posttoday

การเตรียมความพร้อม รับมือประชากรวัยเกษียณ

06 สิงหาคม 2560

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชากรในประเทศส่วนใหญ่จะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยก็จะไม่แตกต่างกัน

โดย...โยชิฮิโร่ ซุวะ ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชากรในประเทศส่วนใหญ่จะเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งประเทศไทยก็จะไม่แตกต่างกันเมื่อรายได้ประชาชาติสูงขึ้นโดยเริ่มมีสัญญาณเตือนให้เห็นบ้างแล้ว

เมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลได้ตีพิมพ์รายงานเชิงลึกในหัวข้อ “การพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจฐานดิจิทัลของประเทศไทย” ระบุว่า ในปี 2528 ประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีเพียง 6% เท่านั้น (3.2 ล้านคน) จากนั้นในปี 2558 ตัวเลขผู้สูงอายุได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจถึง 3 เท่าตัวเป็น 10.7 ล้านคน ซึ่งเกินอัตราเฉลี่ยในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอัตราเฉลี่ยรวมของโลก

ประชากรกลุ่มนี้จะส่งผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการดูแลสุขภาพของประเทศไทย

เมื่อประเทศเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ ผลกระทบอย่างแรกที่เห็นได้ชัดเจนคือสถานดูแลผู้สูงอายุและเครื่องอำนวยความสะดวกด้านการดูแลสุขภาพมีไม่เพียงพอที่จะรองรับต่อจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น โครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์มีแนวโน้มว่าต้องกระจายออกไป ซึ่งเฉพาะผู้ป่วยวิกฤตเท่านั้นที่จะส่งไปรักษาที่
โรงพยาบาล ในขณะที่การดูแลผู้ป่วยระยะพักฟื้นที่บ้านกลายเป็นทางเลือกที่เหมาะสมในเชิงค่าใช้จ่ายมากที่สุด
เมื่อสถานที่สำหรับดูแลผู้สูงอายุมีไม่เพียงพอ สิ่งที่จะตามมาอย่างที่สองคือการขาดแคลนผู้ดูแล ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่สถานดูแล เมื่อประเทศไทยมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ความต้องการผู้ดูแลก็เพิ่มตามมา แต่จำนวนผู้ดูแลไม่สามารถเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับได้ทันท่วงที เนื่องจากผู้ดูแลต้องใช้เวลาในการฝึกฝนอบรมและต้องสะสมประสบการณ์

ปัญหาที่จะเกิดตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจคือพนักงานที่ทำงานบริษัทอาจต้องลดเวลาการทำงานลงหรือต้องออกจากงานเพื่อมาดูแลพ่อแม่ผู้สูงอายุด้วยตนเองที่บ้าน หากเขาเหล่านั้นไม่มีกำลังทรัพย์พอที่จะจ่ายค่าผู้ดูแลที่ค่าตัวสูงขึ้นเนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาด

สิ่งสำคัญอีกข้อคือสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอาจจะไม่เพียงพอที่จะรองรับประชากรผู้สูงอายุ การเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุที่ไม่อาจจะใช้บันไดหรือลิฟต์ได้อาจจะต้องมีการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ทั้งหมด เพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุ เช่น ที่จอดรถยนต์ต้องมีทางลาด รถโดยสารสาธารณะต้องมีพื้นที่สำหรับรถเข็น ที่อยู่อาศัยจะต้องปราศจากสิ่งกีดขวาง เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนที่และต้องติดตั้งอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดต่อสื่อสารหรือเพื่อลักษณะทางกายภาพ

ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกหลานสามารถตรวจสอบเมื่อผู้สูงอายุอยู่บ้านตามลำพังและยังช่วยป้องกันสิ่งผิดปกติ

ขณะที่ภาครัฐคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้ ก็ได้ริเริ่มความคิดเพื่อการพัฒนาอุปกรณ์ดิจิทัลที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้สูงอายุหลังวัยเกษียณ ซึ่งจะต้องทำไปพร้อมกันกับการปรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้สอดรับกับสังคมผู้สูงอายุที่เป็นอยู่นี้ เพื่อให้มีเงินทุนสนับสนุนที่เพียงพอ โมเดลความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนจึงเกิดขึ้น (Public-Private Partnership Models)

ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ต้องเตรียมตัวรองรับแรงงานผู้สูงอายุด้วย ในระยะยาวการจ้างงานผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะเป็นสิ่งที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยให้คนไทยยืดระยะเวลาในการมีรายได้ต่อเนื่องออกไป การทำงานจะช่วยป้องกันการเสื่อมสภาพทางร่างกายและจิตใจได้อีกด้วย

อีกทั้งผู้สูงอายุเหล่านี้ยังเป็นแหล่งความรู้ที่ดี นอกจากนี้การจัดโปรแกรมทบทวนความรู้สำหรับผู้สูงอายุคนไทยเพื่อให้พวกเขาได้รับการยอมรับในความสามารถและถูกจ้างกลับมาทำงานอีกครั้ง โปรแกรมนี้จะช่วยในการประมวลและจัดสรรงานให้ผู้สูงอายุที่ผ่านการรับรองได้อย่างเหมาะสม

บริษัทประกันสามารถสร้างกรมธรรม์แบบใหม่ๆ โดยมุ่งกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มผู้สูงอายุในแบบระยะสั้นและยาวตามความเหมาะสม ผู้ประกันตนอาจจะลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกหรือจับจองสถานที่ดูแลไว้ก่อน เผื่อมีความต้องการในอนาคต บริษัทประกันอาจเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้ประกันตนได้รับส่วนลดกรณีที่มีการดูแลตัวเองที่ดี เช่น การออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่ดี

สิ่งสำคัญคือแรงงานผู้สูงอายุหมายถึงแรงงานที่ลดลง เราจำเป็นจะต้องเพิ่มการผลิต โดยอาจใช้เทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยทำให้คนสามารถทำงานได้มากขึ้นด้วยจำนวนเวลาเท่าเดิม เช่น การแปลความคิดจากสมองมนุษย์มาสู่อุปกรณ์เทคโนโลยีต่างๆ จะกลายมาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับตลาดแรงงานในอนาคต การรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัทจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นไม่เพียงแต่สำหรับแรงงานผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ยังสำหรับแรงงานที่อาจได้รับการแทนที่ด้วยโดยเครื่องจักรระบบอัตโนมัติ

หมายเหตุ : บทความนี้ โยชิฮิโร่ ซุวะ ผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท โรแลนด์ เบอร์เกอร์ ได้ร่วมกับบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จัดทำรายงานเชิงลึกในหัวข้อ “การพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจฐานดิจิทัลของประเทศไทย” เพื่อเสนอต่อกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี