posttoday

สิ้น "หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป" แห่งอุดรธานีสิริอายุ105ปี

14 ธันวาคม 2559

หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 105 ปี 2เดือน 4 วัน

หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี ละสังขารอย่างสงบ สิริอายุ 105 ปี 2เดือน 4 วัน

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. เวลา 20.00 น. พระอุดมญาณโมลี หรือ หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป เจ้าอาวาสวัดโพธิสมภรณ์ ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ได้ละสังขารด้วยอาการสงบ ที่ หออภิบาล ตึกภูมิพโล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ สิริอายุ 105 ปี 2 เดือน 4 วัน 85 พรรษา

โพสต์ทูเดย์ขอนำประวัติหลวงปู่จันทร์ศรี ที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เมื่อเดือน มิ.ย.2555มานำเสนอดังนี้

"หลวงปู่จันทร์ศรี จันททีโป" จันทร์เพ็ญแห่งเมืองอุดรฯ

เส้นทางสู่การพ้นจากกิเลสอาสวะของพระอริยบุคคลนั้น ล้วนแต่ต้องผ่านการเพียรปฏิบัติชนิดที่เรียกว่า "มอบกายถวายชีวิต" ทั้งสิ้น

ดังเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนบรรดาสาวก ว่า "อักขาตาโร ตถาคตา" พระตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก ส่วนที่จะพ้นกิเลสสำเร็จเป็นโสดาบัน สกิทาคามี อนาคามี หรืออรหันต์นั้นต้องปฏิบัติเอาเอง

เรื่องราวของ หลวงปู่จันทร์ศรีจันททีโป(พระอุดมญาณโมลี) ก็เช่นกัน...

หลังบวชเป็นพระได้พรรษาแรกหลวงปู่จันทร์ศรี ได้กราบลา หลวงปู่เทสก์ เทสรังสีผู้เป็นพระอาจารย์ว่าจะเข้าไปศึกษาพระปริยัติต่อที่กรุงเทพฯ หลวงปู่เทสก์ได้อนุญาตและกล่าวขึ้นว่า "ผู้ที่จะปฏิบัติธุดงควัตรนั้น ความจริงต้องเรียนรู้ที่จะเดินทางเสียก่อนจึงปฏิบัติได้ถูกต้องคือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เมื่อเรียนได้เป็นมหาเปรียญแล้วให้กลับมาปฏิบัติอีก"

10 ปีหลังจากวันนั้น หลวงปู่จันทร์ศรีก็สำเร็จมหาเปรียญและได้เข้ารับการฝึกปฏิบัติจากพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แม่ทัพธรรมแห่งฝ่ายวิปัสสนาธุระ จนสามารถครองตนอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์มาจวบจนปัจจุบัน

หลวงปู่จันทร์ศรี มีนามเดิมว่าจันทร์ศรี แสนมงคล เป็นบุตรของนายบุญสาร และนางหลุน แสนมงคล เกิดเมื่อวันอังคารที่ 10 ต.ค.2454 ณ บ้านโนนทัน ต.โนนทันอ.เมือง จ.ขอนแก่น

ก่อนมารดาจะตั้งครรภ์ ด.ช.จันทร์ศรีได้ฝันเห็นพระภิกษุ 9 รูป มายืนบิณฑบาตอยู่ที่ประตูหน้าบ้านในคืนวันมาฆบูชา ด้วยการสำรวมอินทรีย์มีกิริยากายอันงาม มารดาเห็นดังนั้นจึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง จึงรีบจัดภัตตาหารออกมาใส่บาตร ครั้นใส่แล้วก็นั่งพับเพียบประนมมือกล่าวขอพรต่อพระเถระว่า "ดิฉันปรารถนาอยากได้ลูกชายสัก 1 คนจะให้บวชเหมือนพระคุณเจ้า" พระเถระก็กล่าวอนุโมทนาและเดินจากไป คล้อยหลังจากนั้น 1 เดือนก็ตั้งครรภ์ตามประสงค์

กระทั่งอายุ 8 ปี บิดาก็ถึงแก่กรรมลง มารดาจึงนำ ด.ช.จันทร์ศรีไปฝากให้อยู่กับหลวงพ่อเป๊ะ ธัมมเมตติโกเจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรี แห่งบ้านโนนทัน ซึ่งท่านได้รับเป็นลูกศิษย์ให้อยู่ปรนนิบัติใกล้ชิดพร้อมทั้งให้ศึกษาเล่าเรียนจนจบชั้นประถม

หลวงพ่อเป๊ะเห็นด.ช.จันทร์ศรีสนใจในทางพุทธศาสนา จึงให้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อเดือนพ.ค.2468 เมื่อบวชแล้ว สามเณรจันทร์ศรีก็ได้หมั่นศึกษาบทสวดมนต์จนสามารถท่องพระสูตรต่างๆ ได้อย่างชำนาญ รวมทั้งยังศึกษาอักษรขอมและอักษรธรรมจนแตกฉาน และได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดสมศรี บ้านพระคือ ต.พระลับ อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ครั้นปี 2472 พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโลกับ หลวงปู่อ่อนญาณสิริ ได้พาคณะพระกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่น เดินธุดงค์มาเผยแผ่ธรรมะที่บ้านพระคือสามเณรจันทร์ศรี จึงกราบขอพระอาจารย์มหาปิ่น ญัตติเป็นสามเณรในฝ่ายธรรมยุต และได้อยู่ฝึกอบรมจิตภาวนาอยู่กับพระอาจารย์มหาปิ่นอยู่ 1 พรรษา ก็ได้ติดตามคณะของพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ออกธุดงค์ปฏิบัติภาวนา

หลวงปู่จันทร์ศรี เล่าถึงการออกธุดงค์ครั้งนั้นว่า ขณะช่วงพลบค่ำระหว่างพักที่พระพุทธบาทเวินกุ่มจ.อุดรธานี ก็ได้ยินเสียงเสือร้องดังก้องป่าใกล้กับบริเวณที่จะพัก พระลีสิรินธโรซึ่งเป็นหัวหน้าคณะพาออกธุดงค์ได้เตือนว่าอันตรายใกล้เข้ามาให้พากันตั้งใจเดินจงกรมภาวนามรณสติ แผ่เมตตาจิตให้สรรพสัตว์ ที่เกิด แก่ เจ็บตาย ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น พระเณรที่ร่วมธุดงค์ก็พากันตั้งจิตประกอบความเพียรจนเสียงเสือเงียบหายไป คือนั้นทำความเพียร เดินจงกรมนั่งสมาธิสลับกันไม่นอนตลอดคืน เพราะกลัวเสือทำให้จิตสงบเยือกเย็นพอสมควร

สามเณรจันทร์ศรี ออกธุดงค์วิเวกปฏิบัติภาวนาอยู่ได้ 4 ปี จนอายุครบ20 ปี จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่วัดศรีจันทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2474 โดยมี หลวงปู่จันทร์ เขมิโยเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นในขณะนั้นเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโมเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และมีพระอาจารย์กรรมฐานสำนักพระอาจารย์มั่นนั่งอันดับในการอุปสมบท 25 รูป ได้รับฉายาว่า "จันททีโป"อันมีความหมายเป็นมงคลว่า "ผู้มีแสงสว่างเจิดจ้าดั่งจันทร์เพ็ญ"

บวชได้ 7 วัน จึงได้เดินทางเข้ามาศึกษาภาษาบาลีที่กรุงเทพฯ และได้ฝากตัวอยู่กับ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์(ม.ร.ว.ชื่น นภวงศ์) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

หลังสอบได้เปรียญธรรม 4 สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ได้มีพระบัญชาให้หลวงปู่จันทร์ศรี ไปสอนพระปริยัติธรรม ที่วัดป่าสุทธาวาสต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร ทำให้ได้พบกับพระอาจารย์มั่นที่มาพักที่วัดป่าสุทธาวาสพอดี และมีโอกาสอุปัฏฐากใกล้ชิดรวมทั้งรับการสอนปฏิบัติภาวนาจากพระอาจารย์มั่น

หลวงปู่จันทร์ศรี เล่าว่า คืนวันหนึ่งขณะที่นวดถวายพระอาจารย์มั่นก็ได้เรียนถามท่านว่า จิตเป็นโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์นั้นเป็นอย่างไร

พระอาจารย์มั่นมิได้ตอบ แต่ไล่ให้ลงไปเดินจงกรมเป็นเวลา 1 ชั่วโมง เดินจนครบจิตก็ยังไม่สงบจึงขึ้นมาบนกุฏิกราบเรียนท่านว่า จิตฟุ้งซ่าน มองเห็นแต่หน้าสตรี พระอาจารย์มั่นจึงให้นั่งสมาธิตั้งแต่เวลา 21.00-05.00 น. และได้แนะนำให้เจริญสติปัฏฐาน 4 มี กาย เวทนา จิต ธรรม

"พระอาจารย์มั่นให้พิจารณากายคตาสติปัฏฐานก่อนจนจิตจะสงบ ลงสู่ภวังคจิตแล้วใช้ปัญญาพิจารณากายตั้งแต่หนังที่หุ้มห่อร่างกายอยู่นี้ให้จิตเห็นเป็นอสุภกรรมฐาน เป็นของสกปรกน่าเกลียด เมื่อตายแล้วไม่มีใครต้องการ สังขารทั้งปวงตกอยู่ในไตรลักษณ์ อนิจจตาทุกขตา อนัตตา ด้วยกันทั้งนั้น"

กระทั่งเวลาเที่ยงคืน จิตจึงสงบจากอารมณ์ภายนอกที่จะมาสัมผัสเกิดความสว่างขึ้นกับจิต กายเบา จิตเบา เมื่อออกจากสมาธิพระอาจารย์มั่นจึงกล่าวกับหลวงปู่จันทร์ศรีว่า "วันนี้ มหาภาวนาได้ดีพอสมควร จำวิธีพิจารณาจิตไว้นะอย่าปล่อย ให้ทำภาวนาอย่างนี้ทุกวัน"

หลวงปู่จันทร์ศรี กล่าวว่า ตลอดเวลา 15 วันที่ได้รับการศึกษาอบรมจิตภาวนากับพระอาจารย์มั่นนั้น ผลที่ได้รับคือจิตสงบเยือกเย็นจากอารมณ์ภายนอกที่จะมากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ได้รับแสงสว่างอันเกิดจากภาวนาเต็มที่การใกล้ชิดกับพระอาจารย์มั่นในปีนั้นทำให้สามารถทำศาสนกิจอยู่ในเพศพรหมจรรย์มาได้อย่างปลอดภัยจนถึงปัจจุบันนี้

ขณะที่พระอาจารย์มั่นก็ได้พูดกับหลวงปู่จันทร์ศรีว่า "มหาภาวนาเป็นแล้ว ควรเลิกเรียนปริยัติ ออกปฏิบัติกรรมฐานอีกจะได้พ้นทุกข์ประสบแต่ความสุขกายสุขใจ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารอีก"

หลวงปู่จันทร์ศรีนับเป็นศิษย์ที่พระอาจารย์มั่นให้ความไว้วางใจให้อยู่ปฏิบัติใกล้ชิด โดยทุกวันตลอดช่วงเวลาที่พักอยู่ด้วยกัน หลวงปู่จันทร์ศรีจะเป็นผู้รับบาตร ดูแลบาตรของพระอาจารย์มั่น รวมทั้งยังเป็นผู้ตัดจีวรถวายพระอาจารย์มั่นด้วย

แยกจากพระอาจารย์มั่นแล้วหลวงปู่จันทร์ศรีได้เดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหารเพื่อศึกษาจนสำเร็จเปรียญธรรม 5 และได้รับพระบัญชาจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ให้ไปเป็นครูสอนพระปริยัติธรรมที่วัดธรรมนิมิต ต.บางแก้วอ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เป็นเวลา 10 ปี ก่อนจะเดินทางมาอยู่ที่วัดโพธิสมภรณ์ ต.หมากแข้ง อ.เมืองจ.อุดรธานี เพื่อทำศาสนกิจการคณะสงฆ์ แทนพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล)ที่ชราภาพมากแล้ว ตามพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ

หลังจากที่พระธรรมเจดีย์มรณภาพ หลวงปู่จันทร์ศรีก็ได้รับหน้าที่ดูแลวัดโพธิสมภรณ์มาจวบจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับทำหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตในฐานะ ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 9 (ธรรมยุต)

ศิษยานุศิษย์ล้วนสรรเสริญหลวงปู่จันทร์ศรีว่า เป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เคร่งในธรรม ขยันขันแข็งหมั่นทำความเพียร เปี่ยมด้วยเมตตา แม้อายุจะล่วงกว่า 90 ปี แต่ท่านก็ยังจำเหตุการณ์ต่างๆ ในอดีตได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะเมื่อเวลาเล่าเรื่องต่างๆ ให้ลูกศิษย์ฟัง หลวงปู่จะบอกชื่อคน พ.ศ. ชื่อหมู่บ้าน และเวลา ได้อย่างละเอียด ยังความอัศจรรย์ให้แก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง

หลวงปู่จันทร์ศรียังคงปฏิบัติกิจของสงฆ์และปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด รวมทั้งรับภาระหน้าที่สำคัญๆในคณะสงฆ์มากมาย อาทิ เป็นกรรมการชำระพระไตรปิฎก (พระสูตร) เป็นพระอนุกรรมการคณะธรรมยุต เป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง เป็นพระธรรมทูตประจำจ.อุดรธานี เป็นประธานมูลนิธิวัดโพธิสมภรณ์ เป็นรองประธานกรรมการบริหาร ศูนย์บาลีศึกษาอีสานธรรมยุต เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพุทธศาสนาวันอาทิตย์ วัดโพธิสมภรณ์

นอกจากนี้ ยังเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้ศรัทธาว่า หลวงปู่จันทร์ศรีมิเคยขาดงานนิมนต์ ไม่ว่าจะไกลหรือใกล้ท่านจะเดินทางไปเองตลอด ตามที่ยึดเป็นหลักปฏิบัติเสมอว่า "กยิรา เจกยิราเถนัง"หรือ "ถ้าจะทำการใดให้ทำการนั้นจริงๆ ทุกสิ่งทุกอย่างถ้ามีความขยันหมั่นเพียร สิ่งนั้นต้องสำเร็จตามความตั้งใจจริง"

เมื่อมีเวลาว่างหลวงปู่จันทร์ศรีมักเดินทางไปเยี่ยมวัดวาอารามต่างๆ เพื่อให้กำลังใจพระเณรที่ปฏิบัติกรรมฐาน ไม่ว่าวัดนั้นจะอยู่ลึกในหุบเขาทุรกันดารเพียงใดก็ตามท่านมักเมตตาสอนให้ศิษย์ปฏิบัติภาวนาอยู่เสมอ เช่นในเรื่องจิตที่ท่านแสดงธรรมเอาไว้ว่า

"จิตนั้นเป็นธรรมชาติที่ใสสะอาดปราศจากสิ่งโสโครกทั้งหลาย ประดุจน้ำที่ใสสะอาด ถ้ามีสีลงไปปนเป็นสีเขียว สีแดง สีอะไรก็ตาม น้ำนั้นก็แปรปรวนไปตามสี ถ้ามีความโลภ ความโกรธ ความหลง เข้ามาฝั่งอยู่ในใจ ใจมันก็ยึด คือ ความอยากได้ไม่มีที่สิ้นสุด เปรียบประดุจน้ำมหาสมุทรทะเลกว้างใหญ่ไพศาลฝนตกลงมาในที่ดอนก็ไหลไปสู่มหาสมุทรทะเลฉันใด กิเลสอาสวะทั้งหลายก็ไหลเข้ามาสู่จิตใจของเราฉันนั้น"

"ดังนั้น การมาปฏิบัติธรรมกันนี้ก็เพื่อต้องการชำระสิ่งเหล่านี้ให้มันหมดไปจากจิตใจของเรา แม้ไม่หมดในวันนี้ก็ในวันต่อๆ ไป สิ่งทั้งหลายเหล่านั้นมันก็หายไปวันละเล็ก วันละน้อย นานๆ เข้าก็รวมกันเป็นก้อนใหญ่ พอก้อนใหญ่ขึ้นมาจิตใจนั้นนิ่งไม่ได้ยึด ไม่ได้ถือในสิ่งทั้งปวง"

"สมมติว่าเรามีเงินทองข้าวของต่างๆ เป็นจำนวนมากมาย เวลาตายไป สิ่งของเหล่านั้นก็เอาไปไม่ได้ ถ้าจิตเรานึกได้อย่างนี้ เป็นผู้ที่ไม่ประมาท มีจิตสามารถที่จะชำระ ไม่ให้มันยึด ไม่ให้มันถือว่านั่นเป็นของของเรา สิ่งที่เราหามาได้จะต้องเป็นของของเรา"

"ถ้าเราพิจารณาให้ละเอียดลออลงไปแล้ว วัตถุเหล่านั้นเป็นแต่เพียงของภายนอกมาอาศัยชั่วชีวิตหนึ่งเท่านั้น การที่เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐ เกิดมามีอวัยวะร่างกายครบสมบูรณ์ นี่ก็เนื่องมาจากบุพเพกตปุญญตา คือบุญที่เราได้กระทำไว้ตั้งแต่ปางก่อน ได้การสนับสนุนส่งเสริมเพิ่มเติม ให้เรามีศรัทธาความเชื่อมั่นว่าการปฏิบัติธรรมนี้ย่อมได้ผลจริงจังไม่มีอะไรที่จะเปรียบได้"

"ดังพุทธภาษิตที่ว่า สัทธา สาธุปติฏฐิตาศรัทธาตั้งมั่นแล้ว ย่อมยังประโยชน์ให้สำเร็จ ประโยชน์ในชาตินี้และประโยชน์ในชาติหน้า ได้แก่ประโยชน์ปัจจุบันที่ปฏิบัติอยู่นี้"