posttoday

ปรางค์วัดอรุณราชวราราม

20 สิงหาคม 2560

ก่อนเดินทางมาแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ บ่ายวันที่ 16 ส.ค.นั้น ผู้เขียนได้คุยกับอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรที่ จ.สระแก้ว

โดย...ส.สต

ก่อนเดินทางมาแถลงข่าวที่กรุงเทพฯ บ่ายวันที่ 16 ส.ค.นั้น ผู้เขียนได้คุยกับอนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากรที่ จ.สระแก้ว เรื่องการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่งอธิบดีกล่าวอย่างมั่นใจว่าไม่หนักใจกับกระแสข่าวทางโซเชียลมีเดียที่วิพากษ์วิจารณ์ เพราะก่อนดำเนินการบูรณะนั้นเราได้ศึกษารายละเอียดเก็บข้อมูล บันทึกลวดลายไว้ทั้งหมด จัดเก็บแบบจดหมายเหตุ ทั้งปรางค์มุม ปรางค์ประธาน แลมณฑปทิศ

ในการบูรณะครั้งนี้ ลวดลายจะเปลี่ยนเฉพาะที่ชำรุดแตกหักทรุดโทรมจริงๆ ลวดลายที่สมบูรณ์ยังคงอยู่ เพียงแต่ความรู้สึกของบางคนมองดูเห็นขาวโพลน ลวดลายเหมือนจะน้อยลง ขอเรียนว่าก่อนดำเนินการนั้น ตะไคร่น้ำ เชื้อรา ความสกปรกอยู่เต็มไปหมด มองไกลๆ เห็นว่าแน่น พอทำความสะอาดพื้นสีขาวก็ปรากฏทำให้เกิดความรู้สึกว่า ลวดลายน้อยลง ทั้งๆ ที่เท่าเดิม แต่มันสะอาดขึ้น

กรมศิลปากรดำเนินการที่วัดอรุณฯ นั้น เพื่ออนุรักษ์และสืบต่อศิลปกรรมไม่ได้อนุรักษ์คราบตะไคร่หรือความเก่า เพราะพระปรางค์วัดอรุณฯ เป็นโบราณสถานที่ยังมีชีวิต (LivingMonument) มาแต่ครั้งรัชกาลที่ 2 และการบูรณะเป็นไปตามหลักการการสืบทอดศิลปกรรมดั้งเดิมเอาไว้ ไม่ว่าจะไปบูรณะที่ไหนก็ยึดหลักนี้ไว้

ณ ห้องประชุมดำรงราชานุภาพ อนันต์ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร ชี้แจงว่า ในปี 2556 กรมศิลปากรตรวจพบว่า พระปรางค์วัดอรุณฯ มีความชำรุด เนื้อปูนเสื่อมสภาพตามกาลเวลา จึงจัดทำโครงการบูรณะขึ้นตั้งแต่ปี 2556-2560

แนวทางการบูรณะยึดมั่นในหลักการตามสากล กล่าวคือ รักษารูปแบบ ฝีมือช่าง และวัสดุ เพื่อรักษาหลักฐานตามประวัติศาสตร์ที่มีการบูรณะซ่อมแซมองค์พระปรางค์มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 ถึงปัจจุบัน สิ่งที่ชำรุดก็ให้จัดทำขึ้นใหม่ โดยเลียนแบบของเดิมพร้อมกับมีการบันทึกหลักฐานของงานศิลปกรรม สถาปัตยกรรมไว้ทั้งก่อนการดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังการดำเนินการ โดยมีการดำเนินการอนุรักษ์ในส่วนพื้นผิวปูนฉาบและกระเบื้องประดับพระปรางค์ ดังนี้

1.ทำความสะอาดพื้นผิวตะไคร่น้ำที่ก่อให้เกิดคราบดำแก่องค์พระปรางค์ เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่เนื้อปูนในระยะยาวต่อไป

2.กะเทาะปูนบริเวณที่ผุเปื่อยหรือเสื่อมสภาพออกทำความสะอาด แล้วฉาบปูนใหม่เสริมความมั่นคง โดยใช้ปูนหมักตามกรรมวิธีโบราณ ซึ่งสีของเนื้อปูนดังกล่าวเป็นสีขาวโดยธรรมชาติ

3.เมื่อดำเนินการบูรณะเสร็จสมบูรณ์แล้วภาพรวมขององค์พระปรางค์จึงเป็นสีขาว

กรมศิลปากรได้ดำเนินการศึกษาลวดลายกระเบื้องเคลือบที่ใช้ในการประดับองค์พระปรางค์โดยการกระสวนลายเพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินงานบูรณะกระเบื้องที่มีความชำรุดเสียหายมาก หรือส่วนที่หลุดล่อนหายไป และจำแนกกระเบื้องจากลักษณะดังนี้

1.ตำแหน่งที่พบ (เช่น อยู่ในชั้นใต้ผิวปัจจุบัน หรือพบกระจายอยู่ทั่วไป)

2.ลักษณะกายภาพทั่วไป

3.ลักษณะเนื้อดินและอุณหภูมิ (เนื้อดินเผา Earthenware เนื้อแกร่ง Stoneware เนื้อกระเบื้อง Porcelain)

4.ลักษณะลวดลายสีเคลือบ

จากนั้นจึงดำเนินการคัดเลือกชิ้นงาน

ที่มีความสมบูรณ์เพื่อเป็นต้นแบบการทำวัสดุทดแทนด้วยเครื่อง 3D LASER SCAN และนำส่งโรงงานผลิตตามลักษณะลวดลาย เนื้อดิน และสีเคลือบดั้งเดิมต่อไป ในส่วนถ้วยชามโบราณ มิได้มีการแกะหรือนำชิ้นส่วนดั้งเดิมออกจากพระปรางค์ แต่ได้มีการจัดทำวัสดุทดแทนขึ้นใหม่เพื่อประดับเฉพาะส่วนที่หลุดหายไป จึงเห็นพระปรางค์ใหม่ขาวทั้งองค์