posttoday

น้อมรำลึกองค์อัครศิลปิน พระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9

23 เมษายน 2560

ความตระการตาที่มองได้หลายมุมมองทั้งระยะใกล้ไกล และที่สำคัญคือมุมมองจากท้องฟ้าหรือในอากาศ

โดย...พริบพันดาว ภาพ : วิชาญ เจริญเกียรติภากุล

ความตระการตาที่มองได้หลายมุมมองทั้งระยะใกล้ไกล และที่สำคัญคือมุมมองจากท้องฟ้าหรือในอากาศ จะสัมผัสได้ถึงความอลังการมลังเมลืองที่ถ่ายทอดพลังงานของความจงรักภักดีและสรรค์สร้างออกมาผ่านงานศิลปะของพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 บนผนังอาคารหอศิลปกรุงเทพฯ สี่แยกปทุมวัน สามารถมองเห็นได้จากพื้นดินและบนถนนทุกด้าน มุมบนจากตึกที่รายรอบและจากรถไฟฟ้าบีทีเอส ที่พระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีขนาดถึง 34x25 เมตร หรือ 850 ตารางเมตร หรือเทียบเท่าตึกแถว 12 ชั้น ซึ่งมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดขึ้นเพื่อน้อมรำลึกพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะองค์อัครศิลปินและพระมหากรุณาธิคุณในฐานะองค์อุปถัมภ์งานด้านศิลปวัฒนธรรมไทย

 โครงการภาพเขียนผนังอาคาร เพื่อแสดงความอาลัยและรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการน้อมรำลึกองค์อัครศิลปิน ทีมงานใช้เวลาดำเนินงานทั้งหมด
17 วัน คือในช่วงการลงสี 5 วัน (ระหว่างวันที่ 16-20 มี.ค. 2560) และติดตั้งงาน 12 วัน (1-12 เม.ย. 2560) จัดว่าเป็นงานที่ยากและเป็นเทคนิคแปะโปสเตอร์ขนาดใหญ่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย

 แกนนำของการทำงานศิลปะพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 มีศิลปินแนวสตรีท อาร์ต (Street Art) จำนวน 5 คน คือ ดนัยพัฒน์ เลิศพุทธิตระการ หรือ Mue Bon คเณศ นิ่มวัฒน์ หรือ Kanaet กิตตินนโท TK31 และ ABI และมีตัวแทนนักศึกษาจาก 5 สถาบัน เข้าร่วมด้วยช่วยกันจากมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาลัยช่างศิลป วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จำนวนกว่า 200 คน โดยเทคนิคการขึ้นภาพในครั้งนี้ใช้เทคนิค Wheat pasting หรือ Put up คือการแปะโปสเตอร์โดยใช้กระดาษและกาวลาเท็กซ์

 ว่าไปแล้ว สตรีท อาร์ต หรือศิลปะข้างถนน คือศิลปะที่สามารถพบเห็นได้ตามที่สาธารณะ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือตามข้างถนนทั่วไป เพราะมักแสดงบนพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต ส่วนมากผู้คนมักรู้จักสตรีท อาร์ตในอีกชื่อหนึ่งว่า กราฟฟิตี้ (Graffiti) หรือการพ่นผนังด้วยสเปรย์ แต่ความจริงยังมีเทคนิคอีกมากมายในศิลปะแนวสตรีท และพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ได้ใช้เทคนิคการแปะโปสเตอร์ หรือใบปิด โดยใช้กาวทา (Wheat pasting หรือ Put up)

 หากการทำงานในแนวศิลปะสตรีท อาร์ต เสมือนการติดต่อสื่อสารที่ศิลปินอยากจะสื่อสาร หรือเป็นการระบายออกในความคิด ความรู้สึกต่อสาธารณชน พัฒนามาจากการสร้างสรรค์งานในพื้นที่สาธารณะตามผนังตึก ข้างถนนหนทางต่างๆ คเณศ นิ่มวัฒน์ หรือ Kanaet หนึ่งในศิลปินสตรีท อาร์ตที่เป็นหัวแรงแกนนำ บอกถึงเรื่องราวเบื้องหลังการทำงาน

“ความยากลำบากมีทั้งสภาพอากาศ ทั้งเรื่องเครื่องยนต์กลไกอุปกรณ์ที่จะพาเราขึ้นไปติดตั้ง ทั้งกระดาษทั้งกาว แต่เราก็ผ่านไปได้ ซึ่งก็ต้องมีการวางแผนกันก่อน ติดไปก่อนแผ่นหนึ่งอาจจะมีความล่าช้า กำแพงที่นี่ก็ไม่ได้เรียบ 100% เราก็ต้องมีการพลิกแพลงให้เข้ากับสถานที่”

 Kanaet ขยายความว่า “เรื่องการดูก็ไม่ต้องดูแลมาก เพราะมีการเคลือบไว้แล้ว และมีการทดสอบในเวลาทำภาพกันพักหนึ่งแล้วว่า เทคนิคนี้สามารถอยู่ได้โดยไม่ลอกล่อนออกมา”

 นี่คืองานศิลปะแนวสตรีทที่เปรียบเสมือนการแสดงออกถึงความจงรักภักดีอย่างเป็นล้นพ้น ของเหล่าศิลปินแนวสตรีท อาร์ตของเมืองไทยที่น่าจดจำ ได้บันทึกลงในประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัย และประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้จากทุกมุมมอง