posttoday

เมื่อพระพิมลธรรม (อาจ อาสภเถระ) ถูกจับ

26 กุมภาพันธ์ 2560

เรื่องที่ชาวพุทธไทยและทั่วโลกสนใจและสลดใจไม่มีข่าวใดเกินข่าว คสช.ใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว

โดย...ส.คนจริง

เรื่องที่ชาวพุทธไทยและทั่วโลกสนใจและสลดใจไม่มีข่าวใดเกินข่าว คสช.ใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ยึดวัดพระธรรมกายเพื่อติดตามจับตัวอดีตเจ้าอาวาส พระเทพญาณมหามุนี หรือที่เรียกกันทั่วไปในวงการสื่อคือ ธัมมชโย ที่โดนข้อหาฟอกเงินและรับของโจร การยึดวัดเริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 2560 ภายหลังจากที่  คสช.ประกาศใช้มาตรา 44 ให้วัดพระธรรมกายเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษ ตามข่าวว่าวันแรกเจ้าหน้าที่กว่า 3,600 นาย ปิดล้อมวัดพระธรรมกาย โดยที่ดีเอสไอแถลงว่าจำเป็นต้องปฏิบัติการเพื่อนำตัวพระธัมมชโยมาดำเนินคดี ล่าสุดยังไม่สามารถไล่ล่าหรือจับตัวได้ แม้ว่าจะรุกไล่ให้จนตรอกแล้วก็ตาม

พระสงฆ์ต่างประเทศที่ผู้เขียนติดต่อด้วยรูปหนึ่งมีความเห็นว่านึกไม่ถึงที่เรื่องอย่างนี้จะเกิดในประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา เช่น ประเทศไทย ท่านบอกว่าในฐานะพระสงฆ์รูปหนึ่งรู้สึกเศร้าสลดใจ และเจ็บปวดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ท่านรูปนี้ซึ่งเป็นสมาชิกองค์กรพุทธในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย มีความเห็นว่า ถ้าท่านธัมมชโยมีความถูกต้องและเมตตาคนอื่นๆ ท่านต้องมอบตัวเพื่อให้มีการสอบสวน เพราะการเป็นบุคคลสาธารณะต้องอยู่เหนือความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ

เพื่อบรรเทาความเครียด จึงขอนำเรื่องใหญ่ๆ ที่เคยเกิดมาแล้วในเมืองพระพุทธศาสนาอย่างประเทศไทยมาเล่าสู่กันฟัง ตอนนั้นพระเถระที่ถูกรัฐบาลจับมีสมณศักดิ์สูงเป็นรองสมเด็จ อดีตสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง และมีบทบาทเด่นมากในสายตาของคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชน พระที่ถูกกล่าวหาและถูกจับมี 2 รูป แต่ที่นี่จะกล่าวถึงรูปเดียว

พระรูปนั้นคือ พระพิมลธรรม (อาจ อาสภเถระ) ขณะนั้นเป็นอธิบดีสงฆ์ (เจ้าอาวาส) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ถูกจับกุมคุมขังที่ตำรวจสันติบาล

ขอลำดับเหตุการณ์ดังนี้ ก่อนถูกจับท่าน อาสภเถระถูกกระบวนการวางแผนโค่นล้มกล่าวหาว่า เสพเมถุนกับผู้ชาย ตอนนั้นสมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณ) วัดเบญจมบพิตร สั่งสึกแล้วให้หนีจากวัดเพื่อรักษาหน้า แต่ท่านพระพิมลธรรมไม่ไปไหน สมเด็จพระสังฆราชว่าขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา จึงสั่งถอดจากตำแหน่งเจ้าอาวาสตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. 2503

ต่อมาวันที่ 11 พ.ย. 2503 มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ถอดออกจากสมณศักดิ์ (พระพิมลธรรม) ฐานฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ลงนามเอง

เมื่อพระพิมลธรรม (อาจ อาสภเถระ) ถูกจับ

 

จากสมณศักดิ์ชั้นรองสมเด็จ เหลือชื่อเดิมเรียกตัวเองว่า อาสภเถระ แต่ยังไม่หนำใจผู้จ้องทำลาย จึงใส่ข้อมูลผิดๆ และร้ายแรงเข้าหูจอมพลสฤษดิ์ นายกรัฐมนตรีเสมอ จนประสบผลสำเร็จ เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2505 เวลา 12.30 น. ตำรวจสันติบาลจำนวนมากนำโดย พ.ต.อ.เอื้อ เอมะปาน พ.ต.อ.ชัชชวางกูร เป็นต้น ไปแจ้งหมายจับพระอาสถเถระที่กุฏิหอปริยัติ วัดมหาธาตุ ข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐในราชอาณาจักร

อาสภเถระไม่หนี ไม่ได้ขัดขืนการจับกุม แต่ขอเวลาเขียนหนังสือสั่งการ และลาพระประธาน และรักษาการเจ้าอาวาสก่อน จากนั้นจึงขึ้นรถไปสันติบาลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เมื่อไปถึง เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่รู้จะเดินหน้าอย่างไร พ.ต.อ.เอื้อ จึงทำจดหมายกราบเรียนสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) วัดมกุฏกษัตริยาราม ในฐานะสังฆนายก ว่าจะเอาอย่างไร และจอมพลสฤษดิ์ นายกรัฐมนตรีก็สั่งให้สึกวันนั้นเลย

ส่วนพระท่านสั่งเป็นทอดๆ จากสังฆนายก ไปสังฆมนตรีว่าการปกครอง และไปจบที่เจ้าคณะจังหวัดกรุงเทพมหานคร

พระธรรมคุณาภรณ์ (ฟื้น) เจ้าคณะจังหวัดกรุงเทพมหานคร รับงานแต่ไม่ได้ไปรูปเดียว ได้ชวนพระธรรมมหาวีรานุวัตร (ไสว ฐิตวีโร) เจ้าอาวาสวัดไตรมิตร ในฐานะที่คล่องเรื่องกฎหมายไปด้วย เพื่อจะสึกพระอาสภเถระที่ตำรวจสันติบาล แต่พระอาสภเถระได้เขียนหนังสือขอความเป็นธรรม พระธรรมคุณาภรณ์ต้องไปขอวินิจฉัยจากสังฆนายก สังฆนายกจึงแทงหนังสืออย่างไม่ปรานีว่าต้องสึกเท่านั้น เพราะเป็นคดีอาญา มิใช่เรื่องธรรมวินัยแล้ว

เจอไม้นี้พระอาสภเถระจึงทำหนังสือยืนยันไม่ลาสิกขาเด็ดขาด ยอมตายในผ้ากาสาวพัสตร์ ใครมาแย่งเอาผ้าเหลืองออกจากตัวถือว่าแย่งชิงเอาโดยผิดศีลธรรม และขอปฏิญาณตนเป็นพระภิกษุในศาสนาตลอดไป

พระธรรมคุณาภรณ์ (ฟื้น) ได้ปฏิบัติตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่ง ยกมือไหว้แล้วบอกว่าผมขอเอาผ้าเหลืองคืน แล้วพระธรรมมหาวีรานุวัตร (ไสว) กราบที่ตักแล้วปลดส่วนล่าง

ทั้งหมดนี้ดำเนินการที่ตำรวจสันติบาลกอง 1 ในวันที่ 20 เม.ย. 2505 จากนั้นท่านพระอาสภเถระนุ่งขาวห่มขาว ตำรวจสันติบาลกอง 1 กลายเป็นที่พำนัก และต่อสู้คดีในศาลทหารกรุงเทพ เป็นเวลา 5 ปี ในที่สุดศาลยกฟ้องพ้นข้อหาทั้งหมด เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2509 กลับมาอยู่วัดมหาธาตุตามเดิม โดยอธิกรณ์และมลทินถูกลบล้าง เพราะพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราชไม่ถูกต้องแต่แรก จึงส่งผลให้คำสั่งอื่นๆ โมฆะ ส่วนผู้กล่าวหาท่านว่าเป็นปาราชิก ถูกฟ้องหมิ่นประมาท ยอมรับสารภาพผิดและขอขมาโทษ

วันที่ 31 พ.ค. 2518 รัฐบาลคืนสมณศักดิ์ที่ พระพิมลธรรม ให้ท่านพระอาสภเถระ และปี 2523 มหาเถรสมาคมมีมติให้ดำรงตำแหน่งอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุอีกครั้ง วันที่ 5 ธ.ค. 2528 ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ พ.ศ. 2531-2532 และเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ตำแหน่งสุดท้ายก่อนมรณภาพ เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2532 คือเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก

เรื่องพระพิมลธรรม เมื่อต้องคดี พระบางรูปว่าเป็นความริษยาในวงการสงฆ์ ศาลทหารว่าเป็นคราวเคราะห์ หรือกรรมเก่าของจำเลย หรือเป็นการสร้างบาปกรรมของผู้มีกิเลส ไม่ใช่ความผิดของผู้ใดเป็นความผิดของสังสารวัฏเอง ศาลรู้สึกสลดใจและเห็นใจจำเลย และให้จำเลยทำใจว่าสัตว์ทั้งปวงมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมใดไว้ดี หรือชั่วก็ตาม ก็จะเป็นกรรมทายาทรับผลของกรรมนั้น และคงตั้งในคุณธรรมอันเป็นลักษณะของบัณฑิตในพระพุทธศาสนาสืบไป

เรื่องพระพิมลธรรมจบไปนาน ทิ้งตำนานให้ชาวพุทธศึกษา

ส่วนเรื่องพระธัมมชโย จะกลายเป็นเรื่องเสียดแทงใจชาวพุทธไปอีกนานแค่ไหน สังสารวัฏเท่านั้นย่อมรู้