posttoday

การเป็น 'สยาม' กับคุณูปการไม่รู้เนื้อรู้ตัว

14 ธันวาคม 2552

โดย...กรกิจ ดิษฐาน

โดย...กรกิจ ดิษฐาน

ผมจำไม่ได้แน่ชัดนัก เพราะความทรงจำอันรางเลือนเหมือนหมอกคืนที่สามสิบสามของฤดูหนาวมันบดบังภาพวันนั้นจนพร่าเบลอ แต่จำได้ว่าเราสองคนกำลังเถียงอะไรบางอย่างอย่างเผ็ดร้อน ถ้าไม่ใช่นิยามของ “ความอารยะ” ก็คงเป็นนัยของ “การพัฒนา” ผมจำได้เลาๆ ว่า เผอิญเปรยถึง ส.ธรรมยศ นักเขียนฝีปาก (กา) กล้า ที่เคยระบุในงานชิ้นหนึ่ง โดยอ้าง History of the World ของ จอร์จ ออร์เวล ในทำนองที่ว่า “สยามเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่เคยมีคุณประโยชน์อันให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก”

จำได้เลาๆ เหมือนกันว่า หมอนั่นประณามผู้ระบุข้อสรุปที่ว่าอย่างสาดเสียเทเสีย ไม่ว่าจะเป็น ส.ธรรมยศ หรือนักเขียนอังกฤษผู้นั้น

การเป็น 'สยาม' กับคุณูปการไม่รู้เนื้อรู้ตัว ภาพจาก Du royaume de Siam โดย ลาลูแบร์

ไม่กี่วันก่อนคู่สนทนาของผมจู่ๆ โผล่เข้ามาพบในแชตไลน์ หลังจากเดินทางห่างหายไปพร้อมกับภารกิจด้านตัวอักษร เขาใช้เวลาไม่นานนักกับการทักทายและฟื้นความหลังที่ติดค้างระหว่างกัน ก่อนที่จู่ๆ จะชี้แจงว่า “ผมอ่านเจอ จอร์จ ออร์เวล เขียนไว้ใน The Burmese Days ทำนองว่าเขาวาดภาพความรำคาญใจของผู้ดีบริเทนต่ออิสรภาพและการขวนขวายเพื่อเป็นฝรั่งเทียบเท่าญี่ปุ่นของสยาม ข้อเขียนนี้ไม่เท่ากับบอกหรือว่าสยามมีความปรารถนาจะไม่งอมืองอเท้าขณะที่โลกกำลังก้าวสู่โฉมหน้าใหม่?”

ข้อโต้แย้งของเขาน่าสนใจและแสดงถึงมุมขัดแย้งของ จอร์จ ออร์เวล ผู้ที่ก่อนหน้านี้ “แขวะ” สยามจนเขาขุ่นเคือง แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ท่าทีของ จอร์จ ออร์เวล ต่อสยาม มันอยู่ที่การโต้แย้งต่อเนื่องทำให้ผมจำการสนทนาวันนั้นได้ และความคาใจก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในไม่กี่วินาที

จริงหรือที่สยามงอมืองอเท้า ไม่ช่วยจรรโลงวัฒนธรรมสากลอย่างน่าละอายเช่นนั้น?

ไม่กี่วันหลังความฉงนฉงายก่อตัวขึ้นอย่างอึมครึมในสมอง ผมพบคำเฉลยระหว่างการซอกซอนไปตามวงกตของห้องสมุดใหญ่แห่งหนึ่งกลางเมืองหลวง เท้าของผมพาเข้าไปยังซอกวรรณกรรมฝรั่งเศส ด้วยความบังเอิญผมพบข้อมูลน่าสนใจบางอย่าง

ไม่เกินความจริงถ้าจะประกาศว่าข้อมูลที่พบโดยบังเอิญเปิดเผยคุณูปการของสยาม และเป็นคุณูปการขั้นอุกฤษฏ์ถึงขั้นที่มีส่วนช่วยให้ฝรั่งเศสสามารถทำการปฏิวัติบันลือโลกได้สำเร็จเมื่อปี 1789!

ที่คุกบาสตีลจะพินาศ ปัญญาชนชาวยุโรปเคยสนุก (และยังสนุก) กับการแก้โจทย์ทางคณิตศาสตร์ที่ ซิมง เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตจากราชสำนักแห่งพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นำเข้ามาจากสยาม โจทย์ทางคณิตศาสตร์ที่ว่า รู้จักกันในชื่อ “จัตุรัสกลของลาลูแบร์” (บ้างเรียกจัตุรัสกลของสยาม) สำหรับชาวสยามยุคศตวรรษที่ 21 (ที่ระดับความเก่งกาจด้านคณิตศาสตร์ยังตามหลังเพื่อนบ้านในเอเชีย) มันก็แค่กลทางคณิตศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ ที่บรรพชนเอาไว้ใช้คำนวณทางโหราศาสตร์ แต่กับชาวตะวันตก “จัตุรัสกลของลาลูแบร์” ยังคงนับเป็นการค้นพบทางคณิตศาสตร์

แต่ไม่เท่านั้น บันทึกของ ลาลูแบร์ และนักเดินทางจากฝรั่งเศสสู่สยามอีกหลายชีวิต รวมถึงการเหยียบแผ่นดินฝรั่งเศสของโกษาปาน ราชทูตจากราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์ เขาเหล่านี้ยังจุดประกายความคิดให้นักปรัชญาการเมืองผู้ที่จะปูทางให้กับอุดมการณ์ปฏิวัติ 1789

มองเตสกิเออร์ วอลแตร์ และรุสโซ คือชื่อของทั้งสาม

มองเตสกิเออร์ เจ้าของหลักการถ่วงดุลอำนาจ 3 ฝ่าย (รัฐ นิติบัญญัติ ตุลาการ) เปรยถึงระบอบการปกครองของชาวสยามใน Lettres Persanes (จดหมายของชาวเปอร์เซีย) แต่ในเนื้อในกำลังใช้ปากคำของชาวเปอร์เซียอ้างถึงระบอบเผด็จการของสยาม เพื่อกระแทกแดกดันรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของฝรั่งเศส และใช้สายตาของชาวเปอร์เซียเสียดสีสังคมฟอนเฟะของฝรั่งเศสในคราบของการสนทนาถึงสังคมเหลวแหลกของสยาม! 

หากเทียบชั้นเชิงของการ “ใช้” คุณูปการจากสยามแล้ว วอลแตร์ ค่อนข้างแนบเนียนอย่างน่าเพลิดเพลินในงานเขียน และเย้ยหยัน แดกดัน ใช้ปากกาตีวัวรัฐบาลสยามไปกระทบคราดรัฐบาลฝรั่งเศสใน Andre Destouches A Siam (อังเดร เดส์ตูช สู่สยาม) เขาเสกสรรปั้นแต่งให้ อังเดร เดส์ตูช อนาคตคีตกวีผู้มีโอกาสเดินทางไปถึงสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ได้มีโอกาสสนทนากับขุนนางใหญ่อยุธยาในเวลานั้น

Croutef ขุนนางบางคนที่ผมไม่อาจถอดนามออกมาได้เป็นภาษามนุษย์สยาม หาได้บรรยายสภาพบ้านเมืองของสยามไม่ แต่กลับไพล่ไปพรรณนาถึงสังคมและการเมืองของฝรั่งเศสในยุคของวอลแตร์ ถึงจะมีการเอ่ยถึงพระสงฆ์ (Talapoin) และพระพุทธเจ้า (Somonacodom) แต่หากอ่านอย่างใคร่ครวญจะทราบว่าเป็นเพียงการใช้พระและศาสนาของชาวสยามเป็นตัวแทนในการโจมตีบาทหลวงและศาสนจักรฝรั่งเศสอย่างไม่เหลือชิ้นดี

จะเรียกได้ว่ายืมชื่อสยามเพื่อหยามรัฐบาลบูร์บองและกลไกสังคมที่กำลังกดขี่ความก้าวหน้าคงไม่ผิดนัก และในเวลาต่อมางานเขียนของนักปราชญ์ทั้งสามได้ช่วยจุดชนวนความเปลี่ยนแปลงที่โลกไม่เคยพบพานมาก่อน

แต่บางอย่างไม่อาจตัดสินอย่างสรุปรวบรัด

ผมพลิกหนังสือในมือถึงตอนนี้ เริ่มหงุดหงิดในใจ ผมนึกถึงอาการโวยวายเป็นนิสัยของหน่วยงานการท่องเที่ยวของไทยบางหน่วย “นี่มันทำภาพลักษณ์เมืองสยามป่นปี้หมด”
คิดใคร่ครวญต่อมาไม่นาน ผมเข้าใจถึงลักษณะร่วมบางอย่างของชาวตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 ถึงศตวรรษที่ 21 มันคือนิสัยยกตนข่มท่านที่รักษาไม่หายขาด

จอร์จ ออร์เวล ถึงได้ปรามาสว่าสยามปราศจากคุณูปการต่อชาวโลก แต่เมื่อครั้นผมพบว่าสยามช่วยให้ชาวยุโรปกระจ่างเนตรผ่านนักปรัชญาใหญ่ แต่กลายเป็นว่าผมรู้สึกเหมือนครั้งแรกที่อ่านพบข้อสังเกตบางอย่างต่อชาวสยามในบันทึกการดินทางของ ลาลูแบร์

แน่ล่ะ หนังสือประเภทนี้มักเป็นการรวบรวมคุณสมบัติและเอกลักษณ์ทางกายภาพของสยาม มากกว่าการลงลึกด้านจิตใจและภูมิปัญญาของคนพื้นที่ จึงทำให้มันไม่มีสาระทางวิชาการเหมือนงานแปลวรรณกรรมตะวันออก ทั้งยังคล้ายอย่างมากกับรายงานล้วงลึกรายประเทศของหน่วยข่าวกรองกลางสหรัฐ (ซีไอเอ) ในบางครั้งผู้บรรยายยังไม่เข้าใจประเทศสยามอย่างถ่องแท้ (มั่ว) บางครั้งถึงกับหยามเหยียดอย่างยโสโอหัง

ดังบรรยายความถึงอุปนิสัยอ่อนโยนต่อลูกเด็กเล็กแดงของคนไทยในสายของ ลาลูแบร์ ที่ว่าคนไทยประคบประหงมผู้เยาว์ราวกับลิง!

“ฝรั่งมันไม่รักลูกเหมือนลิงหรือไง!” บางคนตะโกนเยาะเย้ยจาก “กลางวงเล่า”

น่าโมโหหรือ?

แต่สุดท้ายแล้วไม่ควรโมโหจนคลุ้มคลั่ง เราเองก็เคยเห็นฝรั่งเป็นยักษ์มาร เป็นทมิฬขาว ฝั่งจีนถึงกับเรียกเป็นปีศาจหัวแดง นับเป็นการแลกเปลี่ยนทัศนะด้านกายภาพระหว่างสองซีกโลกที่ดุเดือดดีไม่หยอก

ผมยังเชื่อเหมือนที่เคยเชื่อว่าชาวสยามในบันทึกการเดินทางของฝรั่งผู้ยโส อาจกลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย แม้กระทั่ง “ความรักลูกจนเหมือนลิง” ไม่แน่ว่าอาจจุดประกายนักชีววิทยาบางคนผู้พัฒนาทฤษฎีว่าด้วยการนับญาติบรรพบุรุษระหว่างลิงกับมนุษย์

ชาร์ลส์ ดาร์วิน?

ผมไม่แน่ใจนัก แต่ก็ไม่แน่ไม่ใช่หรือ เหมือนกับที่พุทธศาสนิกชนชาวสยามศรัทธาในอนิจจังพอๆ กับเชื่อมั่นในทฤษฎีสัมพันธภาพ (จึงเกิดอะไรที่พิลึกพิลั่นอย่างไอน์สไตน์พบพระพุทธเจ้า!)

ผมปิดตำราวรรณคดีปรัชญาการเมืองฝรั่งเศสเบาๆ ยักไหล่กับตัวเองในซอกซอยของตู้

และอย่างน้อยสยามก็เคยเป็นส่วนหนึ่งให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลก แม้ “ไซแอมีส” จะไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลยก็ตามที!