posttoday

ชมเทพกำสรวลที่วิหาร วัดบวรนิเวศวิหาร

09 กรกฎาคม 2560

ผู้เขียนขอแนะนำผู้ที่เคารพนับถือว่า เมื่อไปไหว้พระที่วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู ให้แวะไปไหว้พระที่วิหารพระศาสดา

โดย...ส.สต

ผู้เขียนขอแนะนำผู้ที่เคารพนับถือว่า เมื่อไปไหว้พระที่วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู ให้แวะไปไหว้พระที่วิหารพระศาสดา ที่อยู่ติดพระเจดีย์ทองขนาดใหญ่ และวิหารเก๋ง เพราะประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีความงามระดับชาติ และภาพเขียนฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เล่าเรื่องธุดงควัตร และเทพกำสรวล เมื่อทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จทรงปลงสังขาร จะเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน

พระวิหารนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อปี 2409 แบ่งเป็น 2 ตอน ด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระศาสดา ด้านตะวันตกประดิษฐานพระพุทธไสยา

พระศาสดา

พระศาสดาซึ่งเป็นพระประธานในพระวิหารหล่อคราวเดียวกับพระพุทธชินสีห์ และพระพุทธชินราช หน้าพระเพลากว้าง 4 ศอกคืบ 8 นิ้ว เดิมประดิษฐานอยู่ในพระวิหารทิศใต้ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก จนถึงสมัยรัชกาลที่ 2 หรือรัชกาลที่ 3 ไม่แน่ชัด เจ้าอธิการวัดบางอ้อยช้าง ธนบุรี อัญเชิญลงมาและประดิษฐานที่วัดนั้นก่อน ในขณะที่ก่อสร้างพระวิหารทางทิศใต้ของพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระศาสดาจากวัดบางอ้อยช้าง มาพักไว้ที่หน้ามุขหน้าพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพวรารามในปี 2396

เมื่อสร้างพระวิหารเสร็จแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในพระวิหารนี้เมื่อปี 2406

กำแพงด้านในวิหารที่ประดิษฐานพระศาสดา มีภาพเขียนเรื่องธุดงควัตรทั้ง 13 ข้อ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้เขียนขึ้น เพื่อแสดงถึงวัตรปฏิบัติของพระภิกษุสงฆ์ที่ถือธุดงค์เป็นวัตรปฏิบัติ

เทพกำสรวล

ส่วนพระพุทธไสยา ซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ ด้านตะวันตกของพระวิหารพระศาสดา เป็นพระศิลาโบราณสมัยสุโขทัย ยาว 3 ศอกคืบ 5 นิ้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาจากวัดพระพายหลวง เมืองสุโขทัย ตั้งแต่ครั้งยังทรงผนวช โดยนำมาประดิษฐาน ณ พระวิหารพระศาสดา ตอนหลังเมื่อปี 2390 นักโบราณคดีหลายท่านลงความเห็นว่า “พระพุทธไสยาองค์นี้ มีพระพุทธลักษณะงดงามมาก และมากกว่าพระพุทธรูปไสยาองค์อื่นใดในประเทศไทย

 จิตรกรรมฝาผนังภายในพระวิหารที่ประดิษฐานพระพุทธไสยานั้น แสดงถึงความปริเทวนาอย่างสุดซึ้งของหมู่เทวดา พระมหากษัตริย์ และมนุษย์ทุกชั้น เมื่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปลงสังขารจะเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน เรียกว่า “เทพกำสรวล”

ชมเทพกำสรวลที่วิหาร วัดบวรนิเวศวิหาร

ประวัติวัดบวรนิเวศวิหาร

วัดบวรนิเวศวิหารเป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร มีเนื้อที่ 31 ไร่เศษ ตั้งอยู่ภายในกำแพงพระนคร สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 3 ทรงสร้างระหว่างปี 2367-2375 เดิมเรียกวัดใหม่ และวัดบน

วัดนี้เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อทรงผนวชระหว่างวันที่ 22 ต.ค.-5 พ.ย. 2499 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อทรงผนวชในวันที่ 6 พ.ย. 2521 ขณะที่ดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

ส่วนเจ้าอาวาสพระองค์แรก ได้แก่ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามงกุฎฯ สมมติเทววงศ์ ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุประทับอยู่ ณ วัดสมอราย คือ วัดราชาธิวาส ซึ่งรัชกาลที่ 3 นิมนต์ครองวัด เมื่อปี 2379 และโปรดให้เสด็จฯ เข้าไปเลือกของในพระราชวังบวร ตามพระราชประสงค์ พระองค์ทรงเลือกเอาพระไตรปิฎก ซึ่งมีกรอบและผ้าห่อสายรัดอันวิจิตร กรอบเป็นทองคำลงยาและถมทอง เป็นงาสลักประดับมุกเป็นของประณีตยิ่งนัก เข้าใจว่าสร้างไว้สำหรับพระราชวังบวร แม้อ่างศิลาของวัดนี้ก็มีชนิดเดียวกันกับในพระบรมมหาราชวังชั้นใน การที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จฯ เข้าไปทรงเลือกของในพระราชวังบวร และพระราชทานชื่อวัดที่ประทับอยู่ว่า “วัดบวรนิเวศวิหาร” ย่อมเป็นเหมือนประกาศให้รู้ว่า ทรงเทียบสมเด็จพระอนุชาธิราชไว้ในฐานะกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตำแหน่งมหาอุปราช

เมื่อทรงครองวัดบวรนิเวศวิหารแล้ว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเสมอเจ้าคณะรอง เป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารเป็นองค์ปฐม นับแต่ปี 2379 ทรงครองวัด 14 ปีเศษ ทรงลาผนวชออกไปเถลิงถวัลยราชสมบัติ สืบสันตติวงศ์เป็นรัชกาลที่ 4 มีพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 4 หลังจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต
ในปี 2394 

 ขณะที่ครองสมณเพศรวม 27 พรรษานั้น ทรงศึกษาพระปริยัติธรรม จนสอบเปรียญ 5 ประโยคได้ ทรงเชี่ยวชาญทางภาษาบาลีและภาษาอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงพระนิพนธ์คาถาบทสวดเป็นภาษาบาลีจำนวนมาก ทรงประดิษฐ์อักษรอริยกะขึ้นใช้สำหรับเขียนภาษาบาลีแทนอักษรขอม ทรงตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกสำหรับพิมพ์คัมภีร์และหนังสือทางพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ ทรงเชี่ยวชาญวิชาโหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ ซึ่งทรงได้รับยกย่องว่า “ทรงเป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”