posttoday

ปัดโธ่เอ๋ย!

12 มีนาคม 2560

จำไม่ได้ว่าเคยอ่านเจอที่ไหนมีคนเขียนว่า พระกินเหล้า ต้องอาบัติหนักร้ายแรง...ผมเนี่ยต้องจามเลย “ปัดโธ่”

โดย...อารยชล

จำไม่ได้ว่าเคยอ่านเจอที่ไหนมีคนเขียนว่า พระกินเหล้า ต้องอาบัติหนักร้ายแรง...ผมเนี่ยต้องจามเลย “ปัดโธ่” อาบัติหนักยังไงหนออยากรู้

อ้อ...พระกินเหล้า จริงแล้วควรใช้คำว่า “ฉัน” ถึงจะถูกบุคคล เพราะท่านเป็นพระสงฆ์ แต่ดูสุภาพไปกับกิริยาที่ท่านทำเลยใช้คำว่า “กิน” คำบ้านๆ เรียกกันง่ายๆ ตามประสาปากชาวบ้านละกัน

แต่เชื่อไหม ในเว็บข่าวบางเว็บใช้คำว่า “ฉันท์” เห็นแล้วอ้าปากพลางต้องขยี้ตาไปด้วย เพราะความหมายมันเปลี่ยนไปสิ้นเชิง จาก (ฉัน) กิน, รับประทาน เป็น (ฉันท์) พอใจ, รักใคร่, ชอบ อันนี้พูดเป็นความรู้เฉยๆ นะครับ

แต่ประเด็นที่จะพูดต่อไปอย่างที่ผมเอ่ยข้างต้นคือมีคนบอกว่า การที่พระดื่มสุราเมรัยต้องอาบัติหนัก ผมเลยสงสัยว่าใช่เหรอ เลยต้องมาพูดเรื่องอาบัติเสียหน่อย

อาบัติ คือ กิริยาที่พระไปละเมิดบทบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้เป็นหมวดๆ จำแนกเป็นข้อๆ รวม 227 ข้อซึ่งเราเรียกว่า “สิกขาบท” นั่นเอง

การไปละเมิดสิกขาบทข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายๆ ข้อใน 227 เราเรียกกิริยานั้นว่า “ต้องอาบัติ” พระผู้ละเมิดสิกขาบทก็ต้องถูก “ปรับอาบัติ” และการจะปรับพระว่าเป็นอาบัติอะไรนั้นขึ้นอยู่กับว่าพระไปทำผิดเรื่องอะไร

อาบัติที่ใช้ปรับพระที่ทำผิดวินัยมี 7 อาบัติ ได้แก่ ปาราชิก สังฆาทิเสส ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ปาฏิเทสนียะ ทุกกฎ และทุพภาสิต

แยกเป็นอาบัติที่มีโทษหนัก 2 คือ ปาราชิก และสังฆาทิเสส เรียก ครุกาบัติ

พูดถึงความหนักของอาบัติทั้งสองก็ต่างกัน ปาราชิกาบัติ หรืออาบัติปาราชิก เป็นอเตกิจฉา หมายถึง ถ้าพระไปละเมิดสิกขาบทแห่งปาราชิกเข้าแล้วต้องขาดจากความเป็นพระทันที แก้ไขอะไรไม่ได้ กลับมาบวชใหม่ก็ไม่ได้ เปรียบเหมือนตาลยอดด้วน คือไม่อาจเจริญงอกงามในธรรมวินัย หรือสมณเพศอีกต่อไป

สังฆาทิเสส โทษหนักก็จริง แต่ภิกษุต้องแล้วยังไม่ขาดจากความเป็นพระเหมือนปาราชิก เป็นอาบัติที่เป็นสเตกิจฉา คือ มีทางแก้ไขได้ แต่วิธีแก้ก็ไม่ง่ายพระที่ต้องอาบัติต้องอาศัย “สงฆ์” ช่วยจึงจะพ้นจากสังฆาทิเสสได้ ซึ่งมีกระบวนการหลายขั้นตอน บางขั้นตอนต้องอาศัยสงฆ์ไม่ต่ำกว่า 21 รูปเป็นอย่างต่ำ นี่คือความยาก

ตัวอย่างสิกขาบทแห่งสังฆาทิเสส เช่น แกล้งทำให้น้ำอสุจิเคลื่อน พูดเกี้ยวพาราสีหญิง ต้องสังฆาทิเสส

ขณะที่อาบัตินอกนั้น เช่น ปาจิตตีย์ ทุกกฎ ทุพภาสิต จัดเป็นลหุกาบัติ มีโทษเบา การพ้นจากอาบัติเหล่านี้แค่ไปแสดงอาบัติหรือบอกสิ่งที่ตัวเองทำกับพระรูปใดรูปหนึ่งก็พ้นแล้ว

หันมาเรื่องพระกินเหล้า พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ไว้ในหมวดสุราปานวรรค (หมวดที่ว่าด้วยการดื่มเหล้า) แห่งปาจิตตีย์ เป็นสิกขาบทแรกในหมวดว่า ภิกษุดื่มน้ำเมา ต้องปาจิตตีย์

ย้ำว่า ปาจิตตีย์ ไม่ใช่ ปาราชิก โทษจึงเบาแค่แสดงอาบัติกับพระรูปอื่นอาบัติก็เป็นอันระงับ แต่ทางโลกหรือชาวบ้านเห็นพฤติกรรมแบบนั้นของพระรับไม่ได้ มองว่าแค่นั้นไม่พอ “ต้องสึก” ด้วย

เราจึงได้เห็นว่าสิกขาบทบางข้อแม้โทษทางพระวินัยจะเบาแค่แสดงอาบัติก็พ้นแล้ว แต่ทางโลกจัดหนักจัดเต็มที่เห็นก็ข้อ “สุราปาน” นี่แหละ เบาแต่แรง!! ปาจิตตีย์ก็จริงแต่ต้องลาสิกขาสละผ้าเหลืองไปด้วย

เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นพระ สำคัญที่สุดคือต้องสำรวมระวังในสิกขาบทที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ให้ดี ไปไหนมาไหนทำอะไรต้องระวังสมณสารูป ดูกาลเทศะ ที่ไหนควรไปไม่ควรไป อย่าเผลอสติ และอย่าคิดว่าอาบัติเล็กๆ น้อยๆ แค่ปลงอาบัติก็หาย ละเมิดพระวินัยเป็นอาจิณยิ่งทำให้ชาวบ้านพากันรังเกียจพระหนักขึ้นไปอีก

อย่าลืมว่าทุกวันนี้ “บางคน” จ้องจับผิดแต่พระ แค่เห็น “ขวดโซดา” วางบนโต๊ะอาหารก็อุตริคิดว่า “พระกินเหล้า” แล้ว

ปัดโธ่เอ๋ย คนหนอคน!!