posttoday

ชะตาผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช (ต่อ)

12 กุมภาพันธ์ 2560

วันนี้ก็ประจักษ์แล้วว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) เหลือเพียงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ

โดย...ส.คนจริง

วันนี้ก็ประจักษ์แล้วว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) เหลือเพียงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ และกรรมการมหาเถรสมาคมเท่านั้น เพราะเป็นปาปมุต พ้นจากหน้าที่ให้คุณให้โทษอื่นๆ รวมทั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชด้วย นับแต่การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 ในวันที่ 12 ก.พ. 2560

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช นับตั้งแต่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร สิ้นพระชนม์ วันที่ 24 ต.ค. 2556 ต่อมามหาเถรสมาคมจดระชุมลับ วันที่ 5 ม.ค. 2559 มีมติเสนอให้ได้โปรดฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะอาวุโสโดยสมณศักดิ์ (ตาม พ.ร.บ.สงฆ์ 2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2535) หลังจากนั้น มีมารผจญรอบด้าน โดยเฉพาะเรื่องที่มีชื่อครอบครองรถเบนซ์โบราณ และเกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย กลายเป็นปาปมุตในที่สุด

ตำแหน่งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เหมือนมีอาถรรพณ์ ผู้ทำหน้าที่นี้มักไม่ได้เป็นตัวจริง เช่น สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช หลายครั้ง หลายสมัย แต่ไม่ได้รับการสถาปนาให้เป็นตัวจริง 

ผู้เขียนขออภัย ที่มีข้อความตกหล่นและผิดพลาดในฉบับที่แล้วจึงขอแก้ไขโดยเพิ่มเติมว่า สมเด็จพระราชาคณะที่ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช นอกจากสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ แล้ว สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) ขณะที่ดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวันรัต ก็เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการสมเด็จพระสังฆราช ตอนนั้นสมเด็จพระสังฆราช (จวน อุฏฺฐายี) เสด็จฮ่องกง 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 มี.ค. -4 เม.ย. 2513 ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเหมือนกัน

จึงยุติว่า ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ หรือรักษาการ แล้วเป็นสมเด็จพระสังฆราชตัวจริง ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทโย) วัดสระเกศ และสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนฯ

ส่วนผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช 2 สมัย แต่ไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน ฐิติญาโณ) วัดอรุณราชวราราม ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชครั้งแรกวันที่ 9 พ.ค. 2508 เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศ ประชวรหนัก และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2508 เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (อยู่) สิ้นพระชนม์ ส่วนตัวจริง คือ สมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฏฯเมื่อทรงสถาปนาวันที่ 26 พ.ย. 2508

ส่วนสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์) วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ถึง 3 สมัย แต่ในที่สุดก็ไม่ได้รับการสถาปนาให้สูงขึ้น ครั้งแรกวันที่ 18 ธ.ค. 2514 หลังจากสมเด็จพระสังฆราช (จวน) สิ้นพระชนม์ ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2516 ช่วงที่สมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น) ประชวรรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2516 เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น) สิ้นพระชนม์ (วันที่ 7 ธ.ค. 2516)

สรุปว่า สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์) ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช 3 สมัย แต่หามีวาสนาได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชไม่ เพราะสมเด็จพระสังฆราชตัวจริง ได้แก่ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) วัดราชบพิธ ที่ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 วันที่ 22 มิ.ย. 2517 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่ามกลางมหาสังฆสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์ และคณะรัฐมนตรี (มีต่อ)

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์) เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน มรณภาพ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2517 สิริอายุ 77 ปี (เกิดวันที่ 1 พ.ค. 2440)