posttoday

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ แนะวิธีรักในหลวง

01 มกราคม 2560

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เสนอแนะการปฏิบัติตัวเพื่อให้รู้ว่ารักในหลวง ในหนังสือ

โดย...สมาน สุดโต

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) เสนอแนะการปฏิบัติตัวเพื่อให้รู้ว่ารักในหลวง ในหนังสือที่พิมพ์เป็นธรรมทานบุญกิริยา บรมราชูทิศ ชื่อเรื่องว่า ทำอย่างไร จะพูดได้เต็มปาก ว่าเรารักในหลวง ซึ่งวัดญาณเวศกวัน จะพิมพ์เป็นธรรมทานจำนวน 1 แสนเล่ม

พระมงคลธีรคุณ (อินศร) รองเจ้าอาวาสวัดญาณเวศกวัน อนุญาตให้คอลัมน์ สว่าง ณ กลางใจ พิมพ์บางส่วน (เพราะพื้นที่จำกัด) เผยแพร่ได้

 หนังสือหนา 16 หน้า นอกจากกล่าวความเป็นมาของหนังสือในคำนำแล้ว ตอนแรกๆ ของหนังสือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เล่าว่า หลายสิบปีมาแล้วประชาชนชาวไทยเฉลิมฉลองวันที่ 5 ธ.ค.ด้วยความเบิกบาน เพราะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา แต่เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2559 ประชาชนชาวไทยมีแต่ความโศกเศร้า เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต แสดงถึงความจงรักภักดีของประชาชนชาวไทยที่มีต่อในหลวง แม้จะเสด็จลับแรมไป ก็ยังเหมือนสถิตในดวงใจของพสกนิกร

เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2559 ตรงกับวันพระราชสมภพในหลวง รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานอุทิศถวาย นำให้ปวงประชานิกรน้อมรำลึกพระคุณ เตือนใจตนให้บำเพ็ญคุณความดีสืบสานพระราชปณิธานให้ยั่งยืนสืบไป

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แม้เสด็จสวรรคาลัย แต่เหมือนยังประทับในฟากฟ้า บรรยากาศที่ปกแผ่ทั่วผืนแผ่นดินไทย ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญไว้แผ่ขยายทั่วแผ่นดินไทย สมดังพระปฐมบรมราชโองการว่า เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม

พระราชกรณียกิจที่ทรงบำเพ็ญยังอยู่ในใจชาวไทยทุกคน เมื่อเสด็จสวรรคตจากไป จึงพากันเศร้าโศกอาลัย แต่ความโศกเศร้าผ่อนเบาลงไปบ้าง เมื่อได้ยินการเฉลิมพระเกียรติที่มาทุกสารทิศทั้งในและนอกประเทศ แต่ในการปฏิบัติต่อพระคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้น คนไทยควรก้าวต่อให้ถึงขั้นของปัญญาและการกระทำ ในขั้นของปัญญานั้น

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ได้ยกพระราชนิพนธ์ เรื่อง “พระมหาชนก” ว่าด้วยการบําเพ็ญพระวิริยบารมีของพระโพธิสัตว์ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยบอกว่าพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ นําให้เห็นชัดว่า พระองค์ทรงถือเป็นสําคัญที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเป็นคนมีความพากเพียร พยายามมุ่งหน้าทําการให้สําเร็จ ไม่ยอมระย่อ ท้อถอย

พระมหาชนกนั้นตรัสแสดงคติธรรมไว้ว่า การงานใดไม่ทําให้จบสิ้นไปด้วยความพากเพียร ก็ไร้ผล เป็นคนก็ควรพยายามเรื่อยไป ไม่ยอมท้อแท้

คนไทย เมื่อรักในหลวง ก็ควรพัฒนาตนให้มีคุณสมบัติ เช่น ความเพียรพยายามนี้ ให้สมดังที่ได้ทรงหวัง ได้ทรงสั่งสอนไว้ ประชาชนชาวไทยได้ยินพูดกันทั่วไปว่า “เรารักในหลวง”

หลักแสดงความรักในหลวง

เมื่อรักในหลวง ก็คือจะพยายามทําให้สมพระราชหฤทัย โดยนัยที่ได้บรรยายมา ประชาชนจะแสดงตนชัดว่ารักพระองค์ โดยมีการแสดงออก 4 ประการ ที่ได้กล่าวมาตามลําดับ กล่าวคือ

1.กตัญญู สํานึกรู้เข้าใจมองเห็นซาบซึ้งในพระคุณ นานัปการที่ได้ทรงบําเพ็ญ อันสมดังพระราชปณิธานว่าจะทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม

2.อัตถัญญู มีปัญญารู้คุณค่า ความหมาย เหตุผล ตระหนักในความมุ่งหมาย และวัตถุประสงค์ ทั้งที่เป็นพระราชปณิธานอันเป็นข้อหลักใหญ่ และพระราชประสงค์จําเพาะของโครงการพระราช
ดําริ หรือกิจการงานที่เกี่ยวข้องมาถึงตน

 3.ปฏิบัติบูชา เมื่อรักพระองค์ จะยกย่องเทิดทูน ก็ทําอย่างที่พระองค์สอนว่า ให้บูชาพระองค์ด้วยการปฏิบัติ โดยร่วมมือ ร่วมแรง ทํากิจหน้าที่ของตน เพื่อให้สําเร็จบรรลุผลที่มุ่งหมายจนได้ถวายความสําเร็จนั้นเป็นเครื่องบูชาพระคุณ

4.ภาวนาปธาน สุดท้าย เพื่อให้ทําได้ ปฏิบัติได้อย่างนั้น จึงจะต้องไม่อยู่อย่างเรื่อยเปื่อยเฉื่อยชา แต่พยายามพัฒนาตนเองให้มีคุณสมบัติดีงาม มีศีล มีวินัย มีความเพียรพยายาม มีสติปัญญา ความสามารถ ให้เป็นประชาชนที่มีคุณภาพ ผู้ได้พัฒนาอย่างดี

เมื่อทําดังว่ามานี้ ความอาลัยรักภักดีที่แสดงกันต่างๆ มากมาย จึงจะเป็นของจริงจังมีความหมาย มิใช่เป็นของเสียหายหรือสูญเปล่า

ดังได้กล่าวย้ำบ่อยครั้งว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงบําเพ็ญพระราชกรณียกิจทั้งหลาย เช่น ที่ตั้งเป็นโครงการพระราชดําริต่างๆ มากมาย ก็เพื่อความมุ่งหมายที่มั่นแน่วเป็นหนึ่งเดียว คือ เพื่อแก้ไขปัญหาบําบัดทุกข์ ทําให้เกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน

ให้มีมุทิตาต่อสิ่งแวดล้อม

เมื่อได้ทรงเพียรพยายามแก้ไขปัญหา ทรงนําพาชาวถิ่น ชาวบ้านทั่วไป ในการที่จะรู้จักพึ่งพาช่วยตัวเองแล้ว ครั้นเสด็จฯ เยือนท้องถิ่นใดๆ ทอดพระเนตรเห็นประชาชนเป็นอยู่ดีขึ้น พระองค์ก็ย่อมทรงชื่นชมยินดี เรียกทางธรรมว่าทรงมีมุทิตา

ถ้าประชาชนคนไทยชาวถิ่นชาวบ้านจะเจริญรอยพระยุคลบาท โดยปฏิบัติมุทิตาธรรมข้อนี้ เป็นข้อเริ่มแรก ก็จะได้ชื่อว่ากระทําปฏิบัติบูชา และจะพาให้ท้องถิ่นดินแดนประเทศไทยนี้ เจริญงอกงามอุดมสมบูรณ์

การเจริญมุทิตาอย่างแช่มชื่นเบาใจ ทําง่ายๆ เป็นอย่างไร ชาวถิ่นชาวบ้านนั้น เมื่อใดขึ้นเขา หรือเข้าป่า มองไปเห็นต้นไม้มีลําต้นสมบูรณ์แข็งแรง ใบเขียวสด ดอกสะพรั่ง มีผลดก แผ่กิ่งก้านขยายกว้างขวางร่มรื่น ได้เห็นแล้วก็มีใจยินดี ชื่นชม ตั้งใจหวังดีขอให้ต้นไม้นี้สมบูรณ์แข็งแรงอยู่ต่อไป และเจริญงอกงามยิ่งขึ้นไป แล้วนึกคิดต่อไปอยากให้มีต้นไม้ที่งอกงามสมบูรณ์ อย่างนั้นมากมายทั่วแถบ ทั่วถิ่น เมื่อยังไม่มี ก็คิดว่าจะปลูก เพิ่มขึ้นขยายออกไปๆ แล้วชวนกันปลูก ช่วยกันบํารุงรักษา ส่วนการที่จะกินจะใช้ ก็ทําไปตามที่สมควรแก่เหตุผล โดยพยายามไม่ให้เป็นการรุกรานเบียดเบียนพืชพันธุ์ของธรรมชาติ

การที่จะได้มุทิตานั้น ก็หมายถึงว่า เมื่อได้ช่วยกันทําให้พืชพันธุ์งอกงาม แผ่นดินอุดมสมบูรณ์ดีขึ้น ทุกคนก็จะได้ชื่นชมยินดีกับชุมชนและท้องถิ่นของตนๆ นั่นเอง ที่เจริญงอกงามขึ้นมา มีความผาสุก

ด้วยการปฏิบัติเพื่อเจริญมุทิตาดังกล่าวมาฉะนี้ ก็จะบันดาลให้ผืนแผ่นดินไทยอุดมสมบูรณ์ อํานวยพืชพันธุ์ธัญญาหารให้อย่างเพียงพอ ทําให้ได้อยู่ได้กินกันอย่างพอเพียง

ชาวถิ่นชาวบ้านเจริญมุทิตาธรรม โดยสามารถชื่นชมยินดีต่อท้องถิ่นที่อุดมและชุมชนที่อยู่กันดีของตนเองได้อย่างนี้ ก็จะเป็นการถวายปฏิบัติบูชาที่จะนําพาแผ่นดินไทยให้เจริญพิไล สุขสมบูรณ์ สนองพระจํานงแห่งพระราชหฤทัย

เมื่อปฏิบัติดังนี้ จึงควรแก่การนับถือว่าได้บําเพ็ญบุญอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลอย่างเยี่ยมยอดเลิศอุดม สมแก่การที่จะได้ชื่อว่ารักในหลวง ด้วยการช่วยกันสนองพระราชปณิธาน ดังได้บรรยายมา