posttoday

โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระราชาคณะ 2 รูป

29 พฤศจิกายน 2552

โดย...สมาน สุดโต

โดย...สมาน สุดโต

เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค. 2552 นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนา พระสาสนโสภณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และพระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ ซึ่งจะเข้ารับพระราชทานสุพรรณบัฏ และพัดยศ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง วันที่ 5 ธ.ค. 2552

โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระราชาคณะ 2 รูป สมเด็จพระมหามุนีวงศ์

พระสาสนโสภณ (อัมพร อมฺพโร) ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต) และกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร เป็นที่ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ พิพัฒนพงศ์วิสุต พุทธปาพจนานุศาสน์วาสนวรางกูร วิบูลศีลสมาจารวัตรสุนทร ตรีปิฎกธรรมวราลงกรณวิภูษิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี”

ท่านมีนามเดิมว่า อัมพร นามสกุล ประสัตถพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2470 ณ หมู่บ้าน ต.บางป่า อ.เมือง จ.ราชบุรี โยมบิดามารดาชื่อ นายนับ และนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย ปัจจุบันสิริอายุได้ 82 ปี พรรษา 61
ในช่วงวัยเยาว์เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ต.โคกกระเทียม อ.เมือง จ.ลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4

บรรพชาและอุปสมบท

บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปีพ.ศ. 2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตร ต.หน้าเมือง อ.เมือง จ.ราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นันโท) เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. 2490 ย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสนมหาเถร)

อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2491 ณ มหาพัทธสีมาวัดราชบพิธฯ โดยมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (วาสนมหาเถร) เป็นพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

การศึกษา

เมื่อเป็นสามเณร สอบได้เป็นเปรียญ 4 ประโยค หลังจากอุปสมบท สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 และ 6 ประโยค

ต่อมาท่านได้สมัครเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปีพ.ศ. 2500 ต่อมาปีพ.ศ. 2509 ได้เข้าอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เป็นพระธรรมทูตรุ่นแรก ก่อนเดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปีพ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี

งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ในช่วงปีพ.ศ. 2516 เป็นหัวหน้าพระธรรมทูตนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย โดยมีพระขันติปาโล ชาวอังกฤษ เป็นสหธรรมิก พร้อมไวยาวัจกร ตามการนิมนต์ของประธานพุทธสมาคมแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ ได้วางรากฐานพระพุทธศาสนา ตลอดถึงเป็นเนติให้สหธรรมิกที่มาภายหลังได้เผยแผ่พระธรรมอย่างเป็นรูปแบบ ทำให้พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมีความมั่นคง มีวัดและพระสงฆ์อยู่ประจำรัฐแห่งนี้ ก่อนขยายไปยังเมืองใหญ่อีกหลายเมือง อาทิ กรุงแคนเบอร์รา นครเมลเบิร์น และเมืองดาร์วิน เป็นต้น
นอกจากนั้นเป็นรองประธานกรรมการที่ปรึกษาสำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)

เป็นรองประธานกองทุนวัดช่วยวัดของมหาเถรสมาคม (มส.) ให้ความช่วยเหลือเมื่อมีอุบัติภัย วาตภัย อุทกภัย หรือภัยแล้ง นำเงินบริจาคเพื่อสงเคราะห์ผู้ประสบภัยนั้นๆ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น 
 
สมณศักดิ์

เริ่มเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระปริยัติกวี พ.ศ. 2514 และได้รับการเลื่อนสูงขึ้นโดยลำดับจนถึงพ.ศ. 2543 เป็นพระราชาคณะชั้นเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏที่พระสาสนโสภณ
5 ธ.ค. 2552 ได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่สมเด็จพระมหามุนีวงศ์

โปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระราชาคณะ 2 รูป สมเด็จพระวันรัต

พระพรหมมุนี (จุนท์ พรหมคุตฺโต) รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต กรรมการมหาเถรสมาคม แม่กองธรรมสนามหลวง เจ้าคณะกรุงเทพมหานครสมุทรปราการ (ธ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นที่ สมเด็จพระวันรัต ศรีวชิรญาณวงศวิวัฒ ปริยัติพัฒนพงศ์ วิสุทธสงฆปริณายกตรีปิฎกโกศล วิมลคัมภึรญานสุนทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี

การสถาปนาพระพรหมมุนีเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระวันรัตครั้งนี้ สร้างประวัติศาสตร์ต่างๆ ให้คณะสงฆ์มากมาย กล่าวคือ เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ลงมา เป็นครั้งแรกที่วัดเดียวกันมีสมเด็จพระราชาคณะพร้อมกัน 2 รูป (สมเด็จอีกรูปหนึ่งคือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช) และเป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปแรกที่มิได้เป็นเจ้าอาวาส

ส่วนสถานะเดิมท่านมีนามว่า จุนท์ นามสกุล พราหมณ์พิทักษ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ก.ย. 2479 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด ณ บ้านเกาะเกตุ ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด
บิดาชื่อ นายจันทร์ และมารดาชื่อ นางเหล็ย พราหมณ์พิทักษ์ การศึกษาเบื้องต้นสำเร็จการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดคิรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด จากนั้นได้เข้าพิธีบรรพชาเมื่อวันจันทร์ที่ 12 พ.ค. 2491 ณ วัดคิรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมือง จ.ตราด โดยมีพระวินัยบัณฑิต เป็นพระอุปัชฌาย์ กระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ก.ค. 2499 ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก (ม.ร.ว.ชื่น สุจิตโต) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยบัณฑิต (ถาวร ฐานุตตโร) วัดคิรีวิหาร จ.ตราด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิสุทธิธรรมภาณ (แจ่ม ธัมมสาโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์

 

วิทยฐานะ

พ.ศ. 2495 สอบได้นักธรรมชั้นเอก และพ.ศ. 2516 สอบได้เปรียญ 9 ประโยค ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดในแผนกบาลี

ตำแหน่งหน้าที่

ตำแหน่งในวัดบวรนิเวศฯ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส เป็นกรรมการ เป็นครูสอนพระปริยัติธรรม เป็นผู้อำนวยการศึกษาสำนักเรียนวัดบวรนิเวศฯ เป็นเจ้าคณะขาบบวรเขียวบวร
ตำแหน่งในมส. เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เป็นอนุกรรมการฝ่ายการปกครองมส. เป็นกรรมการฝ่ายศาสนศึกษามส. เป็นรองประธานกรรมการฝ่ายศาสนศึกษามส.
ตำแหน่งในคณะธรรมยุต รักษาการเจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต เป็นกรรมการเถรสมาคมธรรมยุต เป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานครสมุทรปราการ (ธรรมยุต) เป็นพระอุปัชฌาย์ เป็นหัวหน้าคณะตรวจการณ์คณะสงฆ์ภาค 3781213 (ธรรมยุต) ใน จ.สิงห์บุรี อุทัยธานี ลพบุรี เชียงใหม่ จันทบุรี ปราจีนบุรี และรักษาการแทนเจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี (ธรรมยุต) ระหว่างพ.ศ. 2541-2545เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม

ตำแหน่งในกองธรรมและบาลีสนามหลวง เป็นแม่กองธรรมสนามหลวง เป็นกรรมการสนามหลวง แผนกบาลี

ตำแหน่งในมหาวิทยาลัยมหามกุฏฯ เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานคณะกรรมการตำราและวิชาการ เป็นหัวหน้ากองตำรา เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย

ตำแหน่งงานพิเศษ เป็นกรรมการชำระพระไตรปิฎก ฉบับเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 60 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นกรรมการชำระอรรถกถา ฉบับเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 60 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เป็นผู้แสดงพระธรรมเทศนาในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล งานพระราชพิธีในบางโอกาส

เป็นผู้ถวายการสอนพระธรรมวินัยแด่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในคราวทรงผนวช สนองงานถวายเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ที่มีพระบัญชาในบางโอกาส

ในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วันที่ 15 พ.ย. 2551 พระพรหมมุนีได้ปฏิบัติหน้าที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ นั่งพระเสลี่ยงกลีบบัว (พระยานมาศพระนำ) และราชรถน้อย (รถพระนำ) อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระศพจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่พระเมรุ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

สมณศักดิ์

เริ่มเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระอมรโมลี พ.ศ. 2517 และได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นเป็นลำดับ จนถึงพ.ศ. 2543 ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏที่พระพรหมมุนี และ 5 ธ.ค. 2552 ได้รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏที่สมเด็จพระวันรัต

ทั้งท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ และเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต เป็นพระมหาเถระที่เอาใจใส่ในกิจการงานของคณะสงฆ์และพุทธศาสนาด้วยดีตลอดมา ดังจะเห็นได้จากตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ ที่รับภารธุระ ล้วนแต่ต้องอาศัยความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ พร้อมด้วยความตั้งใจสูงเยี่ยมทั้งสิ้น

นอกจากนั้นได้ทำหน้าที่ในฐานะนักปกครองเอาใจใส่ดูแลความเป็นไปของวัดและคนในวัด รวมทั้งยังได้สร้างคุณูปการแด่คณะสงฆ์โดยรวมอย่างมากมาย จึงเป็นที่ปลาบปลื้มแก่คณะสงฆ์ทั้งธรรมยุตและมหานิกายที่พระเถระที่เป็นสังฆโสภณ ทั้งสองได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาให้เป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏในครั้งนี้