posttoday

เข้าให้ถึงรู้ให้จริงว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนอะไรในฐานะชาวพุทธ (ตอน ๒)

26 สิงหาคม 2553

ปุจฉา : กราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์อารยะวังโส

ปุจฉา : กราบนมัสการ ท่านพระอาจารย์อารยะวังโส

โดย.....พระอาจารย์อารยะวังโส

ผมมีความต้องการที่รบกวนท่านพระอาจารย์ ขอหนังสือรวมเล่มธรรมส่องโลก เล่ม ๑ และ ๒ ถ้ามีหนังสือวิธีการปฏิบัติวิปัสสนาขอความเมตตาท่านพระอาจารย์ช่วยสงเคราะห์ให้ผมได้มีโอกาสศึกษาด้วยครับ
 กราบนมัสการด้วยความเคารพ

 นายกรกฏ ยงใจยุธ

 ๑๐๐/๒๙๐ ม.มณียา ๑๒ ซอยท่าอิฐ
ถนนรัตนาธิเบศร์ อ.เมือง จ.นนทบุรี ๑๑๐๐๐

วิสัชนา : ได้มีจดหมายฉบับหนึ่ง จาก โยมคงศักดิ์ มีใจความเพื่อมาสอบถามเกี่ยวกับการหาอ่านเนื้อหาในธรรมส่องโลก โดยมีใจความโดยย่อเข้ามาว่า “...รบกวนสอบถามครับ ถ้าผมอยากอ่านบทความย้อนหลัง ไม่ทราบว่าจะหาอ่านได้จากไหนครับ ขอบคุณครับ” ...ก็ขอแนะนำว่า ให้ค้นหาดูใน website ของ Post Today หมวดธรรมะ หรือที่หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งคงจะมีครบทุกตอน สำหรับในหนังสือธรรมส่องโลกรวม เล่ม ๑–๒ หรือ ๓ ที่กำลังจะคลอดออกมานั้น เป็นการเลือกเฉพาะบางเรื่องมารวมเล่ม มิได้รวบรวมมาจากเนื้อหาที่ลงตีพิมพ์ทั้งหมด เพราะในห้วงเวลาประมาณ ๓ ปี อาตมาเขียนวิสัชนาธรรมมาจำนวนมากเรื่อง จนจำไม่ได้ทั้งหมด แต่ผู้ดำเนินการพิมพ์เขามีจัดเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ การเขียนธรรมะในคอลัมน์ “ธรรมส่องโลก” ใน นสพ.โพสต์ทูเดย์ เป็นรายวัน วันจันทร์–ศุกร์ เว้นวันเสาร์–อาทิตย์ มาร่วม ๓ ปีของอาตมานั้น

เป็นที่ประหลาดใจของพระผู้ใหญ่ หรือนักเขียนหลายท่านว่า อาตมาทำได้อย่างไร.?. เอาเวลาที่ไหนมาทำ!! เพราะกิจในพระศาสนา ทั้งความเป็นเจ้าอาวาส ความเป็นครูบาอาจารย์พระกรรมฐาน ก็มีกิจนิมนต์อยู่มากแล้ว... ซึ่งเคยตอบไปว่า อาตมาพยายามนำเวลาส่วนที่ควรจะผ่อนคลายกาย–จิต มาค้นคว้าศึกษาและเขียนวิสัชนาธรรม นอกจากกิจปกติในการปฏิบัติธรรม และโดยทั่วไปตั้งแต่ ทำวัตร ทำกิจส่วนตัว เจริญภาวนา หรือปฏิบัติกรรมฐาน ซึ่งต้องกระทำอยู่อย่างเป็นปกติ ควบคู่กับการอบรมสั่งสอนพระ–เณร อุบาสก–อุบาสิกา โดยเฉพาะยังมีคณะศรัทธาเดินทางกันมาขอโอกาสรับกรรมฐานอยู่ตลอดเวลาในแต่ละเดือน
โดยเฉพาะในพรรษาปีนี้ อาตมาอธิษฐานจำพรรษาอยู่ ณ วัดป่าพุทธพจน์ฯ จ.ลำพูน ญาติโยมจึงเดินทางมาเยี่ยมเยียนเพื่อฟังธรรม ประพฤติธรรมกันเป็นระยะๆ ไม่นับขาประจำที่มาพักอยู่ที่วัดทั้งพรรษา ประกอบกับมีกิจนิมนต์ประจำเดือนเป็นปกติ เช่น ธรรมคลินิกของมูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และกระทรวงสาธารณสุข การเป็นประธานนำสวดพระปริตต์ อธิษฐานจิตเพื่อแผ่นดินไทย ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระบรมมหาราชวัง ฯลฯ เพราะฉะนั้นการจัดแบ่งเวลาซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพื่อการทำงานให้ครบสมบูรณ์ตามที่รับไว้

พูดโดยทั่วๆ ไปว่า “งานหลวงไม่ให้ขาด งานราษฎร์ไม่ให้เสีย” ที่สำคัญคือ ต้องไม่ทำลายต้นทุนของตนเอง คือ คุณความดีที่ก่อเกิดไว้ในดวงจิต ด้วยอำนาจศีล สมาธิ ปัญญา ก็ต้องหมั่นดูแล รดน้ำ ใส่ปุ๋ย และรักษาไว้ให้มั่นคง ไม่สูญหายไปไหน ดังนั้นข้อวัตรของพระสงฆ์ต้องไม่บกพร่อง ทำวัตรเช้า–เย็นต้องเป็นปกติ การสั่งสอนธรรมนำปฏิบัติธรรมต่อคณะสงฆ์และศรัทธาสาธุชนต้องไม่ขาดตอน กิจของสงฆ์ก็ต้องดำรงอยู่ให้ตรงฐานะ เช่น การบิณฑบาตยามเช้าเป็นปกติ (เมื่ออยู่วัด) แม้จะมีการถวายสังฆทานเกือบทุกวัน ก็ไม่ตัดการบิณฑบาต ซึ่งถือว่าเป็นกิจที่ต้องทำ

พระสงฆ์วัดป่าพุทธพจน์ฯ ลำพูน ที่อาตมาปกครองอยู่จำนวน ๒๒ รูป อุบาสก–อุบาสิกา ประจำวัดอีกหลายสิบชีวิต ก็ดำเนินกิจตามข้อวัตรของวัดป่าเหมือนกันหมด... หากสรุปให้ชัด ก็พอจะกล่าวได้ว่า งานการเขียนธรรมะ การรับบรรยายธรรม ทั้งภาคหน่วยงานต่างๆ เช่น รายการบรรยายธรรมเป็นประจำในรายการ ปุจฉา–วิสัชนาธรรม ทุกเช้าวันพุธ กับพระอาจารย์อารยะวังโส ของสถานีวิทยุรัฐสภา คลื่น FM ๙๖.๕ เมกะเฮิรตซ์ ตั้งแต่เวลา ๐๕.๐๐–๐๖.๐๐ น.

อ่านต่อฉบับพรุ่งนี้