posttoday

เข้าใจธรรมให้ถูกความ

30 กรกฎาคม 2560

การศึกษาธรรมและนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต ย่อมทำให้นาวาชีวิตมีธรรมเป็นเข็มทิศ ชีวิตย่อมโลดแล่นไปโดยมีธรรมนำทาง

โดย...เชาวลิต บุณยภูษิต เครือข่ายพุทธิกา http://www.budnet.org

การศึกษาธรรมและนำมาใช้ในการดำเนินชีวิต ย่อมทำให้นาวาชีวิตมีธรรมเป็นเข็มทิศ ชีวิตย่อมโลดแล่นไปโดยมีธรรมนำทาง ต่างจากชีวิตที่ล่องลอยไปตามการลองถูกลองผิดเป็นแน่แท้

การปฏิบัติธรรมก็ไม่ได้มีความหมายแคบๆ ว่าคือการเข้าวัดปฏิบัติกรรมฐาน หรือเจริญจิตตภาวนา อย่างที่คนไม่น้อยในทุกวันนี้เข้าใจกัน จึงเกิดหลักสูตรปฏิบัติธรรมกันขึ้นในวัดบ้างนอกวัดบ้าง

เลยเกิดความสงสัยขึ้นว่าตอนที่ไม่ได้เข้าหลักสูตรก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรมกันละหรือ?

ถ้าคำว่า “ปฏิบัติธรรม” มีความหมายแคบดังนัยข้างต้นแล้ว พุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ประพฤติธรรมย่อมอยู่เป็นสุข” “ธรรมที่ประพฤติดีแล้วนำมาซึ่งความสุข” หรือ “ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” จะมิเป็นจริงได้เฉพาะตอนที่ปฏิบัติกรรมฐานอยู่เท่านั้นละหรือ?

ในความหมายที่กว้างกว่า การปฏิบัติธรรมควรจะเป็นการศึกษาหลักธรรม แล้วนำมาใช้ในการฝึกฝนพัฒนาตนเองในทุกขณะของลมหายใจ เพื่อชีวิตจะได้ดำเนินไปสอดคล้องกับความธรรม ใช่หรือไม่?

ดังที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เคยปรารภกับนิสิตปริญญาโท แห่งบัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2532 และกลายมาเป็นหนังสือ “ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง” ว่าการปฏิบัติธรรมคือเอาธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิตทำการงาน เอาธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริง เพื่อให้ชีวิตเป็นไปด้วยดี

“ไม่ใช่การปลีกตัวออกจากสังคม ไปอยู่วัด ไปอยู่ป่า แล้วก็ไปนั่งบำเพ็ญสมาธิอะไรอย่างนั้น ไม่ใช่แค่นั้น อันนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เป็นการพยายามนำธรรมมาใช้ในขั้นลึก ในการที่จะฝึกฝนจิตใจอย่างจริงๆ จังๆ”

ท่านอาจจะเป็นห่วงว่าสังคมไทยจะใช้และเข้าใจความหมายของ “ปฏิบัติธรรม” แคบลงๆ ทุกวัน เมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2560 ท่านจึงปรารภกับญาติโยมที่ไปเยี่ยมอาการอาพาธที่โรงพยาบาลอีก (มีผู้ถอดเทปมาเป็นหนังสือ “สำนักปฏิบัติธรรม ที่สมนาม คือ ฟื้นธรรม ฟื้นถิ่น ฟื้นไทย”) ว่า “กลายเป็นมีความหมายแคบจำเพาะ นี่ก็คือท่านหวังดี แต่โดยไม่ทันนึก ก็จะกลายเป็นบีบแคบโค่นตัวเอง นึกว่าดีมีสำนักปฏิบัติธรรมเยอะ ไปๆ มาๆ จะกลายเป็นแยกชาวบ้านออกจากพระพุทธศาสนา”

“ที่พูดกันอย่างนั้น หมายความว่า อยู่ที่นี่ ที่เป็นอยู่กันทุกวันๆ นี่ ไม่ได้ปฏิบัติธรรมกันเลยหรือ อยู่ที่บ้าน เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นลูก ไปที่ทำงาน มีตำแหน่งหน้าที่กันต่างๆ นั้น ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่ได้เป็นอยู่ ไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวให้ถูกต้อง อย่างนั้นหรือ จึงต้องรอไว้ไปที่วัดนั้น ไปที่สำนักโน้น ที่ไกลๆ นั่น จึงจะได้ปฏิบัติธรรมกันทีหนึ่ง คราวหนึ่ง คอร์สหนึ่ง”

ผมเองหลังจากย้ายไปอยู่บ้านในย่านศาลาธรรมสพน์ เขตทวีวัฒนาเมื่อสิ้นเดือน ม.ค. ปี 2546 เช้าวันหนึ่งหมุนคลื่นวิทยุ ได้ยินเสียงบรรยายธรรมซึ่งเป็นเสียงของพระภิกษุที่เหมือนกับเคยได้ฟังเสียงท่านมาก่อน (เคยฟังท่านในขณะดำรงสมณศักดิ์เป็น “พระเทพเวที” ปาฐกถา เรื่อง “การพัฒนาวิทยาศาสตร์มองจากแง่มุมของพุทธศาสนา” ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2535) ผมฟังจนจบก็ทราบจากสถานีว่าเป็นเสียงการบรรยายธรรมโดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) (ปัจจุบันคือสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) เจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน และสถานีวิทยุที่กระจายเสียงเป็นคลื่นวิทยุเอฟเอ็ม 104.25 เมกะเฮิรตซ์ ของสถานีวิทยุพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ว.พ.ช.) ซึ่งส่งสัญญาณออกอากาศจากพุทธมณฑลในรัศมีที่ไม่ไกลจากบ้านนัก

หลังจากนั้นในช่วงเช้าก็เปิดวิทยุฟังการบรรยายธรรมตามแต่โอกาสอำนวย และเป็นแรงจูงใจให้ค้นหาวัดญาณเวศกวัน รวมถึงไปที่วัดในเวลาต่อมา เพราะคิดว่าท่านคงบรรยายธรรมให้แก่คนที่ไปวัด มาเข้าใจภายหลังว่าเสียงบรรยายธรรมที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุเวลานั้นเป็นเสียงจากซีดีที่บันทึกไว้นานแล้วบ้าง บันทึกเสียงที่ท่านสอนพระใหม่บ้าง แต่ผมก็ยังไปวัดญาณเวศกวันในวันหยุดเพื่อเจริญจิตตภาวนาและฟังธรรมใต้อุโบสถวัดญาณเวศกวัน ซึ่งสอนโดยพระครรชิต คุณวโร (ปัจจุบันคือพระครูปลัดสัมพิพัฒนศีลาจารย์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส) ตามปกติ

ระหว่างนั้นผมก็นำหนังสือและซีดี ซึ่งนิพนธ์และบรรยายโดยสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ที่ทางวัดญาณเวศกวันทำแจกเป็นธรรมทานมาศึกษา ผมเพลิดเพลินที่ได้ฟังการบรรยาย ได้อ่านงานนิพนธ์เรื่องต่างๆ ของท่าน การฟังธรรมบรรยายของท่านทำให้เห็นอัจฉริยภาพของท่านในการนำหลักธรรมที่ลึกซึ้งมาอธิบายให้น่าฟัง น่าติดตาม ทำความเข้าใจตาม และนำมาใช้ในชีวิตได้ จนผมตัดสินใจไปเขียนใบสมัครบวชที่วัดญาณเวศกวัน เพื่อจะได้มีโอกาสศึกษากับท่าน และในที่สุดได้บวชเรียนโดยมีท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ตลอดพรรษาปี 2550 (ระหว่างวันที่ 22 ก.ค.-15 พ.ย. 2550) ดังที่เคยนำมาเขียนเล่าไว้ ณ ที่นี้ตามโอกาสต่างๆ

การศึกษาผลงานธรรมนิพนธ์และธรรมบรรยาย ทำให้ประจักษ์แจ้งด้วยตัวเองว่าสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์นอกจากจะมีความเข้าใจในพระธรรมวินัย และสามารถเชื่อมโยงหลักธรรมวินัยเข้ากับศาสตร์ต่างๆ  ทั้งนิติศาสตร์ แพทยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ สังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ การเมือง สิ่งแวดล้อม ฯลฯ และยังเป็นเลิศในการนำหลักธรรมมาใช้มองโลกและศาสตร์แขนงต่างๆ ทำให้เห็นความเชื่อมโยง ความสอดคล้อง ความขัดแย้ง หรือทางออก ท่านเป็นผู้มีความรู้ชนิด “ความรู้ฐานก็มั่น ความรู้ทันก็มี” ซึ่งหาได้ยากยิ่งนัก

ธรรมบรรยายและธรรมนิพนธ์ต่างๆ ยิ่งน่าทำความเข้าใจตามเมื่อท่านนำหลักธรรมมาใช้มองและวิเคราะห์สังคมไทยของเราเอง (จึงสิ้นสงสัยว่าทำไมสถาบันการศึกษาถึงเกือบ 20 แห่ง ถึงน้อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ตำแหน่งเชิดชูเกียรติและรางวัลเกียรติยศต่างๆ แก่ท่านผู้เพียงนำธรรมมาแสดงให้ปรากฏ!)

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นพระภิกษุที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นิมนต์ไปแสดงปาฐกถาพิเศษในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2534 จนต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2541 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงถวายปริญญาวิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์

ปัจจุบันสังคมเรากำลังเพรียกหาและร่วมกันผลักดันการปฏิรูปสังคมไทยในมิติต่างๆ ซึ่งก็เป็นพลังความสามัคคีที่จะทำให้สังคมเราดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะพยายามปฏิรูปองคาพยพใดของสังคมนี้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ลืมไม่ได้คือการปฏิรูปคน ผู้เป็นสมาชิกของสังคม และสิ่งที่ต้องพัฒนาเหนืออื่นใดคือ การพัฒนาปัญญาของคนในสังคมให้มีธรรมเป็นหลักชีวิต ถ้าทำได้ดังกล่าวมา มั่นใจได้ว่าประเทศไทยอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีและสง่างามในเวทีโลกอย่างแน่นอน เพราะ...

“ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ ผู้ชังธรรมเป็นผู้เสื่อม (ธัมมะกาโม ภะวัง โหติ  ธัมมะเทสสี ปะราภะโว)”