posttoday

หลวงปู่จันทร์โสม กิตติกาโร ทายาทธรรมหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

29 พฤศจิกายน 2552

โดย...ณศักต์ อัจจิมาธร

โดย...ณศักต์ อัจจิมาธร

บ้านนาสีดา ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี เป็นถิ่นกำเนิดของมหาสมณะ 2 รูป แม่ทัพธรรมผู้เก่งกาจแห่งกองทัพพระกรรมฐานของสำนักพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต

รูปหนึ่งคือ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี แห่งวัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

อีกรูปคือ หลวงปู่จันทร์โสม กิตติกาโร แห่งวัดป่านาสีดา ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ผู้เป็นหลานแท้ๆ ของหลวงปู่เทสก์ เนื่องด้วยหลวงปู่เทสก์มีศักดิ์เป็นพี่ชายของมารดาหลวงปู่จันทร์โสม

ความเป็นทายาทระหว่างหลวงปู่จันทร์โสมกับหลวงปู่เทสก์มิได้เกี่ยวพันแค่เพียงสายเลือด หากแต่หลวงปู่เทสก์ยังเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของหลวงปู่จันทร์โสม รวมทั้งนำพาหลวงปู่จันทร์โสมไปกราบถวายตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่บ้านหนองผือ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร รวมทั้งคอยให้การอบรมบ่มสอนมาตลอด คอยแนะนำทางที่ถูกให้ประพฤติปฏิบัติไม่เคยทอดทิ้ง จนกระทั่งหลวงปู่เทสก์ละสังขารจากไป

หลวงปู่จันทร์โสม กิตติกาโร ทายาทธรรมหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่จันทร์โสม กิตติกาโร

เรียกว่านอกจากเป็นทายาททางสายเลือดแล้ว ยังเกี่ยวข้องเป็นทายาทธรรมระหว่างกันอย่างแท้จริง

หลวงปู่จันทร์โสม มีนามเดิมว่า จันทร์โสม ปราบพาล เกิดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2465 ที่บ้านนาสีดา ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ชีวิตในวัยเยาว์ของ ด.ช.จันทร์โสม ผูกพันกับวัดและเกิดความศรัทธาในพระพุทธศาสนามาตั้งแต่เล็ก เนื่องจากบิดาเป็นมรรคนายกวัดบ้านนาสีดา จึงมักได้ติดตามบิดาไปช่วยกิจการงานวัดต่างๆ เป็นประจำ

ครั้นอายุ 20 ปีบริบูรณ์ จึงได้หันหลังให้ทางโลก ออกบวชเป็นพระภิกษุ ที่วัดอรัญญวาสี อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2485 โดยมีพระธรรมไตรโลกาจารย์ (รักษ์ เรวโต) เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระครูวิชัย สังฆกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

บวชแล้วหลวงปู่จันทร์โสมก็ออกวิเวกธุดงค์ตั้งแต่พรรษาที่สองในแถบ จ.เลย และเพชรบูรณ์ เพื่อติดตามไปพบพระอาจารย์เกตุ ขันติโก ซึ่งเป็นพี่ชายของหลวงปู่เทสก์ ที่เคยสอนการเขียนหนังสือขอมให้ในวัยเยาว์

ท่านบันทึกการเดินทางเอาไว้ว่า การเดินทางสมัยนั้นลำบากมาก ต้องเดินฝ่าดงพงป่าหนาทึบเป็นเวลาหลายวัน ทำให้ระลึกถึงคำพูดของผู้ใหญ่ที่เล่าให้ฟังเรื่องพ่อค้าควายต้อนควายเดินทางไกลเพื่อเอาไปขาย ควายบางตัวเดินต่อไม่ไหวก็ต้องปล่อยทิ้งไว้กลางป่า เมื่อได้เดินป่าด้วยตัวเองจึงเกิดความสลด สังเวช สงสารสัตว์เหล่านี้เป็นยิ่งนัก

ต่อมาในปี 2489 หลวงปู่จันทร์โสมจึงเดินทางไปกราบหลวงปู่เทสก์ที่มาจำพรรษาอยู่ที่วัดอรัญญวาสี อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย และได้ทราบว่าหลวงปู่เทสก์กำลังจะเดินทางไปเยี่ยมนมัสการพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ที่บ้านหนองผือ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร จึงขอติดตามไปด้วย

เมื่อเดินทางไปถึงบ้านหนองผือ หลวงปู่เทสก์จึงได้พาเข้ากราบนมัสการพระอาจารย์มั่น และฝากให้หลวงปู่จันทร์โสมอยู่ฝึกปฏิบัติกับพระอาจารย์มั่น

หลวงปู่จันทร์โสมเล่าถึงการอยู่ฝึกปฏิบัติกับพระอาจารย์มั่นเอาไว้ว่า เมื่ออยู่ต่อมานานเข้า ท่านอาจารย์วัน (หลวงปู่วัน อุตตโม) ได้ให้เราช่วยรับภาระธุระในการทำกิจวัตรอาจาริยวัตรประจำวันกับท่านหลวงปู่มั่นจนกว่าท่านหลวงปู่จะเข้าที่พัก

ในขณะที่เราได้มีโอกาสเข้าไปปฏิบัติอาจาริยวัตรอยู่กับท่านหลวงปู่มั่นนั้น เราได้พยายามระวังจิตมิให้คิดส่งส่ายไปในสิ่งอื่น มีแต่ให้นอบน้อมเข้าไปหาพระคุณของท่านเสมอๆ ปฏิบัติไปๆ บางวันท่านก็ปรารภขึ้นว่า “วันนี้ท่านโสมทำไม่ถูก” เราได้ยินเช่นนั้นก็หยุดทำแล้วนั่งเฉยอยู่ ให้หมู่เพื่อนปฏิบัติแทนในวันนั้น วันต่อมาเราก็เข้าไปปฏิบัติท่านใหม่ตามปกติ ท่านก็จะปรารภใหม่ว่า “วันนี้ทำถูกแล้ว วันนี้ท่านโสมทำถูกแล้ว” ท่านพูดกลับไปกลับมาอย่างนี้อยู่หลายคราวหลายครั้งด้วยกัน

“ไม่ได้ท้อถอยในกิจวัตรอาจาริยวัตรดังกล่าว เพราะถือเป็นบุญกุศลอย่างใหญ่หลวง ก็พิจารณาเห็นว่าท่านอาจจะทดสอบความอดทนของเราดูก็ได้ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งหลวงปู่เทสก์ก็ได้เคยพูดให้เราฟังว่า ในสมัยที่ท่านได้มีโอกาสปฏิบัติอยู่กับท่านอาจารย์หลวงปู่มั่นนั้น ท่านอาจารย์หลวงปู่มั่นชอบที่จะทดสอบบ่อยๆ ถ้าใครสามารถอดทนปฏิบัติกับท่านได้จะเป็นการดีมาก เราได้ระลึกเอาคำสอนของหลวงปู่เทสก์นั้นเป็นคติเตือนใจอยู่เสมอๆ ตลอดเวลาที่อยู่กับหลวงปู่มั่น”

อยู่ฝึกปฏิบัติกับพระอาจารย์มั่นได้ 2 พรรษา หลวงปู่จันทร์โสมก็ได้กราบลาพระอาจารย์กลับไปจำพรรษาร่วมกับหลวงปู่เทสก์ที่เขาน้อย ท่าแฉลบ จ.จันทบุรี รวมทั้งยังออกวิเวกร่วมกับพ่อแม่ครูอาจารย์สำนักพระอาจารย์มั่นอีกหลายองค์ อาทิ หลวงปู่หล้า เขมปัตโต แห่งวัดบรรพตคีรี (วัดภูจ้อก้อ) อ.คำชะอี จ.มุกดาหาร และหลวงปู่อรุณ อุตฺตโม แห่งวัดพระบาทนาสิงห์ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย

หลวงปู่จันทร์โสมนับว่าเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการออกเผยแผ่พระธรรมและกรรมฐานในพื้นที่ภาคใต้ โดยหลวงปู่จันทร์โสมได้ติดตามหลวงปู่เทสก์ลงไปเผยแผ่ธรรมอยู่ที่ จ.ภูเก็ต เป็นเวลานานถึง 8 ปี จนทำให้การปฏิบัติภาวนากรรมฐานเป็นที่แพร่หลายแก่สาธุชนในวงกว้าง

กระทั่งปี 2504 หลวงปู่จันทร์โสมจึงกลับมาพำนักในพื้น จ.อุดรธานี โดยได้ออกวิเวกธุดงค์ในแถบเทือกเขาภูพาน และได้ตัดสินใจมาปักหลักจำพรรษาที่ป่าช้าบ้านดงเลา บ้านนาสีดา ต.กลางใหญ่ อ.บ้านผือ เนื่องจากเห็นว่ามีป่าไม้กว้างขวาง ร่มรื่น สงบ เหมาะแก่การภาวนา และได้พัฒนาก่อสร้างกุฏิ เสนาสนะ ศาลาการเปรียญ จนกลายมาเป็นวัดป่าบ้านนาสีดา และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2531

หลวงปู่จันทร์โสมเป็นมหาสมณะผู้มีวัตรปฏิบัติและปฏิปทาอันงดงามตามวิถีพระป่า และเป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนจำนวนมากที่หลั่งไหลมากราบนมัสการอย่างไม่ขาดสาย
ท่านดำรงขันธ์เป็นร่มโพธิ์แก่ศิษย์กระทั่งวันที่ 7 มี.ค. 2549 ก็ดับขันธ์ไปด้วยโรคหัวใจล้มเหลว สิริรวมอายุ 84 ปี พรรษาที่ 63

เมื่อมีญาติโยมมากราบนมัสการที่วัด หลวงปู่จันทร์โสมก็มักจะเทศนาสอนธรรมกรรมฐานให้อยู่เสมอ โดยส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องหลักปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ภัยในชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งท่านมักจะย้ำถึงอานิสงส์แห่งการภาวนาอยู่เสมอ

“การภาวนานอกจากให้ผลทางจิตใจแล้ว ความเอ็นดู เมตตาสงสารคนอื่นก็เกิดขึ้น ที่เราโกรธเกลียดพยาบาทก็หายไป เห็นโทษก็สงสารเขา มีธรรมะในใจ ความอิจฉาพยาบาทเบียดเบียนก็ไม่เกิดขึ้น อยู่หมู่คณะใดก็ไม่เกิดขึ้น”

“ขออย่าประมาท อย่าละทิ้งการภาวนา ทำเป็นไม่เป็นก็ช่างเถอะ ขอให้ได้ทำอย่างเดียว นานๆ เข้าก็ติดจิตไปด้วย สะสมวันละนิด งานก็ใหญ่ขึ้น ทำให้จิตใจเราสบายเป็นอานิสงส์ จิตใจสบายมันก็คลุกคลีทุกสิ่งทุกอย่าง มันเดือดร้อน เราภาวนาก็ทำให้จิตใจเย็น”

“คนทุกคนสามารถสร้างคุณงามความดีได้ทุกคน แต่ที่เขาไม่อยากทำ เพราะเชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง อย่าว่าแต่ฆราวาสเลย พระที่บวชในพุทธศาสนา ถ้าเชื่อจริงๆ จังๆ แล้วทำอะไรก็ได้ผล เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง เรียกว่าสงสัย ลังเล ก็เลยเดินไม่ถูก ไม่ว่าสมัยใด ทำเมื่อไหร่ได้เมื่อนั้น”

นี่คือหลวงปู่จันทร์โสม กิติกาโร ทายาทธรรมหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี