posttoday

ชะตาผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

05 กุมภาพันธ์ 2560

ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในการปกครองคณะสงฆ์ของไทยมีมานาน เอาง่ายๆ ตั้งแต่ใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์

โดย...ส.คนจริง

ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในการปกครองคณะสงฆ์ของไทยมีมานาน เอาง่ายๆ ตั้งแต่ใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา แต่ชะตาผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเหมือนตัวสำรอง ไม่เคยเป็นตัวจริง เว้นแต่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่) วัดสระเกศเพียงองค์เดียว ที่ปฏิบัติทำหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชในตอนแรก ต่อมาก็ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

นับแต่ พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีสมเด็จพระสังฆราชรวม 5 พระองค์ คือองค์ที่ 15 สมเด็จพระสังฆราชอยู่ วัดสระเกศ องค์ที่ 16 สมเด็จพระสังฆราชจวน วัดมกุฏกษัตริยาราม องค์ที่ 17 สมเด็จพระสังฆราชปุ่น วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม องค์ที่ 18 สมเด็จพระสังฆราชวาสน์ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และองค์ที่ 19 สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อแต่ละองค์สิ้นพระชนม์ กฎหมายสงฆ์ 2505 ให้ตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สังฆราชโดยเลือกผู้อาวุโสโดยพรรษา ถ้าองค์นั้นอาพาธให้เลือกสมเด็จที่อาวุโสรองลงไปตามลำดับ จึงมีผู้ปฏิบัติหน้าที่หรือรักษาการสังฆราชหลายองค์ บางองค์รับหน้าที่รักษาการถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่ได้เป็นตัวจริง

บางองค์เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สังฆราชและมีแนวโน้มว่าจะได้เป็นตัวจริงเสียด้วย แต่ถูกฝ่ายไม่เห็นด้วยค้านอย่างหนัก ทั้งกล่าวหาตรงๆ หรือเสียดสีทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง องค์นั้นคือสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (สมเด็จช่วง) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช  ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ที่ฝ่ายอาณาจักรบัญญัติไว้โดยที่ท่านไม่ได้ไปเรียกร้องหรือเสนอตัว แต่เมื่อท่านปฏิบัติหน้าที่และมีแนวโน้มว่าจะได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็มีขบวนการสร้างเรื่องให้ท่านมัวหมอง เช่น เรื่องที่ท่านมีชื่อเป็นเจ้าของรถโบราณ ถึงวันนี้ฝ่ายที่ค้านหรือโจมตีสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์กำลังนอนยิ้มด้วยความสุขใจ ที่ความพยายามกีดกันไม่ให้สมเด็จองค์นี้ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดจะเป็นจริง เมื่อมีข่าวว่าจะโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระเถระรูปอื่น

อันการปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนั้นทำตาม พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2505 ที่มาตรา 10 บัญญัติว่าในเมื่อไม่มีสมเด็จพระสังฆราชให้สมเด็จพระราชาคณะที่อาวุโสโดยพรรษาเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ถ้าสมเด็จอาวุโสนั้นปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ให้สมเด็จที่อาวุโสรองลงมาปฏิบัติหน้าที่แทน ให้ทำอย่างนี้ตามลำดับ

เมื่อประกาศใช้ พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2505 มีผลวันที่ 1 ม.ค. 2506 นั้น ประเทศไทยว่างสังฆราช กระทรวงศึกษาธิการจึงประกาศให้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่) วัดสระเกศ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จอยู่จึงเป็นรูปแรกที่ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชตาม พ.ร.บ.นั้น ต่อมาท่านก็ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช จึงนับว่าเป็นรูปเดียวที่ทำหน้าที่สังฆราชแล้วได้เป็นตัวจริงในที่สุด เพราะหลังจากนั้นมีการตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชหลายองค์แต่ไม่ได้เป็นสังฆราชแม้แต่องค์เดียว ขอยกมาเล่าตามลำดับดังนี้

เมื่อสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (อยู่) สิ้นพระชนม์ ราชการจึงตั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน) วัดอรุณราชวราราม ที่อาวุโสสูงสุดโดยพรรษา เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช แต่เมื่อสถาปนาตัวจริง ก็มีพระบรมราชโองการสถาปนาสมเด็จมหาวีรวงศ์ (จวน ป.ธ. 9 ) วัดมกุฏกษัตริยาราม เป็นสังฆราช องค์นี้นอกจากเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์แล้ว ยังอาวุโสโดยสมณศักดิ์ (เป็นสมเด็จ พ.ศ. 2499 ) เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (จวน) วัดมกุฏกษัตริยาราม สิ้นพระชนม์ พ.ศ. 2514 ผู้ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช คือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน) วัดอรุณราชวราราม แต่อาพาธ ราชการจึงตั้ง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์) วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช แต่เมื่อสถาปนาโปรดเกล้าฯ ก็สถาปนา สมเด็จพระวันรัต (สมเด็จปุ่น) วัดพระเชตุพนฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราช

สมเด็จปุ่น วัดพระเชตุพนฯ เป็นสังฆราชได้ปีเศษก็สิ้นพระชนม์ ต้องมีผู้ปฏิบัติหน้าที่สังฆราชอีก หวยมาออกที่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์) วัดพระศรีมหาธาตุ อีกครั้ง เพราะสมเด็จพระพุฒาจารย์ (วน) วัดอรุณ ซึ่งอาวุโสโดยพรรษา อาพาธทำหน้าที่ไม่ได้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์) วัดพระศรีมหาธาตุ จึงปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชอีกครั้งนับเป็นครั้งที่ 2 เริ่มวันที่ 8 ธ.ค. 2516 (อ่านต่อฉบับหน้า)