. 2459

ดังที่บันทึกประวัติว่า ต่อมาเมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เสด็จตรวจการคณะสงฆ์ในมณฑลปราจีนบุรี ได้เสด็จมายังวัดอ่างศิลาเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2459 ทรงทอดพระเนตรตรวจดูทั้งสองวัดแล้วมีพระดำรัสปรารภว่า “...ทรงเห็นเจริญไม่ทันกัน วัดในเจริญกว่าวัดนอก พระสงฆ์ก็ผิดกัน ดังได้เคยทรงสังเกตมาแล้วในที่อื่นเป็นเช่นนี้เพราะถือพวก ไม่เอาอย่างกันการถือพวกนั้น อาจจะปันลงไปถึงชาวบ้านในตำบลหาดีไม่ ถ้าได้รวมวัดในกับวัดนอกเป็นวัดเดียวกัน ความปรองดองในระหว่างพระสงฆ์ตลอดถึงชาวบ้านจะได้เป็นอันเดียวกัน ความเจริญจะได้เป็นไปพร้อมกัน ต่างจะได้อาศัยกำลังกัน ในการทำพิธีก็ดีในการเทศนาก็ดี ในอุโบสถสังฆกรรมก็ดี ยังมีข้อขัดแต่ทางเกวียนอันผ่านไปในระหว่าง แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดกราบทูลรับจะย้ายทางเกวียน ยอมให้เปิดเขตวัดถึงกัน เรียกชื่อตามตำบลว่าวัดอ่างศิลา

ให้พระครูสุนทรธรรมรสเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดอ่างศิลา

ให้เจ้าอาวาสวัดนอกเป็นฐานานุกรมของพระครูสุนทรธรรมรสหรือของพระครูชลธารมุนี ให้รวมกันทำอุโบสถและสังฆกรรมในอุโบสถเดียวกัน ตามแต่จะเลือกเอาอุโบสถไหน เหลืออีกแห่งหนึ่งให้ใช้เป็นวิหารให้รวมกันทำพิธีบูชาพิเศษ และมีเทศนาประจำวันพระ รับทานบริจาคของทายกในที่แห่งเดียวกันส่วนพระสงฆ์ให้อยู่กระจายกันทั้งสองสำนัก เพื่อจะได้รักษาเสนาสนะ และถาวรวัตถุให้คงอยู่ตามที่ฯ ... ดังนั้นวัดอ่างศิลาจึงได้รวมกันเป็นวัดเดียวในปี พ.ศ. 2459

ไปอ่างศิลาหาซื้อครกหินราคาแพงแล้ว อย่าลืมแวะไหว้พระวัดอ่างศิลา นะครับ

จิตรกรรมฝาผนังอุโบสถ วัดอ่างศิลางามไม่มีที่ติ จิตรกรรมเต็มผนังทั้ง 4 ด้าน