posttoday

สุดยอดเครื่องราง เบี้ยแก้ ตะกรุด สิงห์งาแกะ

18 ธันวาคม 2559

สุดยอดเครื่องราง เบี้ยแก้ ตะกรุด สิงห์งาแกะ มีคำโบราณว่า “หมากดีวัดหนัง เบี้ยขลังวัดนายโรง ไม้ครูคู่วัดอินทร์ มีดบินวัดหนองโพธิ์

โดย...อาจารย์ชวินทร์ [email protected]

สุดยอดเครื่องราง เบี้ยแก้ ตะกรุด สิงห์งาแกะ

มีคำโบราณว่า “หมากดีวัดหนัง เบี้ยขลังวัดนายโรง ไม้ครูคู่วัดอินทร์ มีดบินวัดหนองโพธิ์ พิสมรวัดพวงมาลัย ครั่งเหลือร้ายวัดโตนดหลวง ราหูคู่วัดศีรษะทอง เเหวนอักขระวัดหนองบัว ลูกเเร่วัดบางไผ่” ล้วนเป็นเครื่องรางที่หาดูได้ยาก วันนี้มาชมบางส่วนครับ

ชิ้นแรก ชมตะกรุดคู่ชีวิต หลวงพ่อพิธ วัดฆะมัง จ.พิจิตร ช่วงปี 2470-2485 ท่านสร้างตะกรุดให้บูชาดอกละ 10 บาท ในขณะที่รูปหล่อหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ไม่เกิน 10 บาท ใน จ.พิจิตร และราคาทองคำในสมัยนั้นประมาณบาทละ 20 บาท เล่ากันว่า ท่านเป็นหลานของหลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ทำให้ท่านได้รับถ่ายทอดวิชาอาคมมา ตะกั่วที่ใช้ทำตะกรุดของท่านเป็นตะกั่วนมแบบโบราณที่มักจะนิ่ม มีอั่วทองเหลืองเป็นแกนกลาง และดอกที่สมบูรณ์จะมีการถักเชือกหุ้มอีกที ยันต์ที่ใช้ลงในตะกรุดคู่ชีวิตนั้นเป็นยันต์พระพุทธเจ้าห้ามศัสตราวุธ หรือยันต์คู่ชีวิต เป็นยันต์ในตำราพิชัยสงคราม ที่นำมาให้ชมเป็นของคุณบรรพต จากสินเลิศ

สุดยอดเครื่องราง เบี้ยแก้ ตะกรุด สิงห์งาแกะ

 

ชิ้นที่สอง ชมสิงห์งาแกะหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์ ท่านได้สร้างวัตถุมงคล ทั้งรูปเหมือน เหรียญ มีดหมอ แหวน และสิงห์งาแกะ หลวงพ่อเดิมได้นำงาช้างมาทำด้ามมีดหมอ เหลือเศษเยอะ ท่านเสียดายงา จึงสั่งให้ช่างแกะสิงห์ในหลายรูปแบบ โดยสิงห์ยุคแรกของหลวงพ่อเดิมนั้น ต้องดูศิลปะการแกะ สังเกตพื้นผิวของงาจะเห็นร่องรอยชัดเจนเป็นเหลี่ยมมุมไม่เสมอกัน อกจะใหญ่สง่า ขวัญสิงห์แกะจากปลายมีดในร่องเซาะจะสูงต่ำไม่สม่ำเสมอกัน และปากสิงห์จะเป็นปากเจาะนกแก้ว เชื่อกันว่าเป็นสุดยอดเครื่องรางที่โดดเด่นเรื่องคงกระพัน มหาอำนาจ เมตตามหานิยม มีเรื่องเล่าว่า เวลาท่านปลุกเสกสิงห์ในถาด บรรดาสิงห์จะกระโดดออกนอกถาดเป็นว่าเล่น องค์ที่นำมาให้ชมเป็นสิงห์ยุคต้นของหลวงพ่อเดิม เป็นของแฟนทางบ้าน

ชิ้นที่สาม เบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด วัดนายโรง ถือว่าเป็นสุดยอดเครื่องราง กันเสนียดจัญไร และคุณไสย ลักษณะเบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด ส่วนมากจะใช้เชือกถักพันตัวเบี้ย และใช้เชือกถักเป็นห่วงอยู่ในตัว หลวงปู่จะคัดตัวเบี้ยขนาดยาวประมาณ 3.5 ซม. กว้าง 2.5 ซม. มีฟันครบ 32 ซี่ บรรจุปรอทแล้วจึงอุดด้วยชันโรงใต้ดิน แล้วหุ้มด้วยแผ่นตะกั่ว มีทั้งหุ้มหมดทั้งตัว และหุ้มเปิดด้านหลังเบี้ยไว้ บางตัวก็ไม่มีตะกั่วหุ้มก็มี ถ้านำเบี้ยมาเขย่าใกล้ๆ จะได้ยินเสียงปรอทสั่นเบาๆ เบี้ยแก้มักถักเชือกกันเอาไว้ โดยฝีมือการถักของหลวงลุงชม หูด้ายที่ถักถ้าเป็นเบี้ยสำหรับผู้หญิงมักมีหูถักอันเดียวไว้ร้อยกับเชือกสวมคอ แต่ถ้าเป็นของผู้ชายมักจะมีสองหรือสามหู เพราะผู้ชายจะใช้ร้อยเชือกคาดเอว จากนั้นจึงลงยางมะพลับไว้อีกทีหนึ่ง เพื่อความคงทนของเชือกที่ถัก ชิ้นที่นำมาให้ชมราคาว่ากันหลักแสน เป็นของคุณจิตต์ปรานี สกุลก้องเกียรติ

สุดยอดเครื่องราง เบี้ยแก้ ตะกรุด สิงห์งาแกะ

 

ชิ้นที่สี่ ชมตะกรุดมหาระงับปราบหงสา หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ การสร้างเริ่มจากการจารอักขระเลขยันต์หนึ่งตัวก็ต้องบริกรรมคาถาไปด้วยหนึ่งจบ รูปแบบตัวยันต์มหาระงับ จะมีเอกลักษณ์เฉพาะโดยเป็นเหมือนแผนผังกั้นเป็นห้องๆ ซ้อนกันล้อมด้วยพระคาถามหาระงับ เป็นต้น เมื่อลงอักขระเสร็จ จะม้วนให้เป็นแท่งกลม โดยมีช่องว่างตรงกลางไว้สำหรับร้อยเชือกแล้วพอกด้วยว่านยา 7 ชนิด คือ ใบระงับ ใบผักกะเฉด ใบกระทืบยอด ใบชุมเห็ดเทศ ใบหญ้าใต้ใบ ใบแคขาว ใบสมี อย่างละเท่ากัน นำไปตากให้แห้ง จากนั้นนำมาบดให้ละเอียด นำไปกวนกับชันยาเรือมาพอกตะกรุด แล้วเอาไปตากให้แห้ง จากนั้นใช้เชือกหรือด้ายดิบถักทับแล้วจึงลงรักปิดทองเพื่อรักษาตะกรุดไว้อีกชั้นหนึ่ง และปลุกเสกจนสะกดทุกอย่างให้บริเวณใกล้เคียงเงียบสงัดถึงจะเป็นการปลุกเสกที่สมบูรณ์ที่สุด โดยขนาดที่พบส่วนมาก 6.5-7 นิ้ว ซึ่งในเรื่องของความกว้าง ความยาวนี้ อาจมีเล็กหรือยาวกว่ากันได้ ที่นำมาให้ชมเป็นของคุณสินธร ซื่อภักดี

จากกันด้วยข้อคิดสะกิดใจ “มีมาก มีน้อย ล้วนอยู่ที่ใจคิด สำคัญที่สุด คือ การมีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่”

สุดยอดเครื่องราง เบี้ยแก้ ตะกรุด สิงห์งาแกะ