posttoday

เมียนมาประเทศที่น่าลงทุน

17 มิถุนายน 2560

ผู้เขียนเดินทางไปเมียนมาหลายครั้ง แต่ละครั้งจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นตาตื่นใจ แม้เมียนมาจะยังไม่เจริญและสะดวกสบายเท่าไทย

โดย...แบงก์กลิ้ง

ผู้เขียนเดินทางไปเมียนมาหลายครั้ง แต่ละครั้งจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นตาตื่นใจ แม้เมียนมาจะยังไม่เจริญและสะดวกสบายเท่าไทย แต่ก็มีศักยภาพการเติบโตสูงมาก น่าจับตามองว่าจะยิ่งขยายตัวเร็วมากในระยะเวลาอันใกล้

เมียนมามีศักยภาพในธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เป็นฐานอุตสาหกรรมการผลิตรวมทั้งธุรกิจโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงการส่งสินค้าไปยังจีนและอินเดีย เพราะเป็นประเทศที่เพิ่งเปิดตัวใหม่จึงน่าสนใจที่จะเข้าไปค้นหา ซึ่งก็มีนักธุรกิจไทยหลายรายแสดงความสนใจชัดเจนที่จะเข้าไปลงทุนในเมียนมา

การขยายการค้าการลงทุนเข้าไปในเมียนมาต้องยอมรับว่าธนาคารก็เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางทางการค้า ในเมียนมาเองก็มีธนาคารพาณิชย์เป็นร้อยแห่ง แต่มีธนาคารต่างชาติเข้าไปทำธุรกิจได้ไม่มากเพราะรัฐบาลยังจำกัดการทำธุรกิจ

ธนาคารพาณิชย์ของไทย ที่รัฐบาลเมียนมาอนุญาตให้ตั้งสาขาได้มีเพียงแห่งเดียวคือ ธนาคารกรุงเทพ ส่วนธนาคารอื่นๆ ทำได้แค่ตั้งสำนักงานผู้แทนเท่านั้น แม้กระทั่งธนาคารของรัฐอย่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือเอ็กซิมแบงก์ก็ได้แค่เปิดสำนักงานผู้แทนเช่นกัน

รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการขยายการค้าการลงทุนไปยังเมียนมา เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ก็ได้นำคณะนักธุรกิจไทยกว่า 100 ราย ไปเยือนอย่างเป็นทางการ และได้มีการพิธีลงนามความร่วมมือจับคู่ทางธุรกิจครั้งประวัติศาสตร์ ชื่อว่า Growing Together Myanmar-Thai Business Partnership MOU Signing Ceremony รวม 19 ฉบับ แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 ความร่วมมือพัฒนาและฝึกอบรมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของเมียนมา โดยบริษัท มิตรผลสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาลเต็มรูปแบบ

กลุ่มที่ 2 เป็นการร่วมสร้างรากฐานทางอุตสาหกรรมให้กับเมียนมา ประกอบด้วย 1.แพน กรุ๊ป และ Apexworld ในการสร้างโรงงานรองเท้าแห่งแรกในเมียวดี 2.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับ Ayarawaddy Development ในการพัฒนาท่าเรือและนิคมอุตสาหกรรมเมืองปะเต็ง 3.บริษัท มิตรผล และบริษัท Su enno ที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำตาลเต็มรูปแบบในเมียนมา 4.บริษัท FT Energy กับบริษัท Delco ให้คำปรึกษาเรื่องพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานในเมียนมา

กลุ่มที่ 3 เป็นการร่วมพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์

กล่มที่ 4 ร่วมสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลไปด้วยกัน

นี่เป็นการแสดงความสนใจและให้ความสำคัญที่ชัดเจนจากฝั่งของรัฐบาล

ผู้เขียนได้สนทนากับ อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ถามท่านว่า ประเทศไทยเองการลงทุนภาคเอกชนแทบจะไม่มีเลยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แล้วส่งเสริมให้เอกชนออกไปลงทุนนอกประเทศมากๆ จะดีหรือ

อภิศักดิ์ ตอบว่า เศรษฐกิจไทยที่ขณะนี้ยังมีปัญหาการลงทุนต่ำ แต่เอกชนย้ายออกไปลงทุนในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลก็ส่งเสริมและสร้างบรรยากาศลงทุนที่ดี เนื่องจากการลงทุนที่ส่งเสริมให้นักลงทุนไทยออกมาลงทุนต่างประเทศเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่สามารถลงทุนในไทยได้อีกแล้ว

รมว.คลัง ยกตัวอย่างอุตสาหกรรมที่ควรย้ายฐานการผลิต อย่างเช่น อุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมากและราคาถูก เช่น สิ่งทอที่ไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง เป็นต้น การที่มาลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านเท่ากับเราได้สร้างความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจด้วยกัน เราจะเติบโตไปด้วยกันไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

นอกจากนี้ การค้าระหว่างไทยและเมียนมาก็เพิ่มขึ้นมาก ชาวเมียนมานิยมบริโภคสินค้าไทย เพราะเชื่อถือในเรื่องของมาตรฐาน อาทิ เครื่องดื่ม น้ำตาลทราย น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรและอุปกรณ์ และเคมีภัณฑ์ ขณะที่ไทยนำเข้าสินค้าประเภทก๊าซธรรมชาติ เนื้อสัตว์ สัตว์มีชีวิต สินแร่โลหะ และผัก ผลไม้จากเมียนมา

เมื่อการค้าระหว่างกันมีความสำคัญขนาดนี้ ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องลงทุนในประเทศหด เพราะการเป็นหุ้นส่วนการค้าการลงทุนนั้น ทั้งสองชาติมีแต่ได้กับได้