posttoday

เข้าพรรษามหายานและทวาทศธูตะ

16 กรกฎาคม 2560

เมื่อผมลองสำรวจตำราของตะวันตก พบว่าส่วนใหญ่ระบุว่าพุทธศาสนาฝ่ายมหายานไม่มีธรรมเนียมเข้าพรรษา

โดย...กรกิจ ดิษฐาน

เมื่อผมลองสำรวจตำราของตะวันตก พบว่าส่วนใหญ่ระบุว่าพุทธศาสนาฝ่ายมหายานไม่มีธรรมเนียมเข้าพรรษา แต่ที่จริงแล้วฝ่ายมหายานทั้งในทิเบต จีน จนถึงญี่ปุ่นต่างก็เข้าพรรษาเช่นเดียวกับฝ่ายเถรวาท มีระยะเวลา 3 เดือนเท่ากัน เพียงแต่กำหนดฤดูกาลต่างกันตามสภาพภูมิอากาศ

การเข้าพรรษาของมหายานเรียกว่า “เข้าพรต 3 เดือน” หรือ “การหยุดพักเพื่อสงบกายใจ” ในจีนน่าจะเริ่มปฏิบัติตั้งแต่พระวินัยของฝ่ายยานน้อยเข้ามา คือประมาณราชวงศ์ฮั่นจนถึงยุคหนานเป่ย (ศตวรรษที่ 3-6) ส่วนในญี่ปุ่นเริ่มธรรมเนียมเข้าพรรษาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7

อย่างที่กล่าวไปว่าเข้าพรรษาแต่ละนิกายและประเทศขึ้นกับสภาพภูมิอากาศ จึงมีระยะเวลาที่ต่างกันไป

ตามบันทึกการจาริกไปดินแดนตะวันตกของพระถังซำจั๋ง กล่าวว่า พระสงฆ์ในชมพูทวีป มักเข้าพรรษาช่วงเดือนกลาง 5 ถึงกลางเดือน 8 หรือกลางเดือน 6 ถึงกลางเดือน 9 (ในไทยเดี๋ยวนี้มักเข้าเดือน 8 ไปออกเดือน 11) ประเทศเอเชียกลาง (ไซอิ๋ว) บางแห่ง เช่น แคว้นตุษร หรือ Tokhara (แถบซินเจียง) จะเข้าพรรษาระหว่างกลางเดือน 12 ปีเก่าจนถึงกลางเดือน 3 ปีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพฤดูกาล ซึ่งฝนตกหนักในช่วงนั้น

ส่วนในจีนถือตามพระวินัยของนิกายธรรมคุปต์ โดยเข้าเดือน 5 ถึงเดือน 8 แต่ในทางปฏิบัติจีนและญี่ปุ่นนิยมเข้ากันกลางเดือน 4 จนถึงกลางเดือน 7 ที่แบ่งวันต่างกันคาดว่าเพราะต้องการให้ตรงกับการกำหนดฤดูกาลของอินเดีย ซึ่งมี 3 ฤดู ฤดูฝนมี 4 เดือน จึงแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ 3 เดือนหน้า กับ 3 เดือนหลังไม่ก่อนไปกว่านี้ ไม่ช้าไปกว่านี้ ดูเหมือนว่าจะมีเดือน 7 คาบเกี่ยวเป็นหลักกลาง อย่างไรก็ตาม มีการตีความว่าจำต้องมีการเข้าพรรษาเดือนกลางด้วย ซึ่งกำหนดไว้ที่กลางเดือน 4 ถึงกลางเดือน 5 โดยไม่จำเป็นต้องครบ 3 เดือน แต่นักวิชาการบางท่านแย้งว่าคณาจารย์ตีความพระวินัยคลาดเคลื่อน

ฤดูฝนของอินเดีย ตรงกับฤดูร้อนของจีนและญี่ปุ่น ที่นั่นจึงเรียกการเข้าพรรษาอีกอย่างว่า นั่งฌานหน้าร้อน เพราะพระสงฆ์จะไม่ได้จำวัดเฉยๆ หากแต่จะปฏิบัติธรรมอย่างเข้มข้น เรียกว่าปฏิบัติธูตะ 12 ข้อฝ่ายมหายานคือการบำเพ็ญภาวนาอย่างอุกฤษฏ์์ เช่น การถือเนสัชชิก (ไม่เอนหลังนอน) ธรรมเนียมนี้ยังรักษาไว้อย่างดี นอกจากนี้ ในวัดนิกายฌานยังมีการเก็บตัวช่วงปลายปีนาน 3 เดือน เรียกว่า นั่งฌานปลายปี ระหว่างกลางเดือน 12 ปีเก่าถึงกลางเดือนอ้ายของปีใหม่ หรือที่ญี่ปุ่นนิยมระหว่างกลางเดือน 12 จนถึงกลางเดือน 3 อันเป็นช่วงที่อากาศกำลังหนาวเหน็บ เรื่องนี้ไม่ปรากฏในพระวินัย แต่อยู่ในพรหมชาลสูตรฝ่ายมหายานที่ระบุให้เข้าพรรษา 2 ช่วง คือหน้าร้อนกับหน้าหนาว

อนึ่ง ในช่วงนั่งฌานปลายปี วันที่ 8 เดือน 12 ทางฝ่ายมหายานถือว่าเป็นวันตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสงฆ์นิกายฌาน (นิกายฉาน หรือนิกายเซน) จึงมีการนั่งสมาธิและเดินจงกรม ไม่หลับไม่นอนเป็นเวลา 8 วัน เรียกว่า แปดปลายปีสัมผัสใจ (&&3240;&>0843;&>5509;&>4515;) เป็นการปฏิบัติธรรมเข้าพรรษาที่เอากายเอาใจเข้าแลก

เมื่อออกพรรษาแล้ว พระสงฆ์จึงสามารถออกบิณฑบาตได้และออกจาริกปฏิบัติธรรม หรือปฏิบัติธุดงควัตรข้อที่เกี่ยวกับการจาริก เช่น การเดินทางแสวงบุญ แสวงหาอาจารย์ ในดินแดนห่างไกล เป็นต้น

ไหนๆ ก็เอ่ยถึงธุดงควัตรอันเกี่ยวเนื่องกับการเข้าพรรษาแล้ว จะขออธิบายเรื่องหลักธุดงควัตรของฝ่ายมหายาน (รวมถึงวัชรยานสักเล็กน้อย)

หลักธุดงควัตรเป็นวัตรปฏิบัติเพื่อขัดเกลาตนให้สลัดพ้นจากกิเลส พระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานล้วนมีวัตรปฏิบัตินี้เช่นกัน ฝ่ายเถรวาทเรียกว่า “ธุตงฺค” หรือ ธุดงควัตร 13 ฝ่ายมหายานเรียกว่า ธูตงฺคะ 12 หรือ “ธูตคุณฺ” (คุณแห่งการชำระกิเลส) เป็นสิกขาบทที่ผู้ถือโพธิสัตว์ปราติโมกษ์พึงปฏิบัติ ปรากฏในทวาทศธูตะสูตร

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสทวาทศธูตะสูตร ณ วัดเชตวันวิหาร เมืองศราวัตถี (สาวัตถี) เมื่อพระมหากาศยปะ (มหากัสสปะ) มีปุจฉาถึงวัตรแห่งการอยู่อรัญวาส พระตถาคตวิสัชนาว่า ภิกษุผู้อยู่อรัญวาสช่วยให้พ้นราคะ ช่วยชำระกายใจให้บริสุทธิ์ แล้วทรงแจกแจงธูตังควัตร (ธุดงควัตร) 12 ดังข้างต้น แล้วตรัสว่า การปฏิบัติตามวัตรทั้ง 12 นี้ จะช่วยให้การเจริญสมาธิภาวนาก้าวหน้าขึ้นได้ พระสูตรนี้พระคุณภัทระ พระธรรมทูตจากแคว้นมคธ แปลจากภาษาสันสกฤตเป็นภาษาจีนไว้เมื่อปี ที่ 12 และปีที่ 20 แห่งรัชศกหยวนเจีย แห่งราชวงศ์หลิวซ่ง ตรงกับปี 978-986 ที่วัดหว่ากวนซื่อ เมืองหยางตู

ธูตงฺคะ 12 สำหรับพระโพธิสัตว์ มีดังนี้

1.ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร

2.ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร

3.ถือการบิณฑบาตโดยไม่เลือกเป็นวัตร

4.ถือการฉันจังหันมื้อเดียวเป็นวัตร

5.ถือการฉันพอประมาณในบาตรเป็นวัตร

6.ถือการไม่ฉันหลังเพลเป็นวัตร

7.ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร

8.ถือการนุ่งห่มผ้าสามผืนเป็นวัตร

9.ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร

10.ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร

11.ถือการอยู่ที่แจ้งเป็นวัตร

12.ถือการไม่นอนเป็นวัตร

ในส่วนของทิเบตเองก็ปรากฏหลักธุดงควัตรเช่นกัน ในภาษาสันสกฤตเรียกว่า “ธูตคุณฺ” ปรากฏในคัมภีร์วิมุกติมรรคธูตคุณนิรเทศ (จีนเรียกว่า แปลโดยพระวิทยากรประภา ว่ากันว่า พระศานติเทวะเองก็ปฏิบัติตามวัตรนี้ ในคัมภีร์ธรรมสังคระห์ และคัมภีรค์มหาวยุตปัตติ มีสิกขาบท ดังนี้

1.ปางศุกูลิกะห์ - พระโพธิสัตว์

ถือผ้าบังสุกุลที่เขาทิ้งแล้ว (ปังสุกูลิกังคะ)

2.ไตรจีวริกะห์ - พระโพธิสัตว์ไม่ถือครองจีวรเกิน 3 ผืน (เตจีวริตังคะ)

3.นามะติกกะห์ - พระโพธิสัตว์ครองผ้าทำด้วยขนสัตว์ (?)

4.ไปณฑปาติกะห์ - พระโพธิสัตว์เที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำ (ปิณฑปาติกังคะ)

5.ไอกาสะนิกะห์ - พระโพธิสัตว์ละเว้นอาสนะที่สอง สมาทานอาสนะเดียว (เอกาสนิกังคะ)

6.ขลุปัศจาทภักติกะห์ - พระโพธิสัตว์เริ่มลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม (ขลุปัจฉาภัตติกังคะ)

7.อารัณยะกะห์ - พระโพธิสัตว์สมาทานการอยู่ในป่าไกล 500 ชั่วคันธนู (อารัญญิกังคะ)

8.วฤกษมูลิกะห์ - พระโพธิสัตว์สมาทานอยู่โคนไม้ (รุกขมูลิกังคะ)

9.อาภยวะกาศิกะห์ - พระโพธิสัตว์สมาทานอยู่กลางแจ้ง (อัพโภกาสิกังคะ)

10.ศมาศนิกะห์ - พระโพธิสัตว์สมาทานอยู่ป่าช้า (โสสานิกังคะ)

11.ไนศทิกะห์ - พระโพธิสัตว์ไม่อยู่ในอิริยาบถนอน (เนสัชชิกังคะ)

12.ยาถาสังสตริกะห์ - พระโพธิสัตว์ละเว้นการยึดติดในเสนาสนะ (ยถาสันถติกังคะ)