posttoday

พระราชทานช่วยน้ำท่วม 19 จังหวัดยังวิกฤต

30 กรกฎาคม 2560

สถานการณ์น้ำท่วมจากพายุเซินกาที่เข้าถล่มในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์ 

สถานการณ์น้ำท่วมจากพายุเซินกาที่เข้าถล่มในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคกลาง ผลพวงฝนที่เกิดขึ้นยังคงสร้างปัญหาให้กับหลายจังหวัด โดยข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ที่ระบุว่าขณะนี้ใน 19 จังหวัดยังคงตกอยู่ในสถานการณ์น้ำท่วม โดยเฉพาะ จ.สกลนคร ที่ยังคงวิกฤต ซึ่งล่าสุดเมื่อ 29 ก.ค. 2560 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 คน จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่ อ.กุดบาก และมีผู้สูญหายอีก 2 คน ที่ อ.เมืองสกลนคร ขณะที่ชุมชนอีก 43 แห่งในเขตเทศบาล ยังคงถูกน้ำท่วมขังสูงถึง 1-2 เมตร

แต่กระนั้น ชาวสกลนครและจังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วมยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณ เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงโปรดเกล้าฯ ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ นำอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม แจกจ่ายให้กับประชาชน จ.สกลนคร

ด้าน กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ประสานเร่งด่วนไปยังกรมชลประทานให้เพิ่มเครื่องดันน้ำลงไปยังแม่น้ำก่ำ เพื่อเร่งระบายน้ำที่อยู่ในเขต อ.เมืองสกลนคร ลงไปแม่น้ำโขงอย่างเร็วที่สุด

พระราชทานช่วยน้ำท่วม 19 จังหวัดยังวิกฤต

สอดรับกับ พล.ท.วิชัย แชจอหอ แม่ทัพภาคที่ 2 ที่ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจความเสียหายและปริมาณน้ำที่ท่วมขังในตัวเมืองสกลนคร และอำเภอใกล้เคียง พบว่า ปริมาณน้ำยังท่วมสูง สถานการณ์ยังอยู่ในขั้นวิกฤต ก่อนจะสั่งการให้หน่วยทหารเร่งนำเรือท้องแบนและรถบรรทุกออกไปให้การช่วยเหลือประชาชนในหมู่บ้านต่างๆ พร้อมขนย้ายทรัพย์สินออกมาอยู่ในที่ปลอดภัยเป็นการเร่งด่วน

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่กระทบสนามบินสกลนครจนต้องปิดบริการชั่วคราวนั้น อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ระบุว่า จะต้องปิดสนามบินสกลนครออกไปอีกจนถึงวันที่ 31 ก.ค. 2560 หลังประเมินสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำที่ท่วมขังภายในสนามบิน ทั้งนี้ สนามบินสกลนครปิดชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โรงพยาบาลสกลนครปริมาณน้ำที่ท่วมขังได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง และโรงพยาบาลได้เปิดให้บริการตามปกติทุกแผนก ซึ่ง นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งทีมวิศวกรเข้าไปตรวจสอบระบบไฟฟ้า ประปา และอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อให้พร้อมรองรับการดูแลรักษาผู้ป่วย

ขณะที่พื้นที่ข้างเคียง จ.สกลนคร ก็ได้รับผลกระทบจากพายุเซินกาด้วยเช่นกัน โดยล่าสุดป่าคำชะโนด จ.อุดรธานี ซึ่งประชาชนนิยมเดินทางไปกราบไหว้ปู่ศรีสุทโธและย่าศรีปทุมมา ได้ถูกสั่งปิดเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเกรงประชาชนจะได้รับอันตรายจากสถานการณ์น้ำท่วม

ไม่ต่างจาก จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งล่าสุดสถานการณ์น้ำท่วมได้ขยายวงกว้างครอบคลุม 15 อำเภอ 70 ตำบล 439 หมู่บ้าน มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 1 หมื่นครัวเรือน ทั้งนี้ ทางจังหวัดได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมในเบื้องต้นแล้ว 11 อำเภอ และอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 4 อำเภอ ขณะที่การช่วยเหลือยังคงลำบาก เนื่องจากฝนตกต่อเนื่องตลอดหลายวัน และกระแสน้ำมีความเชี่ยวกราก

พระราชทานช่วยน้ำท่วม 19 จังหวัดยังวิกฤต

ในส่วนพื้นที่อื่นๆ เช่น ที่ จ.นครราชสีมา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แจ้งเตือนพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.ประทาย โนนแดง และชุมพวง เนื่องจากเป็นพื้นที่รองรับน้ำจาก อ.สีดา และบัวใหญ่ ที่ไหลตัดผ่านถนนมิตรภาพ ซึ่งน้ำจะลงสู่หมู่บ้านชุมชนและพื้นที่นาข้าว โดยขอให้เร่งขนย้ายทรัพย์สินขึ้นที่สูงโดยเร็ว และคาดว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะยังคงต่อเนื่องไปอีกหลายวัน

ที่ อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ กระแสน้ำเชี่ยวกรากพัดบ้านเรือน 3 หลังเสียหายอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเก็บของหนีน้ำได้ทัน และถือเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปีของ จ.บุรีรัมย์

ขณะที่ในเขต อ.เมือง และวารินชำราบ ของ จ.อุบลราชธานี ปริมาณน้ำในแม่น้ำมูลสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยระดับน้ำอยู่ต่ำกว่าแนวตลิ่งเพียง 50 เซนติเมตร โดยทางจังหวัดต้องเร่งนำกระสอบทรายมาติดตั้ง และใช้เครื่องสูบน้ำช่วยระบายอย่างเร่งด่วน เนื่องจากหวั่นกระทบกับพื้นที่เศรษฐกิจของอำเภอ

ขณะที่ความคืบหน้าสถานการณ์น้ำจากแม่น้ำป่าสัก จ.เพชรบูรณ์ ที่เอ่อล้นทะลักออกจากตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนจำนวน 151 ครัวเรือนในเขต อ.หล่มเก่า นั้น ล่าสุดปริมาณน้ำยังคงสูงขึ้นราว 1 เมตร ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมหนักที่สุดในรอบ 30 ปี โดยมวลน้ำเข้าท่วมพื้นที่ในช่วงเช้ามืดวันที่ 29 ก.ค.

ส่งผลให้หลายครัวเรือนไม่สามารถขนของหนีน้ำได้ทัน จึงจำเป็นต้องปล่อยให้ทรัพย์สินจมน้ำ รวมถึงถนนเข้าหมู่บ้านใน ต.ศิลา และ ตาดกลอย ของ อ.หล่มเก่า ยังใช้การไม่ได้เนื่องจากน้ำท่วมสูง เจ้าหน้าที่ที่เข้าให้การช่วยเหลือต้องเดินเท้าลัดเลาะตามเชิงเขาเพื่อเข้าสู่หมู่บ้านช่วยเหลือประชาชน 

พระราชทานช่วยน้ำท่วม 19 จังหวัดยังวิกฤต

ส่วนการหาทางแก้ไขและช่วยเหลือประชาชนจากรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้โทรศัพท์เร่งด่วนเพื่อหารือกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะให้เร่งรวบรวมข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศผ่านเรดาร์ เพื่อนำมาประมวลผลประกอบการทำงานกับพื้นที่จริงในการหาพื้นที่รองรับปริมาณน้ำ

“พล.อ.ประยุทธ์ ยังขอให้ประชาชนอย่าเชื่อข่าวลือต่างๆ ทั้งอ่างเก็บน้ำแตก หรือพายุเนสาทที่รุนแรงกว่าเซินกาถึง 2 เท่า เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ซึ่งทั้งสองเรื่องไม่เป็นความจริง โดยพายุเนสาทจะกระทบกับไต้หวัน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับไทย” พล.ท.สรรเสริญ ยืนยัน

อย่างไรก็ตาม สมิทธ ธรรมสโรช ประธานมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ระบุว่า แม้ทิศทางแนวโน้มพายุเนสาทจะเข้าที่ประเทศจีนหรือไต้หวัน แต่ว่าอาจเปลี่ยนแปลงได้ รัฐบาลจะต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด และแจ้งให้ประชาชนรับรู้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ ยังมีมุมมองที่น่าสนใจจากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้น โดย หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ให้ความเห็นว่า แม้ปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ จ. สกลนคร และจังหวัดใกล้เคียง จะเป็นอุทกภัยที่เกิดจากอิทธิพลของพายุเซินกา ทำให้ฝนตกหนักต่อเนื่อง แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำระบายได้ช้าลงก็คือ ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งก่อสร้างที่ขวางทางระบายน้ำในตัวจังหวัด

“มีสิ่งก่อสร้างที่เป็นโกดังสินค้าและซูเปอร์สโตร์ขนาดใหญ่สร้างเบียดทางน้ำ และมีถนนขวางเส้นทางน้ำ ทำให้น้ำระบายสู่หนองหาร ซึ่งเป็นเส้นทางระบายน้ำสำคัญของ จ.สกลนคร ได้ช้าลง และส่งผลให้น้ำระบายลงเขื่อนในพื้นที่ ซึ่งปกติทำหน้าที่รับน้ำได้ต้องทำงานหนักขึ้น และต้องปล่อยน้ำลงไปสู่พื้นที่ด้านล่างหมด และน้ำที่ระบายลงสู่หนองหารก็จะระบายสู่แม่น้ำโขงต่อไป”

หาญณรงค์ ทิ้งท้ายว่า คาดว่าปริมาณน้ำที่เข้าท่วม จ.สกลนคร จะระบายลงสู่แม่น้ำโขงทั้งหมด อาจต้องใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่สิ่งที่ต้องจับตาคือการรับน้ำของเขื่อนในภูมิภาคนี้ ซึ่งเดิมไม่เคยเก็บกักน้ำปริมาณมากขนาดนี้หรือเก็บน้ำเต็มเขื่อนมาก่อน และจะพร่องน้ำออกไปตลอดเพื่อทำการเกษตร แต่ครั้งนี้มีปริมาณน้ำจำนวนมาก อาจมีปัญหาเรื่องความมั่นคงของเขื่อนและศักยภาพของการรับน้ำปริมาณมาก

พระราชทานช่วยน้ำท่วม 19 จังหวัดยังวิกฤต