posttoday

สมเด็จพระญาณวโรดม พระมหาเถระนักปราชญ์

22 พฤศจิกายน 2552

โดย...สมาน สุดโต

โดย...สมาน สุดโต

คณะสงฆ์สูญเสียสมเด็จพระราชาคณะอีก 1 องค์ เมื่อสมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุรมหาเถร) อายุ 93 ปี 8 เดือน เจ้าอาวาสวัดเทพศิรินทราวาส กรรมการมหาเถรสมาคม คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มรณภาพเมื่อเช้ามืดวันที่ 18 พ.ย. 2552 ด้วยอาการสงบ ณ กุฏิที่พักวัดเทพศิรินทราวาส

ในวันเดียวกันนี้ ได้ขอรับพระราชทานน้ำหลวงสรงศพเวลา 17.40 น. ณ ศาลากวีนฤมิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานไตรครอง โกศไม้สิบสอง ฉัตรเครื่องสูงทองแผ่ลวดตั้งประดับ แตรงอน แตรฝรั่ง ปี่ กลองชนะประโคมเวลาพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ และทรงรับศพอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์โดยตลอด มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมเวลากลางคืน 7 คืน

การนี้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ ทรงทอดผ้าไตรพระสงฆ์ 10 รูป บังสุกุลปากโกศ แล้วทรงวางพวงมาลาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ที่หน้าโกศศพ

สมเด็จพระญาณวโรดม พระมหาเถระนักปราชญ์ สมเด็จพระญาณวโรดม

สมเด็จคณะธรรมยุตเหลือ 2

การที่สมเด็จพระญาณวโรดมมรณภาพ ทำให้สมเด็จพระราชาคณะในคณะสงฆ์ธรรมยุตเหลือเพียง 2 คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (พระชนมายุ 96 ปี) วัดบวรนิเวศวิหาร และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต อายุ 91 ปี) วัดสัมพันธวงศ์

เมื่อปี พ.ศ. 2551 สมเด็จพระราชาคณะในคณะธรรมยุตมรณภาพ 2 รูปคือ สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ) อดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม มรณภาพวันที่ 19 ก.ค. 2551 มีพิธีพระราชทานเพลิงศพ 7 มี.ค. 2552

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (ประจวบ) อดีตเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยาราม มรณภาพวันที่ 3 ม.ค. 2551 และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ 15 ก.พ. 2552

ยังไม่มีการสถาปนาพระมหาเถระรูปใดขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะแทนผู้ที่มรณภาพไป 2 รูปนั้น ถึงขณะนี้นอกจากมีข่าวที่ยังไม่มีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า วันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค. 2552 จะมีการสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะของคณะธรรมยุตไม่ 1 ก็ 2 รูป

ชาวประจันตาคาม

สมเด็จพระญาณวโรดม มีนามเดิมว่า ประยูร ฉายา สนฺตงฺกุโร นามสกุล พยุงธรรม เกิดเมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2459 ณ บ้านท่าเรือ ต.ประจันตาคาม อ.ประจันตาคาม จ.ปราจีนบุรี
เริ่มเรียนหนังสือเมื่ออายุ 6 ขวบ จบประถมปีที่ 5 แล้วมาอยู่วัดเทพศิรินทราวาส พ.ศ. 2474 บรรพชาอุปสมบทที่วัดเทพ…ศิรินทราวาส คือบรรพชาเมื่อวันที่ 6 ก.ค. 2476 และอุปสมบทเมื่อ 5 พ.ค. 2480 โดยมีสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) เป็นอุปัชฌาย์ และมี ม.จ.หญิงกรณิกา จิตรพงศ์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นอุปัฏฐากเจ้าภาพบวช

เรียนเก่งผลงานมากล้น

ท่านเป็นผู้คงแก่เรียน สอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบบาลีได้ประโยค 9 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุด

ส่วนผลงานนั้นมีหลากหลายมาก ท่านกรุณาเขียนไว้เมื่อครั้งทำบุญอายุวัฒนมงคล 92 ปี วันที่ 9 มี.ค. 2551 เกี่ยวกับผลงานที่ท่านทำ ว่าผลงานที่นำมาเขียนนี้นำมาเท่าที่นึกได้ บางอย่างบันทึกไว้ บางอย่างส่วนมากมิได้บันทึกไว้ (หรือ) มิได้บันทึกไว้ทั้งหมด เพราะมิได้คิดว่าจะแสดงผลงานให้ใครรู้ เกรงว่าคนอื่นจะคิดว่าตัวเองอวดตัวเอง และเกรงว่าคนอื่นจะไม่เชื่อ (เคยมีมาแล้ว) คิดว่าทำงานเพื่อพระศาสนาก็พอแล้ว แต่ที่เขียนนี้เพราะศิษย์ขอร้องให้เขียน เพื่อจะได้ให้ศิษย์ทั้งหลายได้รู้ว่าอาจารย์ของตนมีผลงานอย่างนี้ จะได้เป็นกำลังใจในการทำงาน ถ้าไม่เขียนไว้ศิษย์รุ่นหลังของ มมร ก็จะไม่รู้

อย่างไรก็ตาม ผลงานท่านแบ่งเป็นหมวดหมู่ ได้แก่

ด้านการปกครอง มี 49 โครงการ ด้านการศึกษา มี 69 โครงการ ด้านการเผยแพร่ มี 15 โครงการ ด้านสาธารณูปการ มี 6 โครงการ (ด้านสาธารณูปการนี้ท่านหมายเหตุว่า ทำโครงการและได้ปฏิบัติเพื่อคณะธรรมยุตโดยเฉพาะ 46 โครงการ แต่เพื่อสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพุทธศาสนานั้นจำไม่ได้ เพราะไม่ได้บันทึกไว้ตั้งแต่ต้น ทราบแต่ว่ามีจำนวนมาก)

ด้านวิเทศสัมพันธ์ ไปมาครบ 6 ทวีป 47 ประเทศ ประเทศที่ไปบ่อยจนจำครั้งไม่ได้คือ สปป.ลาว มาเลเซีย สิงคโปร์ เขมร ฮ่องกง และญี่ปุ่น ส่วนที่ไปถึง 27 ครั้ง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา

ด้านวรรณกรรม ได้เรียบเรียงและจัดพิมพ์หนังสือเรียน หนังสือธรรม หนังสือท่องเที่ยวอิงธรรมะ และหนังสือสำหรับวัยรุ่น สำหรับผู้เฒ่า รวมกันแล้วมีประมาณ 37 เล่มต่อหัวเรื่อง

ด้านสาธารณะสงเคราะห์ มี 28 โครงการต่อรายการ

ท่านเป็นทั้งนักบริหารและครู เคยเป็นรองเลขาธิการ เลขาธิการ และเป็นอุปนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) ตั้งแต่พ.ศ. 2492 ถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2551) เป็นผู้บรรยายพระสูตรแก่นิสิตนักศึกษาตลอดเวลา แม้จะอายุมากก็ไม่หยุด โดยท่านกล่าวว่า ยิ่งอายุมาก เวลาที่เหลือยิ่งน้อยลงทุกที จึงหยุดไม่ได้

สมเด็จพระญาณวโรดม พระมหาเถระนักปราชญ์ พระพรหมเมธี (สมชาย) กรรมการมหาเถรสมาคม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารวัดเทพศิรินทราวาส พร้อมคณะสงฆ์สรงน้ำศพ

เป็นสมเด็จแบบพิเศษ

ในด้านสมณศักดิ์นั้น ท่านได้รับการสถาปนาเป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระศรีวิสุทธิญาณ เมื่อพ.ศ. 2495 และได้รับเลื่อนเป็นชั้นราชที่พระราชสุมนต์มุนี พ.ศ. 2500 เลื่อนเป็นชั้นเทพที่พระเทพกวี พ.ศ. 2505 เลื่อนเป็นชั้นธรรมที่พระธรรมธัชมุนี เมื่อ พ.ศ. 2515 เลื่อนเป็นเจ้าคณะรองหิรัญบัฏที่พระญาณวโรดม เมื่อ พ.ศ. 2528 และได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระญาณวโรดมเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2546

ท่านเคยบอกผู้เขียนว่า ท่านเป็นเพียงพระเถระรูปเดียวที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะเป็นกรณีพิเศษ แม้กระทั่งมหาเถรสมาคม องค์กรบริหารสูงสุดของคณะสงฆ์ก็ไม่ทราบ จนกระทั่งอีก 3 วัน จะเข้ารับพระราชทานสุพรรณบัฏ และพัดยศ (5 ธ.ค.) จึงทราบกัน

อธิบายเรื่องยากให้ง่าย

ความที่ท่านเป็นนักปราชญ์ นักคิด นักวิเคราะห์ และนักประพันธ์ ท่านสามารถให้คำตอบบางเรื่องบางอย่างที่ผู้คนมักสับสน เช่นคำว่า จิต วิญญาณ มโน มนัส นั้น ท่านอธิบายง่ายๆ ก็เข้าใจ เช่น พระธรรมเทศนาเรื่องจิตตคุตตกถา ท่านอธิบายคำว่า จิตวิญญาณ และมโน ว่า คำนั้นเป็นภาษาบาลี ในภาษาไทยได้แก่ ใจ ที่ทำหน้าที่คิด เมื่อทำหน้าที่เก็บสะสมเรียกว่า จิต เมื่อทำหน้าที่รู้เรียกว่า วิญญาณ แต่ในภาษาไทย (เรียก) คือใจอย่างเดียว

ธรรมดาว่าจิตนั้นเป็นสิ่งที่รักษายาก ควบคุมยาก ต้องใช้เครื่องกั้นสกัดคือ สติ ที่เข้มแข็งเท่านั้นจึงห้ามได้

อธิบายอนัตตา

ในเรื่องเดียวกัน ท่านได้อธิบายเรื่องอนัตตาว่า เป็นเรื่องสำคัญมาก หากคิดเกินขอบเขตจะกลายเป็นมิจฉาทิฐิ คือไม่มีอะไรเลย ล้วนแต่เป็นสมมติทั้งนั้น ทำให้ปฏิเสธสมมติสัจจะสิ้นเชิง รับแต่ปรมัตถสัจจะอย่างเดียว ท่านว่า (เมื่อ) อยู่ในโลก ต้องรับทั้งสมมติสัจจะ และปรมัตถสัจจะ มิฉะนั้นจะพูดกันไม่รู้เรื่อง ต้องรู้ (แยก) ว่านี่เป็นสมมติสัจจะ และนี่เป็นปรมัตถสัจจะ

ท่านจึงบอกขอบเขตอนัตตาว่ามี 4 อย่าง

1.อนัสสวา ไม่อยู่ในอำนาจ 2.อสามิกา หาเจ้าของผู้สั่งมิได้ 3.สุญญตา ว่างเปล่าจากอัตตา หาคำว่าอัตตาไม่พบ และ 4.ปฏิปักข คือเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับอัตตาและเป็นไปเพื่อความเจ็บไข้

ที่ยกมานี้เป็นเพียงตัวอย่างที่น้อยนิดจากแง่คิด คำเตือนและคำสอนที่มากมาย

ดังนั้น การมรณภาพของสมเด็จพระญาณวโรดม พระมหาเถระผู้รัตตัญญู นักคิด นักปราชญ์และนักเผยแพร่ จึงเป็นการสูญเสียมิใช่เฉพาะคณะสงฆ์ธรรมยุตเท่านั้น หากแต่เป็นการสูญเสียพระมหาเถรของคณะสงฆ์ไทย และประชาชนชาวพุทธทั้งมวลด้วย