posttoday

พรบ.สงฆ์ ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน

22 มกราคม 2560

เมื่อประเทศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. 2475

โดย...ส.คนจริง

เมื่อประเทศเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย พ.ศ. 2475 บรรดาคณะสงฆ์ ทั้งมหานิกายและธรรมยุต ก็ต้องการอิสรเสรี จนเกิดกรณีพระหล้า โสภิโต วัดปทุมวนาราม แข็งข้อ ไม่ยอมขึ้นกับเจ้าอาวาส จึงถูกขับออกจากวัดพร้อมด้วยคณะมาอยู่วัดดวงแข ที่หัวลำโพง เมื่อมาอยู่ที่วัดนี้ ก็ยึดอำนาจสมภาร สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ แก้ปัญหาโดยการประกาศยุบวัดดวงแขเสียเลย (แต่ยกเป็นวัดมีพระสงฆ์จำพรรษาอีกครั้งเมื่อไร หาผู้ยืนยันไม่ได้)

ส่วนพระมหานิกายก็เคลื่อนไหวเพื่อให้มีพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ใหม่แทน พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ที่เอาเปรียบพระมหานิกายทุกรูปแบบ จึงมีกลุ่มยุวสงฆ์ที่เรียกตนเองว่า คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา ประชุมวางแผนกันเรื่อยมา ขอแค่ได้กฎหมายปกครองสงฆ์ที่เป็นประชาธิปไตยก็พอ

ข้อมูลจากหนังสือการปกครองคณะสงฆ์ไทย ฉบับปรับปรุง ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของคณะสงฆ์ในปลายรัชกาลที่ 7 (ทรงสละราชสมบัติวันที่ 2 มี.ค. 2477 นับศักราชแบบเก่า) และต้นรัชกาลที่ 8 ว่า

วันที่ 11 ม.ค. 2477 บรรดาพระภิกษุหนุ่มฝ่ายมหานิกาย จากสำนักดังๆ สมัยนั้น จำนวน 300 รูปเศษ ได้เดินทางไปประชุมร่วมกันที่บ้านของคหบดีท่านหนึ่งที่ อ.บางรัก สาระสำคัญที่ยกขึ้นมาประชุมปรึกษาหารือกันมี 3 ประการ คือ

1.การปกครองคณะสงฆ์ไม่เสมอภาคเจ้าคณะที่เป็นธรรมยุตปกครองสงฆ์ฝ่ายมหานิกายได้ แต่เจ้าคณะที่เป็นมหานิกายปกครองสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตไม่ได้ จึงขอให้รัฐบาลหรือมหาเถรสมาคม (มส.) แก้ไขเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ให้มีการบริหารโดยสิทธิอันเสมอกัน

2.เพื่อให้ได้มีการร่วมสมานสังวาสระหว่างสงฆ์มหานิกายและธรรมยุติกนิกาย เช่น ร่วมอุโบสถกรรมด้วยกันได้

3.ตำแหน่งหน้าที่ ทั้งในการศึกษาและการปกครองหรืออำนาจสูงสุดในการปกครองสังฆมณฑล พระภิกษุมหานิกายต้องมีสิทธิในตำแหน่งหน้าที่นั้นด้วย

นอกจากนี้ บรรดาพระภิกษุที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด ได้ตกลงให้จัดตั้งกลุ่มขึ้นดำเนินงาน โดยให้ชื่อว่า คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนา และกำหนดวัตถุประสงค์ไว้ 5 ประการ เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า เบญจกัลยาณี คือ

1.ประสานสามัคคีแห่งพระสงฆ์ไทย

2.ประสาทมหาวิทยาลัยฝ่ายพระศาสนา

3.ประกาศพุทธปรัชญาโปรดวิเทศชน

4.ประสิทธิมหาสากลสังฆสภา

5.ประโคมสัญญาแห่งศานติภาพ

ตามข้อมูลที่ปรากฏ พระมหานิกายหยิบยกประเด็นหนักๆ มาถกกันล้วนแต่เรื่องอึดอัด เพราะถูกแทรกแซงและถูกบีบคั้นบั่นทอนหลากหลายรูปแบบจาก พ.ร.บ.ปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.121 ทำให้ตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบติดต่อกันมาเป็นเวลานานถึง 80 ปี นับแต่ปี 2397 มาจนถึงปี 2477 เพราะตลอดเวลายาวนาน 80 ปีเศษนั้น ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ไปอยู่ที่พระสงฆ์เถระคณะธรรมยุติกนิกายทั้งสิ้น แม้แต่ตำแหน่งทางการปกครองคณะสงฆ์ระดับล่างลงมาก็ไม่เว้น เมื่อเทียบจำนวนวัดของคณะสงฆ์ทั้งสองฝ่ายในช่วงปี 2478 แล้ว คณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกายมีวัดอยู่ทั่วประเทศเพียง 260 วัดเท่านั้น ส่วนคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกายมีวัดอยู่ทั่วประเทศเป็นจำนวนถึง 17,205 วัด แต่พระเถระฝ่ายธรรมยุติกนิกายกลับได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะปกครองมากกว่า เช่น ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่ 4 คณะ ปรากฏว่า พระเถระฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เป็นเจ้าคณะใหญ่ถึง 3 ตำแหน่ง ส่วนพระเถระฝ่ายมหานิกายดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เพียง 1 ตำแหน่ง นอกจากนี้ในระดับมณฑลซึ่งแบ่งออกเป็น 10 มณฑล ปรากฏว่า พระเถระฝ่ายธรรมยุติกนิกายดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลถึง 6 ตำแหน่ง ส่วนพระเถระฝ่ายมหานิกายดำรงตำแหน่งเจ้าคณะมณฑลเพียง 4 ตำแหน่งเท่านั้น จึงเคลื่อนไหวขอ พ.ร.บ.ใหม่ที่กระจายอำนาจและเสมอภาคกัน ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงมี พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2484 ออกมาใช้

พ.ร.บ.ใหม่มี 60 มาตรา จัดการปกครองสงฆ์แบบการปกครองราชอาณาจักร คือ ให้มีสังฆนายก สังฆมนตรี และสังฆสภา โดยสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประมุขสงฆ์ เป้าหมายหลัก พ.ร.บ.นี้คือให้มีคณะสงฆ์ไทย และทำสังคายนาให้แล้วเสร็จใน 8 ปี ดังนั้นมาตรา 60 จึงห้ามมีกฎกติกาใหม่ทั้งหมด

แต่ปัญหาสงฆ์หาหมดไม่ ยังบานปลายเป็นปัญหาทางการเมือง กระทั่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ยุบทิ้ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2484 แล้วตรา พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ปี 2505 สิ้นสุดยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน