posttoday

น่าห่วง พรบ.สงฆ์ อาจขัดพระราชศรัทธา?

05 มีนาคม 2560

ไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ และร่างพระราชบัญญัติสภาพุทธบริษัทให้

โดย...สมาน สุดโต

ไพบูลย์ นิติตะวัน เสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินของวัดและพระภิกษุ และร่างพระราชบัญญัติสภาพุทธบริษัทให้ สนช.รับไปพิจารณา ถ้าหาก สนช.เห็นด้วยกับร่างที่ว่านี้ สภาพวัด และฐานะของพระสงฆ์จะเปลี่ยนไปวัดจะร้างมากขึ้น พระสงฆ์ที่น้อยอยู่แล้ว จะน้อยลงอีก และน่าห่วงว่า พ.ร.บ.นี้จะขัดพระราชศรัทธา

หลักการและเหตุผลที่ไพบูลย์อ้างในการเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้ ฟังได้ในเหตุที่เกิดในปัจจุบันและกับบางวัดในเมืองหลวง แต่ถ้าไปดูชนบท พ.ร.บ.แบบไหนก็ไม่มีความหมาย บางจังหวัดในภาคเหนือต้องให้สามเณรมาเป็นสมภาร (ชั่วคราว) ญาติโยมต้องผลัดเปลี่ยนกันไปนอนเฝ้าวัดเพราะไม่มีใครบวช

ส่วนที่ว่าพระโอนทรัพย์สินที่ได้มาในขณะที่บวชอยู่ในสมณเพศ จำหน่ายหรือทำพินัยกรรมยกให้บุคคลอื่นได้ มีสักกี่ราย เห็นแต่สมภารบางวัดขนไปแจกจ่ายวัดและโรงเรียนในชนบท ถามสมภารวัดหลวงพ่อโอภาสี บางมดดูก็ได้

ถ้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นี้แบบชาวบ้าน มองไม่เห็นว่า พ.ร.บ.จะมีคุณต่อพระศาสนาและพระสงฆ์ ดูง่ายๆ ถ้า พ.ร.บ.นี้มีผลบังคับ งบประมาณที่รัฐบาลจัดถวายสมเด็จพระสังฆราชปีละหลายสิบล้านบาทจะ
หมดไป เจ้าอาวาสที่เป็นพระสังฆาธิการ และเป็นเจ้าพนักงานโดยตำแหน่งหน้าที่ ตั้งแต่พระหลวงตาจนถึงสมเด็จพระสังฆราชที่ได้รับพระราชทานนิตยภัตที่หลวงจัดถวายทุกเดือน (เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในวัด เช่น ค่าน้ำค่าไฟ) ซึ่งตกทอดมาหลายรัชกาลแล้ว จะต้องหยุดเพราะ พ.ร.บ.นี้ ไม่ส่งเสริมพระราชศรัทธาของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อสถาบันพระสงฆ์

เมื่อพระหนุ่มเณรน้อยที่เรียนบาลีเก่งได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนหลวงก็รับไม่ได้ เพราะขัดกับ พ.ร.บ.ฉบับนี้

น่าสงสารวัดสวยๆ งามๆ ที่โบราณสร้างไว้จะไม่มีพระอยู่ วัฒนธรรม ประเพณีชาวพุทธค่อยๆ หดหายไป สังคมที่เกื้อกูลกันระหว่างพระและชาวบ้าน (คือ ทำบุญตักบาตร ทอดกฐินผ้าป่า) ก็หมดเพราะพระสงฆ์ไม่มีเฝ้าวัด

ส่วนการบูรณปฏิสังขรณ์วัด (ที่ยังมีพระอยู่) อาจหยุดชะงัก เพราะสมภารที่รับภาระบริหารวัดหมดอำนาจ ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่กรรมการที่จะตั้งขึ้นมา วัดอาจทรุดโทรมมากขึ้น และจะร้างมากขึ้น

ขอสรุปว่า พ.ร.บ.ที่ไพบูลย์เสนอมา ไม่ส่งเสริมพระราชศรัทธา ทำลายวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามของชาวพุทธอย่างแน่นอน เอวัง