posttoday

วิจารณ์แซดประกาศสำนักพุทธฯ ที่จัดมาตรฐานสำนักเรียน

27 สิงหาคม 2560

พระเถระวิจารณ์กันแซด ที่มีประกาศเรื่องมาตรฐานสำนักเรียนและสำนักศาสนศึกษา พ.ศ. 2560 ที่ลงนามโดย

โดย...ส.คนจริง

พระเถระวิจารณ์กันแซด ที่มีประกาศเรื่องมาตรฐานสำนักเรียนและสำนักศาสนศึกษา พ.ศ. 2560 ที่ลงนามโดย พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ซึ่งพระเถระที่บริหารการศึกษาของคณะสงฆ์ ทั้งนักธรรมและบาลี บอกว่า หน้าที่ในการออกระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาของคณะสงฆ์ทั้งสองแผนก เป็นของแม่กองบาลีสนามหลวง และแม่กองธรรมสนามหลวง หรือที่สูงขึ้นไปก็เป็นมติมหาเถรสมาคม

การที่ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ออกประกาศ เรื่อง มาตรฐานสำนักเรียนและสำนักศาสนศึกษา พ.ศ. 2560 ลงวันที่ 1 ส.ค. 2560 ถูกต้องหรือไม่ หรือเป็นโมฆะ

เรื่องอย่างนี้ กรรมการมหาเถรสมาคม ต้องทำให้กระจ่าง มิเช่นนั้นจะคลุมเครือ

ในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่ง อ่านประกาศนี้ก็สงสัยว่า จะทำบอนไซ หรือตอน การศึกษาพระปริยัติธรรม ไม่ให้เติบโตหรือเปล่า เพราะดูคุณสมบัติของผู้เรียนที่ประกาศออกมานั้น มีคุณสมบัติดีไม่ต้องมาเรียนโรงเรียนพระปริยัติธรรม ที่ให้การอุปถัมภ์ค้ำจุนก็ได้ ที่น่าเป็นห่วง ดูเหมือนจะขัดแย้งกับมติของมหาเถรสมาคม พ.ศ. 2555

ประกาศมหาเถรสมาคม ว่าด้วยการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและบาลี พ.ศ. 2555 ประกาศไว้ 5 หมวด ในจำนวนนั้น หมวด 4 ว่าด้วยการบริหารและการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรม ที่ระบุในข้อ 11 ว่า ให้เจ้าสำนักเรียนและเจ้าสำนักศาสนศึกษาจัดการศึกษา หรือส่งเสริมให้ศึกษาวิชาสามัญเพิ่มเติม แก่ผู้เรียนที่ยังไม่จบการศึกษาภาคบังคับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด โดยคำแนะนำของมหาเถรสมาคม

ส่วนประกาศสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานสำนักเรียนและสำนักศาสนศึกษา พ.ศ. 2560 กำหนดมาตรฐานสำนักและสำนักศาสนศึกษา จำนวน 4 มาตรฐาน คือ 1.ด้านครูสอนพระปริยัติธรรม 2.ด้านของผู้เรียน 3.ด้านกระบวนการบริหาร และการจัดการของผู้บริหารสำนักเรียนและสำนักศาสนศึกษา 4.ด้านประกันคุณภาพภายในที่มีประสิทธิภาพ

ตามประกาศนี้ แจงคุณสมบัติแต่ละมาตรฐานออกเป็นข้อๆ ที่คิดว่าน่าจะเป็นปัญหา คือ มาตรฐานที่ 2 ด้านของผู้เรียน ที่ต้องมีคุณสมบัติดังนี้

2.1 คุณสมบัติของผู้เรียน

1) ผู้เรียนจะต้องสำเร็จการศึกษาภาคบังคับ ตามพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ

2) ผู้เรียนจะต้องมีศรัทธาต่อหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง

3) ผู้เรียนมีอุดมการณ์ในการเป็นศาสนทายาทที่ดีสืบต่อพระพุทธศาสนา

4) ผู้เรียนมีความพร้อมทั้งสภาพร่างกายและจิตใจ มุ่งมั่นที่จะเรียนรู้

2.2 คุณภาพของผู้เรียน

1) ความสามารถในการอ่าน การเขียน และแปลภาษาบาลี

2) ความสามารถในการอธิบายขยายความหัวข้อธรรม

3) ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

4) มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนผ่านตามหลักเกณฑ์ของแม่กองธรรมสนามหลวง และแม่กองบาลีสนามหลวง

5) ความพร้อมในการศึกษาต่อ หรือการปฏิบัติศาสนกิจ

คุณสมบัติแบบนี้ คงควานหาผู้มาเรียนได้ยาก โดยเฉพาะ 2.1 ข้อ (วงเล็บ) 1 เพราะทางเลือกเขามีมากกว่า และ 2.2 (วงเล็บ) 1 นั้น คนที่มาเข้าโรงเรียนพระปริยัติธรรม แค่อ่านหนังสือทั่วไปยังอ่านไม่ออก แต่ข้อนี้ระบุว่าต้องแปลภาษาบาลีด้วย รู้สึกว่าจะเลิศมากกว่าความเป็นจริง

ความเป็นจริง ก็คือ เด็กที่มาบวชเรียนเพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม หรือภาษาบาลี อ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ แม้ว่าจะจบการศึกษา ป.6 มาแล้ว ครูพระต้องจับมาเรียนมาสอนใหม่ จนกระทั่งอ่านออกเขียนได้ จึงให้เรียนนักธรรมชั้นตรี

ดังนั้น มาตรฐานของผู้เรียน ตามประกาศสำนักพุทธฯ จึงเป็นที่กังขาของพระสงฆ์ที่บริหารการศึกษาจึงเป็นที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อผู้บริหารการศึกษามารับโล่ประกาศเกียรติคุณและทุนสำหรับสำนักเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรมดีเด่น เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2560 ณ ศาลาอบรมสงฆ์วัดสามพระยา