posttoday

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พระเถระผู้สมถะ

05 กุมภาพันธ์ 2560

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในเขตพระนคร ติดกับกระทรวงมหาดไทย

โดย...สมาน สุดโต

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ในเขตพระนคร ติดกับกระทรวงมหาดไทย ผู้ทรงสร้างวัดคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5

หนังสือประวัติวัด เล่าว่า มูลเหตุที่สร้างวัด คือ สืบเนื่องจากพระราชศรัทธาอันยิ่งใหญ่ และเป็นไปตามโบราณราชประเพณีนิยมที่สมเด็จบรมพระบุพการีได้ทรงบำเพ็ญมา เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2412 นับเป็นปีที่ 2 ในรัชกาลนั้น โปรดให้ซื้อที่ ซึ่งเดิมเป็นวังพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ บ้านเรือนราชการ และราษฎรสิ้นพระราชทรัพย์ 2,806 บาท 37 สตางค์ โดยพระราชประสงค์จะให้เป็นวัดประจำรัชกาล ดังปรากฏวัดประจำแต่ละรัชกาล คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงสร้างวัดพระเชตุพนฯ สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสร้างวัดอรุณราชวราราม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างวัดราชโอรสาราม และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม

ส่วนลำดับเจ้าอาวาส มีดังนี้

1.พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ ปกครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2412-2444

2.พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ปกครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2444-2480

3.พระศาสนโศภน (ภา ภาณโก) ปกครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2480-2489

4.สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) ปกครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2491-2531

5.สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) ปกครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2531-2551

6.สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) ปกครองวัดตั้งแต่ พ.ศ. 2551-ปัจจุบัน

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พระเถระผู้สมถะ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ด้านถนนเฟื่องนครวัดประจำรัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 7

 

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ที่ได้รับการพูดถึงกันมากในระยะนี้ จึงขอถ่ายทอดประวัติให้ทราบโดยย่อ ท่านเป็นเจ้าอาวาสลำดับที่ 6 ต่อจากเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร ป.ธ.6)” ที่มรณภาพเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2551

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ มีนามเดิมว่า อัมพร ประสัตถพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2470 ณ หมู่บ้าน ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี โยมบิดา-มารดาชื่อ นับ และ ตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย ปัจจุบันสิริอายุได้ 90 ปี

ย้อนอดีตประวัติ ท่านบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี 2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ. 2490 จึงย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2491 ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธฯ โดยมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสนมหาเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ และท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

ภายหลังอุปสมบท ท่านได้มุ่งมั่นศึกษาพระปริยัติธรรม สอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยคพ.ศ. 2493

ต่อมา ท่านได้สมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี 2500 ต่อมาปี 2509 ได้เข้าอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศ
อินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

ในช่วงปี 2516 เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยมีพระขันติปาโล ชาวอังกฤษ เป็นสหธรรมิก พร้อมไวยาวัจกร ตามคำนิมนต์ของประธานพุทธสมาคมแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้วางรากฐานพระพุทธศาสนา ตลอดถึงเป็นเนติให้สหธรรมิกที่มาภายหลังได้เผยแผ่อย่างเป็นรูปแบบ ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีความมั่นคง มีวัดและพระสงฆ์อยู่ประจำรัฐแห่งนี้ ก่อนขยายไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมือง อาทิ กรุงแคนเบอร์รา นครเมลเบิร์น และเมืองดาร์วิน เป็นต้น

 ภารกิจและงานเผยแพร่ที่โดดเด่น เป็นประธานอำนวยการฝ่ายบรรพชิต สร้างพระมหาธาตุเจดีย์และเขตพุทธาวาสเฉลิมพระเกียรติ ในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และฉลองมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ณ วัดธัมมธโร กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย

 เป็นผู้นำพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ไปเผยแผ่ในประเทศออสเตรเลีย

 เป็นรองประธานกรรมการที่ปรึกษาสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)

 งานปกครองคณะสงฆ์ในปัจจุบัน

- เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร

- ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต)

- กรรมการมหาเถรสมาคม

- กรรมการคณะธรรมยุต

- นายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร)

- กรรมการบริหารมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์

- แม่กองงานพระธรรมทูต

- ประธานมูลนิธิพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร และเป็นศิษย์พระอาจารย์ฝั้นที่มีสมณศักดิ์สูงสุดในปัจจุบัน

ที่ได้รับการพูดถึงเสมอคือท่านไม่มีรถยนต์ส่วนตัวเหมือนพระเถระอื่นๆ จึงได้รับยกย่องว่าเป็นพระเถระที่สมถะรูปหนึ่งในคณะสงฆ์ไทย