posttoday

คงอำนาจสอบสวนให้ตำรวจ เปิดแนวทางปฏิรูปฉบับ สปช.

10 กรกฎาคม 2560

กระแสปฏิรูปตำรวจกำลังคึกคักเมื่อ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) นั่งเป็นประธาน

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

กระแสปฏิรูปตำรวจกำลังคึกคักเมื่อ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) นั่งเป็นประธาน ผ่าตัดโครงสร้างตำรวจพร้อมคณะกรรมการรวม 36 คน ยกเครื่องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้ไฉไลดีกว่าเดิม...ตามนโยบายการปฏิรูปของรัฐบาล แม้ที่ผ่านมาร่างปฏิรูปตำรวจหลายฉบับทั้งจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่เขียนร่างฯ ขึ้นมาจะยังไม่ถูกนำมาปรับใช้อย่างจริงจัง

ย้อนดูร่างการปฏิรูปกิจการตำรวจ ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ฉบับที่ “ธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์” เป็นประธานคณะกรรมการ โดยมี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นที่ปรึกษาฯ รวมถึงนักวิชาการเชี่ยวชาญเรื่องตำรวจอย่าง อาจารย์สังศิต พิริยะรังสรรค์ อาจารย์สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นกรรมการช่วยกันถกช่วยกันเขียนขึ้นมา

สำหรับร่างการปฏิรูปกิจการตำรวจในฉบับนี้นั้น มีเนื้อหาน่าสนใจสำคัญหลายส่วน ภายในร่างกล่าวถึงเรื่อง “ความเป็นอิสระในการบริหารงานของหน่วยงานตำรวจจากการแทรกแซงทางการเมือง” เนื่องจากสำนักงานตำรวจฯ เป็นองค์กรขนาดใหญ่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีข้าราชการตำรวจเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และการที่ข้าราชการตำรวจมีอำนาจหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประจำวันของประชาชนทุกระดับ ทำให้ถูกแทรกแซงจากทางการเมืองและขาดความเป็นอิสระ

ในร่างการปฏิรูปฯ ระบุอีกว่า นักธุรกิจสีเทา ผู้มีอิทธิพล อาศัยตำรวจเป็นเครื่องมือแสวงหาประโยชน์ และใช้ช่องทางเข้าสู่อำนาจทางการเมืองโดยมิชอบ หรือในทางการเมืองเองจะใช้อำนาจของตำรวจเป็นเครื่องมือรักษาอำนาจนั้นไว้ ฝ่ายการเมืองจึงมีความพยายามเข้าแทรกแซง โดยเฉพาะการใช้อำนาจบริหารงานบุคคลในหน่วยงาน ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ จนมีการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งกันระหว่างผู้มีอำนาจและตำรวจ และภายในองค์กรตำรวจเองก็มีระบบอุปถัมภ์ สนับสนุนพรรคพวกของตัวเองให้เติบโต โดยไม่ได้มีการพิจารณาจากผู้ที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง

ดังนั้น การปฏิรูปองค์ประกอบคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ถือว่ามีส่วนสำคัญ แม้จะมีองค์ประกอบ ก.ตร.ที่แตกต่างกัน แต่ผู้ที่ทำหน้าที่ประธาน ก.ตร. ก็ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรี โดยจะเห็นได้ว่าบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่ส่วนใหญ่ นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายการเมืองสามารถครอบงำได้เกือบทุกคน ซึ่งในส่วนของ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก และอดีตข้าราชการตำรวจที่เข้ามาทำหน้าที่ ก.ตร.มีข้อจำกัดในการปฏิบัติหน้าที่มักไม่มีบทบาทเท่าที่ควร

เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระและลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ต้องปฏิรูปอำนาจองค์ประกอบของ ก.ตร. โดยกำหนดองค์ประกอบของ ก.ตร.ให้มีจำนวน 16 คน ประธานให้คัดเลือกจากอดีตข้าราชการตำรวจระดับรอง ผบ.ตร.หรือเทียบเท่าขึ้นไป ส่วนกรรมการ ก.ตร.ประกอบด้วย ผบ.ตร. และเลขาธิการ ก.พ. เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง จเรตำรวจแห่งชาติ รอง ผบ.ตร. 6 คน และอดีตข้าราชการตำรวจยศ พล.ต.ท. 3 คน มาจากการลงคะแนนเลือกของตำรวจต้องยศ พ.ต.อ.ขึ้นไป

ถัดมาผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกผู้แทนจากคณะรัฐมนตรี 1 คน ผู้แทนวุฒิสภา 1 คน ผู้มีความรู้ในสาขาต่างๆ เช่น นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ 2 คน และให้ ก.ตร.มีวาระครั้งละ 2 ปี นั่นทำให้ทางคณะปฏิรูปกิจการตำรวจเชื่อว่าในอนาคตน่าจะไม่ถูกครอบงำจากฝ่ายการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลทั้งภายนอกและภายใน มีการถ่วงดุลกันที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ต้องมีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ หรือ ก.ต.ช. ให้เป็นองค์กรในการกำหนดนโยบายให้สำนักงานตำรวจฯ เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง จึงควรให้องค์ประกอบ ก.ต.ช.มี 11 คน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และให้ ก.ต.ช.มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ยกเว้นการพิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ผลที่ได้รับมาจะทำให้ผู้ที่ต้องเป็น ผบ.ตร.ต้องสั่งสมผลงานและปฏิบัติตัวดีมาตั้งแต่ต้นจะทำให้ตำแหน่งนี้มีเสถียรภาพมั่นคงพอสมควร

ส่วนเรื่องปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย ซื้อขายตำแหน่ง ในร่างฯ ดังกล่าวให้แนวทางว่า การเลื่อนตำแหน่งต้องยึดอาวุโส ประกอบความรู้ความสามารถตามเกณฑ์มาตรฐานในแต่ละตำแหน่ง รวมถึงการกำหนดระเบียบหลักเกณฑ์แต่งตั้งให้ชัดเจนรัดกุม นอกจากนี้ต้องยุบเลิกตำแหน่งที่ไม่จำเป็น และกำหนดตำแหน่งจำเป็นเพื่อประโยชน์สูงสุดกับประชาชนอย่างแท้จริง

คงอำนาจสอบสวนให้ตำรวจ เปิดแนวทางปฏิรูปฉบับ สปช.

เช่นเดียวกับผู้บัญชาการทุกหน่วยต้องมีอำนาจในการแต่งตั้งระดับรองผู้บัญชาการลงมาในสังกัดได้ และการแต่งตั้งในกองบัญชาการต้องพิจารณาคุณสมบัติให้ครบถ้วนในกองบัญชาการก่อน จากแนวทางทั้งหมดผลที่คาดว่าจะได้รับจะทำให้ตำรวจมีขวัญกำลังใจ มองเห็นเส้นทางเติบโต ลดการทุจริตคอร์รัปชั่นลดการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง

ส่วนประเด็นสำคัญอย่างเรื่องการปฏิรูปงานสอบสวน ที่บางฝ่ายเสนอให้แยกออกจาก ตร.นั้น ปรากฏว่าในร่างปฏิรูปกิจการตำรวจ สปช.ฉบับนี้มองภายหลังการศึกษาพบว่า การสืบสวน การสอบสวน การป้องกันปราบปราม เป็นกระบวนการดำเนินคดีทางอาญาเพื่อทราบข้อเท็จจริง ตร.ต้องปรับระบบให้งานสืบสวนสอบสวนสามารถทำงานควบคู่กันไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยให้พนักงานสอบสวนมีความเป็นมืออาชีพ

โดยแนวทางที่ สปช.ชุดนี้ได้ร่างการปฏิรูประบบงานสอบสวนไว้นั้น คือการเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพพนักงานสอบสวน โดยปรับระบบการประเมินเพื่อเลื่อนตำแหน่งพนักงานสอบสวน ด้วยการพิจารณาจากคุณภาพของสำนวนการสอบสวน ประกอบกับจำนวนคดีที่ได้รับ ไม่ใช่การนับเฉพาะจำนวนคดีเช่นในปัจจุบัน เช่นเดียวกับการปรับแก้คุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งผู้กำกับการสถานีตำรวจ ผู้บังคับการ และผู้บัญชาการ หน่วยปฏิบัติที่มีอำนาจในการสอบสวน ต้องมีความสามารถความรู้และประสบการณ์ทั้งด้านสอบสวน และงานสืบสวนป้องกันปราบปรามด้วย

สำหรับการรับแจ้งความ พนักงานสอบสวนต้องรับแจ้งความทุกคดี ผู้กำกับการสถานีและหัวหน้าพนักงานสอบสวนจะต้องมีส่วนร่วมในการบริหารคดีเพื่อเชื่อมโยงระหว่างการสืบสวนสอบสวนให้มีประสิทธิภาพ สำนวนการสอบสวนต้องผ่านการตรวจสอบความสมบูรณ์ในการรวบรวมพยานหลักฐานจากผู้กำกับการสถานี และให้หัวหน้าพนักงานสอบสวนเป็นผู้มีความเห็นสั่งคดีในสำนวนการสอบสวน โดยดำเนินการแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาให้มีความสอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่

นอกจากนี้ ต้องกำหนดเส้นทางเติบโตให้พนักงานสอบสวนสามารถขยับได้ถึงพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ หรือเทียบเท่าระดับผู้บังคับการ โดยกำหนดตำแหน่งพนักงานสอบสวนฯ เทียบเท่ารองผู้บังคับการ ไว้ในระดับกองบังคับการ และกำหนดตำแหน่งพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เทียบเท่าระดับผู้บังคับการ ไว้ในกองบัญชาการ ส่วนในสถานีตำรวจกำหนดให้พนักงานสอบสวนเลื่อนจากตำแหน่งพนักงานสอบสวน เทียบเท่าระดับสารวัตร ไปจนถึงพนักงานสอบสวนผู้ทรงคุณวุฒิ เทียบเท่าระดับผู้กำกับการ และข้อเสนอสุดท้ายจัดให้มีชุดสืบสวนในคดีอาญา สืบสวนเฉพาะคดีที่เกิดเหตุ เพื่อจับกุมผู้กระทำผิด ซึ่งสนับสนุนการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวน

ดังนั้นจะเห็นว่า การให้งานสอบสวนคงอยู่กับ ตร. จะทำให้การทำงานของตำรวจประสานกันอย่างเป็นระบบบูรณาการ โดยหัวหน้าหน่วยที่ต้องผ่านงานสอบสวน สืบสวน และป้องกันปราบปราม จะทำให้มีความเข้าใจในการทำงานเพื่อประสิทธิภาพ