posttoday

ศูนย์พิทักษ์ฯอาลัย หลวงปู่จันทร์ศรี

18 ธันวาคม 2559

ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ขอน้อมกราบถวายอาลัย พระเดชพระคุณพระอุดมญาณโมลี

โดย...สมาน สุดโต

ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ขอน้อมกราบถวายอาลัย พระเดชพระคุณพระอุดมญาณโมลี (หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป) พระราชาคณะเจ้าคณะรอง ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต) ที่ปรึกษามหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี อายุ 105 ปี พรรษา 85 ได้มรณภาพ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย วันที่ 14 ธ.ค. 2559 เวลา 20.00 น. ท่านเป็นพระเถระสุปฏิปันโน มีอายุยืนนานถึง 5 แผ่นดิน (เกิดเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2454 ต้นรัชกาลที่ 6 มรณภาพต้นรัชกาลที่ 10 )

ประวัติโดยสังเขป

“พระอุดมญาณโมลี” หลวงปู่จันทร์ศรี จนฺททีโป ชาวอุดรเรียกติดปากว่า “หลวงปู่ใหญ่” เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ (ธ) พระอารามหลวง “รองสมเด็จพระราชาคณะ” ฝ่ายธรรมยุตรูปแรกที่อยู่ส่วนภูมิภาค ได้รับการยกย่องว่าเป็นพระมหาเถระสายพระป่ากรรมฐาน มากด้วยเมตตา เป็นแบบอย่างอันงดงามของพระภิกษุและสามเณร

ท่านมีนามเดิมว่า จันทร์ศรี แสนมงคล เกิดเมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2454 ที่บ้านโนนทัน ต.โนนทัน อ.เมือง จ.ขอนแก่น โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ บุญสาร-หลุน แสนมงคล บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2468 ณ วัดโพธิ์ศรี บ้านศิลา ต.ศิลา อ.เมือง จ.ขอนแก่น ปฏิบัติธรรมถึง 3 ปี ก่อนได้ร่วมเดินทางกับพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ และพระอาจารย์ลี สิรินฺธโร ออกแสวงหาความสงัดวิเวกตามป่าเขา เพื่อเข้ากรรมฐาน ปฏิบัติธุดงควัตร 13 ตามแบบพระป่ากรรมฐานอย่างเคร่งครัด

อุปสมบทที่วัดศรีจันทราวาส ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2474 โดยมีพระครูพิศาลอรัญญเขต (จันทร์ เขมิโย) เจ้าอาวาสวัดศรีจันทราวาส เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ รับฉายาว่า “จนฺททีโป” มีโอกาสติดตามพระกรรมฐานผู้เคร่งวัตรปฏิบัติหลายรูป ก่อนมาศึกษาด้านพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร จนสอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค

พ.ศ. 2484 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) วัดบวรนิเวศวิหาร ให้ไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมที่สำนักเรียนวัดป่าสุทธาวาส ต.พระธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร ในช่วงต้นเดือน พ.ย. พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต แม่ทัพธรรมแห่งอีสานฝ่ายวิปัสสนา ได้ไปพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร เป็นเวลา 15 วัน หลวงปู่ใหญ่มีโอกาสปรนนิบัติใกล้ชิด ก่อนถูกส่งไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมที่สำนักเรียนวัดธรรมนิมิตร ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม นานถึง 10 ปี

ต่อมาวันที่ 1 พ.ค. 2497 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ให้มาอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี เพื่อทำศาสนกิจคณะสงฆ์ เนื่องจากพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ชรามากแล้ว โดยแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ และผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี (ธรรมยุต) ก่อนมาเป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2505 พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) อาพาธด้วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี มรณภาพด้วยอาการสงบ วันที่ 26 พ.ย. 2507 พระอุดมญาณโมลี ครั้งดำรงสมณศักดิ์ พระราชเมธาจารย์ เป็นเจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ท่านเป็นเจ้าอาวาสลำดับที่ 3 แห่งวัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งเจ้าอาวาสรูปที่ 1 ชื่อ พระครูธรรมวินยานุยุต (หนู) ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2450-2465

รูปที่ 2 พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2466-2505

เกียรติคุณของหลวงปู่จันทร์ศรีที่มีการกล่าวถึงด้วยความภูมิใจยิ่ง ตามที่ .I-Mong Pattara Khumphitak เขียนเล่าไว้ คือเมื่อปี 2486 สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มอบหมายให้ไปอัญเชิญพระแก้วมรกตจาก จ.เพชรบูรณ์ ที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม อัญเชิญไปเก็บไว้ในถ้ำแห่งหนึ่งพร้อมกับสมบัติมีค่าอื่นๆ ของชาติเพื่อหลบภัยญี่ปุ่น เมื่อสงครามสงบจึงอัญเชิญกลับเมืองหลวง

วัดโพธิสมภรณ์ (พระอารามหลวง) นั้นเป็นวัดสร้างใหม่ในรัชกาลที่ 5 ได้รับยกเป็นพระอารามหลวงเมื่อปี 2507 ตั้งอยู่บนถนนเพาะนิยม เลขที่ 22 ต.หมากแข้ง อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี อยู่ทางทิศตะวันตกของหนองประจักษ์ มีเนื้อที่ทั้งหมด 40 ไร่

ผู้นำในการสร้างวัดในสมัยนั้น คือ มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) สมุหเทศาภิบาลมณฑลอุดรที่พิจารณาว่าในเขตเทศบาลเมืองอุดรธานีมีเพียง “วัดมัชฌิมาวาส” จึงควรจะสร้างขึ้นอีกวัดหนึ่ง จึงได้ไปสำรวจดูสถานที่ทางด้านทิศใต้ของ “หนองนาเกลือ” หรือหนองประจักษ์ในปัจจุบัน พบว่าเป็นทำเลที่เหมาะสมควรแก่การสร้างวัดได้ เพราะเป็นที่ราบป่าละเมาะเงียบสงบดี ไม่ใกล้ไม่ไกลจากหมู่บ้านมากนักและอยู่ใกล้แหล่งน้ำ จึงชักชวนและนำพาราษฎรในหมู่บ้านหมากแข้งมาร่วมกันปรับพื้นที่ ปลูกกุฏิ ศาลาโรงธรรม สำหรับใช้เป็นที่บำเพ็ญบุญ และเป็นที่ประกอบพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาประจำปีของหน่วยราชการ ใช้เวลาสร้างอยู่ประมาณ 1 ปี ชาวบ้านเรียกว่า “วัดใหม่” และได้อาราธนา พระครูธรรมวินยานุยุต (หนู) เจ้าคณะเมืองอุดรธานี จากวัดมัชฌิมาวาสมาเป็นเจ้าอาวาสวัด

ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ ได้ประทานนามว่า “วัดโพธิสมภรณ์” เพื่อให้เป็นอนุสรณ์แก่มหาอำมาตย์ตรีพระยาศรีสุริยราชวรานุวัตร (โพธิ์ เนติโพธิ์) ผู้สร้างวัดแห่งนี้

การมรณภาพของพระอุดมญาณโมลี เจ้าอาวาสลำดับที่ 3 แห่งวัดโพธิสมภรณ์ พระอารามหลวง นับว่าเป็นการสูญเสียพระเถระ 5 แผ่นดิน พระที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ซึ่งเป็นสังฆโสภณของคณะสงฆ์ทีเดียว