posttoday

หลวงพ่อคำบ่อ ฐิตปัญโญ

19 กันยายน 2553

เดือน พ.ย.นี้ ศิษย์สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต รูปหนึ่งจะมีอายุครบ 79 ปี ท่านเป็นหนึ่งในพ่อแม่ครูอาจารย์สายพระอาจารย์มั่นแห่งภาคอีสานที่ดำรงตนอย่างมั่นคงในวัตรปฏิบัติตามปฏิปทาพระป่ากรรมฐาน

เดือน พ.ย.นี้ ศิษย์สายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต รูปหนึ่งจะมีอายุครบ 79 ปี ท่านเป็นหนึ่งในพ่อแม่ครูอาจารย์สายพระอาจารย์มั่นแห่งภาคอีสานที่ดำรงตนอย่างมั่นคงในวัตรปฏิบัติตามปฏิปทาพระป่ากรรมฐาน

ศิษย์รูปนั้นคือ หลวงพ่อคำบ่อ ฐิตปัญโญ แห่งวัดใหม่บ้านตาล ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร

แม้หลวงพ่อคำบ่อจะมิได้มีโอกาสอยู่ฝึกปฏิบัติภาวนากับพระอาจารย์ใหญ่มั่น เนื่องด้วยหลวงพ่อคำบ่ออุปสมบทเมื่อปี 2495 ภายหลังจากที่พระอาจารย์มั่นดับขันธ์ไปแล้ว (พระอาจารย์มั่นมรณภาพในปี 2492) แต่หลวงพ่อคำบ่อก็เป็นหนึ่งในผู้ที่อุปัฏฐากใกล้ชิดและอยู่ฝึกปฏิบัติภาวนากับศิษย์รุ่นใหญ่ของพระอาจารย์มั่นหลายรูปด้วย อาทิ หลวงปู่ขาว อนาลโย หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม หลวงปู่สิม พุทธาจาโร หลวงปู่หลุย จันทสาโร หลวงปู่ชอบ ฐานสโม หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ท่านพ่อลี ธัมมธโร

ชีวประวัติของหลวงพ่อคำบ่อนั้น ถูกบันทึกไว้เพียงแหล่งเดียว นั่นคือในหนังสือชีวประวัติ ที่จัดพิมพ์แจกจ่ายในงานทำบุญฉลองอายุครบ 6 รอบ (72 ปี) เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2546 โดยหนังสือชีวประวัติเล่มนี้ ท่านเมตตาเขียนด้วยตัวเองและอนุญาตให้คณะศิษยานุศิษย์จัดพิมพ์ขึ้น คาบใบลานผ่านลานพระ ได้สรุปย่อและนำมาเผยแพร่โดยสังเขปดังนี้

หลวงพ่อคำบ่อ ฐิตปัญโญ

หลวงพ่อคำบ่อมีนามเดิมว่า คำบ่อ พวงสี เกิดเมื่อวันพุธที่ 11 พ.ย. 2474 ที่บ้านตาล ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เป็นบุตรคนโตของครอบครัวโดยมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด 7 คน

หลังศึกษาจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 บิดา-มารดาก็ปรารถนาจะให้ ด.ช.คำบ่อ บวชเป็นสามเณร แต่ด้วยความที่ต้องการจะช่วยครอบครัวหาเลี้ยงชีพ ด.ช.คำบ่อจึงขอทำงานช่วยบิดา-มารดาก่อนและจะบวชให้ในภายหลัง

กระทั่งเดือน ก.พ. ปี 2495 จึงได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ขณะที่มีอายุได้ 21 ปี โดยคุณตาของหลวงพ่อคำบ่อได้พาไปมอบเป็นนาค ที่วัดตาลนิมิต บ้านตาล ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ต่อมานาคคำบ่อได้เดินทางไปช่วยสร้างพระอุโบสถที่วัดเจริญราษฎร์บำรุง บ้านมาย อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร และได้บวชเป็นสามเณร ณ วัดเจริญราษฎร์ฯ ในเดือน มี.ค. ก่อนที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระอุโบสถหลังใหม่ที่ได้สร้างเสร็จลง เมื่อวันที่ 21 เม.ย. โดยมี พระมหาเถื่อน อุชุกโร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระลี ฐิตธัมโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระโง่น โสรโย เป็นพระอนุสาวนาจารย์

บวชเสร็จหลวงพ่อคำบ่อก็เดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดตาลนิมิต อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ล่วงเข้าพรรษาที่ 2 จึงได้พบกับ หลวงปู่อ่อนศรี ฐานวโร ที่เดินทางมาที่วัดและได้ชวนให้ไปอยู่จำพรรษาด้วยกันที่ จ.อุบลราชธานี ก่อนจะเดินทางมาจำพรรษาที่วัดวิเวการาม ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

ระหว่างที่จำพรรษาอยู่ที่ชลบุรีในช่วงปี 2498 หลวงพ่อคำบ่อได้มีโอกาสเดินธุงดงค์ไปยังภาคใต้และได้มีโอกาสรับฟังคำสอนการปฏิบัติภาวนาจากพ่อแม่ครูอาจารย์หลายรูป โดยได้ไปพักอยู่ จ.เพชรบุรี วัดอุทัยโพราม กับหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม ก่อนจะไปอยู่กับหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ ที่ จ.พังงา

ท่านบันทึกไว้ว่า ในช่วงนั้นได้ป่วยเป็นไข้มาลาเรียอย่างหนัก แต่ใจก็ยิ่งเร่งความพากเพียรทำให้มีกำลังใจ จนทำให้ปรากฏเห็นพระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสาวกเดินมาตามหาดทราย เกิดความปีติยินดีเป็นอันมากได้เห็นพระพุทธเจ้า ไม่ได้หลับนอน ไม่โกรธเกลียดให้ใครทั้งนั้น ใจสบาย มีแต่อยากจะพูดธรรม ไม่มีเรื่องอะไรให้ใจกังวล การรักษาตามมีตามได้ ข้อวัตรปฏิบัติก็ไม่ขาดตกบกพร่องอะไร จนกระทั่งหายป่วย จากนั้นจึงได้มีโอกาสเข้ารับฟังโอวาทธรรมจาก หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดไม้ขาว จ.ภูเก็ต ก่อนจะกลับมาจำพรรษาที่ชลบุรี

หลวงพ่อคำบ่อจำพรรษาอยู่แถบภาคตะวันออกอยู่ 4 ปี ท่านจึงออกวิเวกขึ้นไปยังภาคเหนือโดยการวิเวกมาภาคเหนือครั้งนี้ หลวงพ่อคำบ่อได้มีโอกาสไปพักฟังโอวาทธรรม อุบายธรรมจากศิษย์รุ่นใหญ่ของพระอาจารย์มั่นหลายองค์ด้วยกัน อาทิ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ ท่านพ่อลี ธัมมธโร หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม หลวงปู่สิม พุทธาจาโร

ท่านออกวิเวกปฏิบัติภาวนาอยู่แถบภาคเหนืออยู่นานกว่า 10 พรรษา ตั้งแต่ปี 2501 จนถึงปี 2517 ก่อนจะกลับไปจำพรรษา ที่วัดใหม่บ้านตาล ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน

การที่ออกปวิเวกอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือเป็นเวลานาน จึงมีประสบการณ์จากการปฏิบัติภาวนาถูกบันทึกไว้ในชีวประวัติของหลวงพ่อคำบ่ออยู่หลายช่วงด้วยกัน

หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ “อารมณ์”

หลวงพ่อคำบ่อบันทึกไว้ว่า เมื่อครั้งไปจำพรรษาอยู่กับชาวเขาเผ่าเย้า จ.เชียงราย ในปี 2505 ก็ตั้งกายตั้งใจไปแสวงหาความสงบ มีอยู่วันหนึ่ง ขณะที่นั่งสมาธิอยู่ในกระต๊อบก็มีคน 3 คนไปหา แต่เขาเข้าใจผิดคิดว่าเราไม่อยู่ในสถานที่นั้น เขาจึงตะโกนเรียกหาใช้เสียงดังสุดเสียง ทำให้เรามีอารมณ์ข่มใจขืนใจไม่อยู่ เพราะคิดว่าเขาเหยียดหยามไม่เคารพต่อเรา ความคิดนี้เกิดขึ้นมาอย่างรุนแรง จึงคว้าเอามีดที่อยู่ในกระต๊อบออกมาหวังจะฆ่าพวกที่คิดว่าเขาดูถูกเรา ไปตะโกนเรียกเราในสถานที่นั้น นึกว่าตัดคอมันทั้ง 3 คน

พอเปิดประตูออกมาเห็นกิริยาของคนทั้ง 3 กราบลงทั้ง 3 ครั้ง เขากล่าวว่า “ขอโทษ พวกผมไม่รู้ว่าท่านอยู่ที่นี่” กิริยาที่แสดงออกของเขาทั้งกาย วาจา ที่เปล่งออกมานั้น บอกว่า ขอโทษ จิตมันวูบลง เมื่อเห็นเขาแสดงความเคารพเลยสะกดจิตไว้ได้เย็นลงทันที ความร้อนนี้ การสะกดจิตนี้อย่าไปสะกดคนอื่นเลย ให้สะกดจิตตัวเองนี้ ถ้าทำได้เวลาเกิดอารมณ์ ความยินดีบางทีให้คุณก็ได้ให้โทษก็ได้ ยินร้ายให้คุณก็ได้ให้โทษก็ได้ ยินร้ายให้คุณเมื่อได้สติปัญญาขึ้นมาไม่เช่นนั้นก็รู้สิ่งเหล่านี้เห็นสิ่งเหล่านี้ไม่ได้

เรื่องของอารมณ์ที่มันเกิดขึ้นกับจิต สิ่งเหล่านี้ต้องมีสิ่งกระทบนะ ที่เกิดจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เข้ากระทบจิตเรียกว่า เจตสิกธรรม จึงจะนำอารมณ์ให้ยินดีและยินร้ายขึ้นมาได้ จึงให้สะกดจิตเราอย่ายินดีอย่ายินร้าย สมัยเป็นฆราวาสไม่กลัวเป็นกลัวตายมันอยากจะฆ่าคนอื่น ไม่รู้จักสะกดจิตตนเอง พอมารู้อรรถธรรมก็สะกดจิตได้ เกิดเมตตาสงสารได้ ยินดียังไงก็สะกดได้ โอกาสการทำชั่วผิดศีลผิดธรรมนั้นมีโอกาสทำได้ แต่เราสะกดจิตเราไม่ฆ่าไม่ทำลาย พอสะกดจิตอยู่แล้ว จะมีปัญญาขึ้นมาอีกที

พิจารณาให้เห็นประโยชน์ เห็นโทษ เห็นภัย ความยินดีก็ทุกข์ได้ ความยินร้ายก็ทุกข์ได้ ความโกรธที่มันมีขึ้นอย่างรุนแรงก็จะอ่อนลง ทำให้เกิดความเมตตาสงสารขึ้น ในเวลานั้นมาระลึกนึกว่า ถ้าเราฆ่าคนตายจะได้อะไรจากความตายของเขา เราได้อะไรจากการกระทำของเราเมื่อเขาตายไปแล้ว คือได้ความไม่สงบจะต้องถูกจับ ถูกตำหนิติเตียน ติดคุก ติดตะราง อย่างนี้หรือเป็นผู้มาแสวงหาความสงบ ระงับดับทุกข์ มันผิดจากสมณะ ผู้สงบระงับดับความชั่วความเลว ดับทุกข์ ดับโทษ อย่างที่ปรารถนาไว้เบื้องต้น

เมื่อได้สติสัมปชัญญะ ความรู้ตัวขึ้นมาเช่นนี้แล้ว ความโกรธจึงค่อยระงับดับลง ไม่ได้ทำความชั่วถึงทำลายชีวิตผู้อื่นให้ถึงซึ่งความล้มความตาย ผิดจากความมุ่งหมายที่ตั้งเอาไว้เป็นเบื้องต้น เมื่อได้สติจึงพูดออกมาว่า “ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป อย่าได้พากันทำเช่นนี้อีก”

ส่วนเมื่อครั้งที่จำพรรษาอยู่ป่าเมี่ยงแม่สาย (ต.โหล่งขอด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่) มีคนมาขโมยพระพุทธรูปหน้าตักประมาณ 9 นิ้ว เกิดอารมณ์โกรธอย่างรุนแรง คิดจะไปฆ่าเขาทั้งๆ ที่ตนเองก็ยังเป็นพระอยู่นี่ จะคว้ามีดไปฟันคอมันให้ขาดคาบ้าน เอาขนาดนั้น นี่ความคิดเวลาจิตมันฟุ้งขึ้นมา มันว่า เออ...เรานี่ไม่มีวาสนาละมัง เลยคิดแต่ว่าจะไปฆ่าเขานี่จะไปยังไงดี ก็ไม่พ้นจากการนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่ ไปในเพศสมณะ คิดไปคิดมาอยู่นี่

เวลาอารมณ์มันขึ้นมาแต่ละที คิดแต่จะไปฟันคอมันด้วยความกรุ่นความโกรธ กว่าจะได้สติปัญญาละเลิกความคิดนี้ได้ใช้เวลาอยู่เป็นเดือน เดินจงกรมก็แล้วหาวิธีแก้ความคิดที่จะไปฆ่าเขา ว่าเขาดูถูกเหยียดหยามเรา หาวิธีแนวทางให้จิตสงบระงับลงไปได้ใช้เวลาอย่างน้อยเป็นเดือนนะ เพียงคิดแต่จะไปฆ่าเขานี่มันก็เป็นทุกข์แล้วนะ คิดแล้วคิดอีกกลับไปกลับมาวกวน มันไม่ไปไหนแล้วนั่น ภาษาผู้ประพฤติปฏิบัติเรียกว่าจิตฟุ้งซ่านไม่สงบ นี่คือความที่จิตไม่สงบนะ มันเกิดอารมณ์อาฆาตพยาบาท คิดไม่นอกเหนือไปอย่างอื่น นอกจากการฆ่าเขานะ มองเห็นแต่คนมาร่วมกันขโมยพระอยู่ตลอดนะ ก็เลยเกิดอารมณ์นี้ คืออยากไปฆ่าเขาคนนั้นแหละ

เมื่อมันเกิดความโกรธแล้ว ความโลภ ความหลง ก็ตามกันมาทั้งชุดนั่นแหละ หลงไปจนตัวเองย่ำแย่ กินอยู่มันก็คิดจะไปฆ่าเขา เดินจงกรมก็คิดจะไปฆ่าเขา ไม่ธรรมดานะจิตใจนี้ ที่มันได้สติก็ต้องทบทวนดูว่า ได้ฆ่าเขาแล้วเราจะได้อะไรขึ้นมา เขาตายแล้วคนตายจะได้อะไร คนที่จะไปฆ่านี่ได้อะไร นี่มันวิตกวิจารอยู่ในความคิดนั่นแหละ พอมาคิดแล้วจิตใจมันอ่อนลง ว่ามันดียังไง มันมีโทษยังไง มันเสียยังไง พระพุทธรูปนี่มันได้ไป ก็คงไม่ได้เอาไปแกงกินนะ อยู่ที่ไหนก็มีแต่คนกราบไหว้ คนไม่ไหว้ก็เทวดาไหว้ หรือไปซื้อไปขายอย่างมากได้ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

มาทบทวนจิตใจนี้ว่าเขาก็จะกราบไหว้นั่นล่ะ พระพุทธรูปเรายังมีเยอะแยะตั้งสิบกว่าองค์ กราบเท่าไรก็ไม่หมดจะขี้เกียจกราบด้วยซ้ำไป จะกราบองค์เล็กก็ได้ องค์ใหญ่ก็ได้ จะไปคิดทุกข์ยากทำไมนี่ จะมาโกรธไปทำไม โกรธแล้วก็เป็นทุกข์ นอนไม่หลับ ฟุ้งซ่านรำคาญอยู่นั่น เวลามันเห็นโทษเห็นภัยแล้วว่า ถ้าฆ่าเขาคงติดคุกแน่นอน เราไม่ได้อะไร...ได้แต่ติดคุก เขาจะมาจับเข้าคุก ความเป็นพระของเราจะหายไปเมื่อโดนจับแล้ว ความทุกข์ ความเดือดร้อนก็จะเกิดขึ้นอีก

เมื่อมันเห็นโทษเห็นภัยพิจารณาไปอย่างนี้...ญาติโยมที่เคารพเทิดทูนเราว่า เป็นพระดีมีความสงบระงับเยือกเย็นเป็นสุข มันก็จะหายไปจากใจของผู้สักการบูชา มันจะหายไปหมดเลย ความเป็นพระก็ไม่มีแล้ว ความเป็นผู้มีศีลธรรมอันดีที่เคยประพฤติปฏิบัติมาแล้ว ความดีที่ทำไว้แล้วก็หายไปหมดไม่มีเหลืออะไร เขาก็จะมองเรานี่ว่า เป็นคนโหดร้ายทารุณ นี้มัน...ถ้าเราวิตกวิจารดู ท่านเรียกว่า ธัมมวิจยะ

เมื่อเราเดินจงกรมภาวนาไม่ว่าจะอยู่อิริยาบถไหน มันก็จะคิดทบทวน เห็นโทษเห็นภัยใจก็เลยสบาย แล้วก็มาคิดอีกว่าช่างหัวมัน สุดท้ายเงินหมดมันก็กลับมาขอข้าวก้นบาตรเรากินที่วัดตามเคย แล้วก็จริงมันก็มา...เราก็รู้อยู่...ความเสียดาย ยินดีพอใจในพระพุทธรูปอันนั้นก็หมดไปได้ จิตใจก็เลยสงบจากการกระทำนั้นได้ กายของเราก็ไม่ได้ทำบาป วาจาก็ไม่ได้พูดในทางที่เป็นบาป จิตใจก็ไม่ได้คิดในทางที่เป็นบาปอีกต่อไป เพราะเห็นภัยในปัจจุบันที่จะเกิดขึ้น

เช่น คำสอนที่ว่าทำชั่วแล้วจะตกนรก ต้องเข้าใจว่านรกนี่มันตกในปัจจุบัน ไม่ได้ไปตกที่ไหน เมื่อเราไปฆ่าเขาแล้วนี่ นรกก็เกิดขึ้นแม้แต่คิดที่จะฆ่า แค่นี้มันก็ตกนรกแล้ว มันมีแต่ฟุ้งอยู่ทั้งวันทั้งคืน กินไม่ได้นอนไม่หลับ เป็นอยู่อย่างนั้นความคิดนี่ไม่ใช่คิดแล้วจะจบไปเลย ต้องคิดอยู่เรื่อยๆ มันต้องพิจารณา วิตกวิจารจนจิตใจมันเยือกเย็น ไม่ใช่จะใช้เวลาแค่วันหนึ่งหรือสองวัน ต้องใช้เวลานานพอสมควร ถึงแม้ว่าจะปลงตกแล้วมันก็จะวูบขึ้นมาเป็นบางที เหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงสอนว่า ทำให้มากเจริญให้มาก จนมีความชำนิชำนาญซาบซึ้งถึงใจจริงๆ ว่าบุญนั้นมีจริงๆ บาปนั้นมีจริงๆ

พระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า ภาวิตา พหุลีกตา คือทำให้มากเจริญให้มาก อันนี้ถ้าไม่คิดมันก็จะไม่เกิดปัญญา นักปฏิบัติ นักภาวนานี่ปัญญามันก็จะเกิดจากความคิดนี่แหละ ถ้ามันเข้าใจแล้วก็เป็นธรรมะเห็นโทษเห็นภัยได้ ถ้าไม่เข้าใจก็เป็นกิเลสอยู่ ปัญญายังไม่เกิด มันก็ระงับอารมณ์ไม่อยู่ ต้องเห็นโทษเห็นภัยในการกระทำในการประพฤติปฏิบัตินั้น

ปัจจุบัน หลวงพ่อคำบ่อยังคงจำพรรษาอยู่ที่วัดใหม่บ้านตาล ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่ควรแก่การไปกราบนมัสการยิ่ง