posttoday

111 ปี พุทธทาส พุทธธรรมกับสังคม

24 พฤษภาคม 2560

ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ ครบรอบชาตกาล พุทธทาส 111 ปี ท่านถือเป็นบุคคลสำคัญของโลกชาวไทยโดยยูเนสโก

 

 

 

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ, เสกสรร โรจนเมธากุล

ในวันที่ 27 พ.ค.นี้ ครบรอบชาตกาล พุทธทาส 111 ปี ท่านถือเป็นบุคคลสำคัญของโลกชาวไทยโดยยูเนสโก พุทธศาสนิกคนไทยน้อยคนที่จะไม่รู้จักท่าน ไม่ใช่เพราะอื่นใดมากไปกว่าโอวาทธรรม คำกลอน ภาพปริศนาธรรม คติแง่คิดและงานมากมายของท่าน ที่เผยแผ่เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับโลกว่า อรรถาธิบายธรรมแห่งพระพุทธองค์ได้แจ่มชัดที่สุดรูปหนึ่ง

สำหรับพุทธศาสนิกชนแล้ว การบูชาผู้ควรบูชาเป็นมงคลสูงสุด ครบรอบชาตกาล 111 ปีพุทธทาส บูชาคุณท่านจึงควรอยู่ อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เราเป็นชาวพุทธและเป็นศิษย์รู้เรียนธรรมจากท่าน เราอาจจะได้ท้าทายตัวเองต่อไปอีกสักนิดหรือไม่ว่า ควรรำลึกถึง “พุทธทาส” อย่างไรในวันสำคัญนี้

พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโต จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า เราควรรำลึกถึงคุณูปการของท่านที่มีต่อพุทธศาสนาในเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรื้อฟื้นคำสอนด้านปรมัตถธรรมของพุทธศาสนาให้กลับมามีความหมายสำหรับผู้คนในยุคปัจจุบัน

 

 

 

“ท่านทำให้พุทธศาสนามีชีวิตชีวา และมีคุณค่าต่อสังคมสมัยใหม่มากขึ้น พร้อมกันนี้ควรระลึกถึงคำสอนของท่านที่เป็นเสมือนสื่อแห่งพุทธธรรมที่ชี้ทางออกจากทุกข์โดยไม่จำต้องหนีโลก”

111 ปี พุทธทาส พุทธธรรมกับสังคม

 

 

 

สำหรับผู้เป็นศิษย์ของท่าน ควรรำลึกถึงปณิธาน 3 ประการของท่าน และควรตั้งจิตสืบทอดปณิธานของท่าน อันได้แก่ 1.การเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตน 2.การทำความเข้าใจระหว่างศาสนา และ 3.การออกมาเสียจากอำนาจวัตถุนิยม

การปรับใช้คำสอนท่านพุทธทาสกับสังคมไทยในปัจจุบัน ควรเริ่มต้นจากการเข้าใจคำสอนของท่านให้ถ่องแท้ แล้วนำมาปฏิบัติกับตน ทั้งในระดับพฤติกรรมและการพัฒนาจิต โดยเฉพาะคำสอนที่ว่า “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม” และ “ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง” (ซึ่งมีนัยบ่งชี้ว่า จิตว่างหรือการปล่อยวาง ไม่ได้หมายถึงการปล่อยปละละเลยหรือไม่ทำอะไรเลย แต่เป็นการทำจิตควบคู่กับการทำกิจ)

สำหรับพุทธธรรมกับสังคมความรุนแรงในปัจจุบัน จะหาสมดุลกันอย่างไร พระอาจารย์ไพศาลชี้ว่า สันติสุขในสังคมที่ผู้คนปรารถนานั้น โดยสาระสำคัญไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ การที่ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ไม่เบียดเบียนหรือข่มเหงคะเนงร้าย ปลอดพ้นจากภัยสงคราม ความอดอยากหิวโหย โรคระบาด หรือภัยธรรมชาติ แม้ว่าสภาวะดังกล่าวยังห่างไกล แต่ก็ควรที่เราจะช่วยกันทำให้เกิดขึ้น

คำสอนของท่านอาจารย์พุทธทาส โดยสาระสำคัญยังเป็นประโยชน์กับสังคมปัจจุบัน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเรื่องศีลธรรม (โดยไม่ยึดติดถือมั่นว่าเป็นตัวกูของกู) และการพัฒนาตนจนเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนา นั่นคือ “รักผู้อื่น” จิตที่พัฒนาดีแล้ว ไม่ถูกครอบงำด้วยความเห็นแก่ตัว หรือยึดติดถือมั่นในตัวกูของกู ย่อมเกื้อกูลต่อการขับเคลื่อนให้สังคมเกิดสันติสุขอย่างแท้จริง

สันติสุขและความสงบเย็นของสังคม พระอาจารย์ไพศาลชี้ว่า ตามความหมายของท่านพุทธทาส หมายถึงชีวิตที่ไม่ถูกรบกวนด้วยกิเลส ปลอดโปร่งจากความทุกข์โศก ความรุ่มร้อน และการบีบคั้นด้วยอารมณ์อกุศล เพราะมีสติและปัญญาเป็นเครื่องรักษาจิต ความหมายที่ลึกซึ้งที่สุดคือ ชีวิตที่หมดกิเลส อวิชชาดับ เข้าถึงนิพพาน อันเป็นความสงบเย็นอย่างยิ่ง เพราะมีปัญญาแลเห็นว่าไม่มีสิ่งใดที่ยึดติดถือมั่นได้เลย

พระสุธีรัตนบัณฑิต (สุทิตย์ อาภากโร) ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) เล่าว่า คำสอนของท่านพุทธทาสประกอบด้วยหลักเชิงสังคมที่คู่อยู่กับหลักพัฒนาในเชิงปัจเจก ได้แก่การอยู่อย่างมีสติ อยู่อย่างเรียบง่าย ไปจนถึงเป้าหมายสุดท้ายคือการมีชีวิตที่สงบเย็นและเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น

111 ปี พุทธทาส พุทธธรรมกับสังคม

“สังคมอุดมปัญญาตามคติของท่านพุทธทาสแล้ว หลักใหญ่คือการถอนคลายทิฐิตัวกูของกู ด้วยเมื่อทิฐิเสมอกันหรือสอดคล้องกันแล้ว โลกก็ไม่วุ่นวาย”

โรเบิร์ต เดวิด ลาร์สัน หรืออดีตสันติกโรภิกขุ พระชาวอเมริกันศิษย์ท่านพุทธทาส ลาสิกขาในปี 2547 ต่อมาก่อตั้งลิเบอเรชั่นพาร์ค (Liberation Park) สถานปฏิบัติธรรมร่วมสมัยที่รัฐวิสคอนซิน กล่าวว่า ในฐานะศิษย์ ท่านเคยพูดว่า ถ้าไม่ทำตามคำสอนก็อย่าเรียกว่าอาจารย์ พวกเราควรคำนึงว่า ทุกวันนี้ที่ท่านมรณภาพไปเป็นเวลาเกือบ 24 ปีแล้วนั้น พวกเรายังน้อมคำสั่งสอนของท่านมาอยู่ในใจและปฏิบัติมากน้อยแค่ไหน

“ท่านยังเป็นอาจารย์เราอยู่ในดวงใจเราทุกวันหรือเปล่า ถึงขนาดทุกลมหายใจเข้าออก ซึ่งจะเป็นคำสอนไหนก็ตาม เช่น ไม่มีอะไรที่สมควรยึดมั่นถือมั่น ตัวกูของกู หรืออย่าโง่เมื่อเกิดผัสสะขึ้นทางหูจมูกลิ้นกายใจ ถ้าไม่ค่อยเอาจริงเอาจังก็อย่าเรียกอย่าหาอาจารย์”

โรเบิร์ตกล่าวว่า ท่านอาจารย์พุทธทาสเป็นพระที่ใช้พุทธศาสนามองไปข้างหน้าอย่างละเอียดลึกซึ้ง เมื่อกิเลสของคนหลายคนรวมกันเข้า ได้แก่ความโกรธ ความโง่ ความละโมบ ความกอบโกย ก็ทำให้สังคมไม่มีสันติสุข ไม่มีความสงบเย็น สรุปอยู่ที่ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ส่วนตัว ถ้าพิจารณาในแง่ส่วนรวมก็เป็นการเห็นแก่พรรคพวก เป็นพวกชาตินิยมโง่ๆ ซึ่งเป็นความเห็นแก่ตัวแบบหนึ่ง ชาวพุทธก็ดี ไม่ใช่ชาวพุทธก็ดี ควรตระหนักในข้อนี้

111 ปี พุทธทาส พุทธธรรมกับสังคม

ด้านพุทธศาสนาในโลกตะวันตก โรเบิร์ตเล่าว่า มีชาวตะวันตกจำนวนมากขึ้นทุกปีที่รู้สึกว่า พุทธเป็นกระแสการเรียนรู้และการปฏิบัติที่สามารถช่วยเขาให้อยู่ได้ในสังคมและโลกที่เครียดจัด หลายคนเห็นว่าพุทธเป็นแนวปฏิบัติมากกว่าเป็นศาสนา ทุกวันนี้การเจริญสติในหมู่ชาวตะวันตกเป็นเรื่องแพร่หลายมาก

อยากให้คนไทยตระหนักว่า มีทรัพยากรบุคคลล้ำค่า แม้แต่ว่าได้มรณภาพไปแล้วถึง 24  ปี ก็ยังมีชาวต่างประเทศติดตามผลงานและศึกษาธรรมะของท่านอยู่ การสัมมนาวิจัยพุทธศาสนานานาชาติโดยหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญที่จะจัดขึ้นในช่วงสัปดาห์นี้ มีชาวต่างประเทศจากหลายประเทศหลายทวีปทั่วโลกทั้งเอเชีย ยุโรป อเมริกา ที่จะมาประชุมกันก็เนื่องจากท่าน

“คนไทยมีมรดกสุดยอด อยากให้คนไทยสนใจมรดกของตัวเอง ถ้าไม่งั้นฝรั่งจะมาขโมยไปหมดนะ”

ส่งท้ายด้วยพระสุธีรัตนบัณฑิต ท่านกล่าวว่า เนื่องในวันล้ออายุของท่านพุทธทาสปีที่ 111 นี้ เราควรทำหน้าที่ของตัวเองให้สมบูรณ์และรำลึกถึงท่านด้วยการรำลึกถึงสติของตน ท่านผู้อ่านเล่า ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ เป็นศิษย์รู้เรียนธรรมคำสอนจากท่านพุทธทาสไม่มากก็น้อย อยากตอบตัวเองหรือไม่ว่า จะรำลึกถึง “พุทธทาส” อย่างไร

111 ปี พุทธทาส พุทธธรรมกับสังคม

ไปร่วมสัมมนาพุทธธรรมกับสังคม

นพ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญกล่าวว่า เนื่องในวาระครบรอบชาตกาล 111 ปีพุทธทาส หอจดหมายเหตุฯ จะจัดงานสัมมนาวิจัยพุทธศาสนานานาชาติ ภายใต้แนวคิดพุทธธรรมกับสังคม เน้นการแสวงหาหนทางเพื่อ

ฟื้นฟูมนุษยชาติ

“กลียุคโลกก็เป็นหนึ่งในธรรมดาโลก หากเราจะหาทางรักษาความปกติสุขของโลกได้อย่างไรท่านพุทธทาสได้เคยกล่าวไว้ถึงธรรมมิกสังคม หมายถึงสังคมที่มีธรรมนำ หน้า การสัมมนาครั้งนี้ นักคิดจากทั่วโลกจะมาสืบสาน”

24-25 พ.ค.

ที่สวนโมกข์กรุงเทพ หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ ไปร่วมสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติ “พุทธธรรมกับสังคม” ใน 4 มิติ จิตใจ-เศรษฐกิจ-สังคมและการสานงานพุทธทาสภิกขุ วิทยากรทั้งจากชาวไทยและต่างประเทศทั่วโลก นำโดยพระพรหมบัณฑิต (ประยูร ธมฺมจิตโต) อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

26-27 พ.ค.

ที่วัดธารน้ำไหล สวนโมกขพลาราม จ.สุราษฎร์ธานีจะมีกิจกรรมล้ออายุ รวมทั้งมีกิจกรรมตามรอยพุทธทาสภิกขุในพุมเรียงบ้านเกิดและสวนโมกข์เก่า (วัดตระพังจิก) รวมทั้งกิจกรรม “เห็นธรรมเมื่อฮัมเพลง” โดยธเนศ วรากุลนุเคราะห์นำ บทสวดมนต์มาขับร้องเพื่อการภาวนาปฏิบัติบูชาเนื่องในวันล้ออายุ เรียนเชิญทุกท่านที่สนใจ ทั้งที่สวนโมกข์กรุงเทพ และสวนโมกข์ไชยา www.dhammaandsociety.org